“เงินเฟ้อสูง-เงินบาทอ่อน” เร่งป้องกันความเสี่ยง
เมื่อวาน ธนาคารกลางยุโรป ขึ้นตอกเบี้ยเงินฝาก 0.5% สูงกว่าที่คาดว่าจะขึ้น 0.25% เป็นการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 11 ปี ทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากจาก -0.5% มาหลายปี มาอยู่ที่ 0% เพื่อรองรับอัตราเงินเฟ้อของ 19 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรสูงขึ้นเท่ากับ 8.6% ซึ่งบางประเทศในกลุ่มนี้ อัตราเงินเฟ้อเกิน 10% ไปแล้ว
ชัดเจนว่าธนาคารกลางยุโรป ปรับดอกเบี้ยไปในทิศทางเดียวกันกับธนาคารกลางอังกฤษ และ เฟดของอเมริกา ที่ขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อมาหลายรอบตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
สองวันก่อน ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนของอังกฤษออกมาที่ 9.4% สูงสุดในรอบ 40 ปีคาดว่า ถึงปลายปีนี้ จะสูงขึ้นอีก ไปแตะ 11% และจะค่อยๆลดลงในปีหน้า ตั้งแต่ ธันวาคม ปีที่แล้ว ธนาคารกลางอังกฤษได้ขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 5 รอบ จนปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% และคาดว่าในการประชุมเดือนสิงหาคม น่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.5%
ฟากสหรัฐอเมริกา อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน ออกมาสูงถึง 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี เช่นกัน เฟด จะประชุมวันที่ 27 กรกฎาคม คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75%
จะเห็นว่า สาเหตุสำคัญของปัญหาเงินเฟ้อพุ่งทะยานในเศรษฐกิจโลก ไม่ได้มาจากแค่ราคาน้ำมัน แต่ส่วนหนึ่งมาจากปริมาณเงินที่เพิ่มเข้าไปในระบบจำนวนมาก ด้วยการพิมพ์เงินของธนาคารกลาง ผนวกกับการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำอย่างผิดปกติมายาวนาน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเดียว โดยไม่ได้มีมาตรการดูดซับสภาพคล่องออกจากระบบ จึงทำให้ระยะเวลาในการแก้ปัญหานานกว่าที่คาด แต่หากดูดศับสภาพคล่องออกจากระบบ ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อัตราเงินเฟ้อของไทย เดือนมิถุนายน เท่ากับ 7.66% พุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี วันที่ 10 สิงหาคม กนง คงขึ้นดอกเบี้ยแน่ ไทยเราไม่เคยมีการพิมพ์เงินเข้าระบบ จึงไม่ได้น่ากังวลเท่ายุโรปและอเมริกา แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ผ่านมาก็อยู่ในระดับที่ต่ำมากผิดปกติ เพราะดอกเบี้ยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการพยุงและกระตุ้นเศรษฐกิจมานาน อีกทั้งเงินบาทใกล้แตะ 37 บาท อ่อนค่าที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี!
ถ้า กนง จะขึ้นดอกเบี้ยเดือนหน้า จึงเป็นเรื่องที่มีเหตุมีผลรองรับ เพราะเป็นไปโดยกลไก เพื่อสกัดเงินเฟ้อและดูและเสถียรภาพค่าเงินบาท และจะได้ออกจากภาวะดอกเบี้ยต่ำผิดปกติ เพียงแต่ขอให้เป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยไป ให้ทุกคนมีเวลาปรับตัว ให้เศรษฐกิจยังโตได้
เมื่อรู้ว่าดอกเบี้ยจะขึ้น ประเมินต้นทุนของทางการเงินที่จะเพิ่มขึ้น แล้ววางแผนป้องกันความเสี่ยง ถ้ามีหนี้ดอกเบี้ยลอยตัวอยู่ ลองหาช่องทางรีไฟแนนซ์ แต่ที่เป็นห่วงมาก คือ ลูกหนี้นอกระบบ ที่เจ้าหนี้อาจฉวยโอกาสเพิ่มดอกเบี้ยมากเกิน มีหลายหน่วยงานช่วยให้คำปรึกษาได้ มีเบอร์โทร ปรึกษา หาทางออก ผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันค่ะ
* สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) สำนักงานอัยการสูงสุด สายด่วน 1157
* ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โทร. 1359
* ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ กระทรวงมหาดไทย โทร. 1567
* ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม โทร. 0 2575 3344
อาจารย์แหม่ม
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
22 กรกฎาคม 2565