สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดการประชุมชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 และแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรม NRCT Open House 2021 “วิจัยและนวัตกรรมในประเด็นท้าทายของประเทศ” ระหว่างวันที่ 18 – 25 กรกฎาคม 2564 ในรูปแบบออนไลน์ผ่านวีดีทัศน์ทางไกล (VDO Conference) ด้วยระบบ Zoom และการถ่ายทอดสด (Live Steaming) ผ่าน Facebook NRCT เป็นวันที่ 5 เพื่อชี้แจงกรอบการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2565 ด้านการรองรับสังคมสูงวัยของ วช. และแนวทางการเขียนและพิจารณาข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งแถลงผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมและเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนข้อเสนอการวิจัยและนวัตกรรมและการยื่นขอทุน วช. โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุมออนไลน์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในปัจจุบันสังคมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากรครั้งสำคัญ คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในปี 2564 ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงวัยถึง 20% จากข้อมูลดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาทั้งด้านผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต จากการเปลี่ยนแปลงของโลกและนัยยะสำคัญเชิงนโยบาย ซึ่งมองทั้งในกรอบเชิงนโยบายและปัจจัยการเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้ว่าความหลากหลายของขั้นชีวิตและสังคมสูงวัย มีความสำคัญอย่างมากในการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งฐานความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะหนุนเสริมเพื่อเตรียมความพร้อม และนำพาการเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งการพัฒนาทักษะเพื่อความอยู่รอด แนวทางในการดูแลผู้สูงอายุ โดยเป้าหมายการวิจัยและนวัตกรรม มุ่งเน้นการใช้ความรู้ จากการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาคนในทุกช่วงวัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตด้วยตนเองได้อย่างมีคุณค่า และสร้างกลไกที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พร้อมรับสังคมสูงวัย โดยในปีงบประมาณ 2565 มีการสนับสนุนใน 5 แผนงานหลัก ทั้งในด้านโอกาสและผลกระทบ การอยู่ร่วมกันของคนทุกช่วงวัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยในการดำรงชีวิต สังคมสูงวัยภายใต้วิถีใหม่ และนวัตกรรม Smart Community ทั้งนี้ วช. มุ่งเน้นการขับเคลื่อนชุดข้อมูลจากการวิจัย มาตรการ เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่ได้อย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนผลวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
โดยกิจกรรมภายในงาน มีการเสวนาเรื่อง “การวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย” ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์, นางสาวศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์, ศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา และ ผศ.พญ.นลินี โกวิทวนาวงษ์ นอกจากนี้ ยังมีการแถลง “ผลสำเร็จจากการวิจัยและนวัตกรรมด้านการรองรับสังคมสูงวัย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการวิจัยของนักวิจัย จำนวน 5 ท่าน ประกอบด้วย รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ นางพรทิพย์ วชิรดิลก ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ รศ.ดร.สุดเขตต์ พจน์ประไพ และ ศ.นพ.เถลิงศักดิ์ กาญจนบุษย์ ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการโครงการ และแนวทางในการพัฒนางานวิจัย เพื่อรองรับสังคมสูงวัย