“ศิริกัญญา” จวก “รัฐบาล”งบฯจ่ายประจำปี 2567 ไม่ “สะท้อน” แนวทางแก้ไขปัญหา “วิกฤต” ของประเทศ

“ศิริกัญญา” จวก “รัฐบาล”งบฯจ่ายประจำปี 2567 ไม่ “สะท้อน” แนวทางแก้ไขปัญหา “วิกฤต” ของประเทศ

วันที่ 5 ม.ค. 2567 ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวสรุปการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ไม่ได้สะท้อนถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศที่กำลังเผชิญกับวิกฤตต่างๆ

อาทิ วิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม วิกฤตฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก วิกฤตด้านการศึกษา วิกฤตเด็กเกิดน้อย และวิกฤตสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งงบประมาณของปี 2567 ที่ตั้งไว้ไม่ได้สัดส่วนและสมดุลกัน ตลอดจนไม่สามารถสะท้อนหรือแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด และยังพบงบประมาณที่ไม่ตรงกับแผนที่จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดังนั้น จึงมองว่ารัฐบาลมีการตั้งงบประมาณที่ผิดพลาดหรือไม่ เนื่องจากมีการจัดงบประมาณบำเหน็จบำนาญที่อาจไม่เพียงพอกับการจ่ายในปี 2567 รวมถึงเงินเดือนข้าราชการที่ยังไม่ได้ตั้งเผื่อไว้ ทั้งๆ ที่มีนโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร และจะต้องใช้งบกลางหรือไม่ หรือต้องนำเงินจากกองคลังออกมาใช้ก่อนซึ่งก็ยังคงไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน

ส่วนเรื่องของประมาณการรายได้ที่สูงเกินจริงที่รัฐบาลใช้นโยบายทางด้านภาษี ซึ่งมีภาษี 4 รายการ ที่หายไป ทั้งภาษีขายหุ้นที่ไม่เก็บแล้ว การลดหย่อนกองทุน TESG ที่ต้องเสียภาษีหายไปอีก 10,000 ล้านบาท รายได้ที่จะต้องนำส่ง กฟผ.ที่จะหายไป และการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและเบนซินที่จะทำให้เงินหายไปอีกด้วย เป็นปัญหาที่ประมาณการรายได้ที่ลดลง รัฐบาลจะหาเงินจากที่ไหนมาชดเชย รัฐบาลกลับอธิบายเพียงเรื่องของภาษีสรรพสามิตน้ำมัน โดยชี้แจงว่า ที่ผ่านมาลดไปประมาณ 1 – 2 หมื่นล้านบาท ระหว่างระยะเวลาที่ดำเนินมาตรการนี้มาได้ 2 เดือน แต่ในความเป็นจริงขอคาดการณ์เต็มปีว่า รัฐบาลจะดำเนินมาตรการนี้อย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นสุดปีงบประมาณ 2567 ดังนั้น หมายความว่ารัฐบาลกำลังจะไม่ต่อมาตรการการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและเบนซินใช่หรือไม่

สำหรับหนี้ตามมาตรา 28 ตนพยายามที่จะชี้ให้เห็นว่า มีหนี้ที่ซุกซ่อนอยู่ในแผนงานต่างๆ ที่เป็นหนี้ตามมาตรา 28 ที่ให้ ธกส. ออกเงินดำเนินนโยบายไปก่อน โดยยกตัวอย่างของโครงการจำนำข้าว กลับกลายเป็นว่าถูกบิดเบือนไปเป็นว่าตนไม่เห็นด้วยกับโครงการจำนำข้าว วิธีการเหล่านี้ทำให้สุดท้ายแล้ว คำถามที่สำคัญไม่ได้ถูกพูดถึงและไม่ได้รับคำตอบที่เหมาะสม โดยขอยืนยันว่า หนี้ตามมาตรา 28 แม้จะไม่ได้นับรวมกับหนี้สาธารณะแต่เป็นหนี้ที่ประชาชนจะต้องรับผิดชอบผ่านการจ่ายภาษี ดังนั้น ขอให้รัฐบาลยอมรับแล้วเปิดเผยข้อมูลว่าปัจจุบันหนี้ดังกล่าวมีอยู่เท่าไร และยังต้องจ่ายไปอีกกี่ปี ซึ่งงบประมาณที่ตั้งใช้หนี้ มีการปรับลดลงเพื่อนำไปใช้ในโครงการอื่นๆ ด้วย รัฐบาลจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร

สำหรับวิกฤตด้านความมั่นคง ในสัดส่วนงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ที่ตนได้เปิดประเด็นนี้ว่าเหตุใดประเทศมีวิกฤตแล้วงบของกลาโหมยังไม่ลดลง ซึ่งในวิกฤตต้มยำกุ้ง งบกลาโหมลดลงร้อยละ 20 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ลดลงประมาณร้อยละ 10 แต่ว่าปีนี้งบกลาโหมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ชี้แจงว่าเทียบโดยสัดส่วนของทั้งหมดแล้วลดลง โดยแท้จริงแล้วก็ยังมากกว่าในทุกวิกฤตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวิธีการทางคณิตศาสตร์ที่ รมว.กลาโหมนำมาอ้างในเรื่องนี้ แต่รมว.กลาโหม ยอมรับโดยตรงว่าไม่ได้ตั้งใจให้มันลดลงมากขนาดนี้ เนื่องจากของบไปมากกว่านี้แต่สำนักงบประมาณจัดมาให้เพียงเท่านี้ คำตอบดังกล่าว เป็นคำตอบของเรื่องดาวน์น้อยผ่อนนาน ซึ่ง รมว.กลาโหมชี้แจงว่า ไม่ได้ต้องการดาวน์น้อย แต่ต้องการดาวน์มากกว่านี้ขึ้นไปถึงร้อยละ 20 แต่ว่าเป็นสำนักงบประมาณตัดงบไปก่อน ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี มิเช่นนั้นจะมีงบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่สูงกว่านี้

สำหรับแผนการลดจำนวนกำลังพล เป็นแผนปี 2560 ถึง 2570 ปีนี้เข้างบประมาณปีที่ 7 จึงคาดหวังว่าจะเริ่มเห็นการลดลงของงบบุคลากรกองทัพ มิใช่เพิ่มขึ้นแบบนี้ ทั้งนี้ รมว.กลาโหม ยอมรับว่าจะมีโครงการเกษียณอายุก่อนราชการสำหรับข้าราชการกลาโหม ตนจะคอยติดตามในงบประมาณ ปี 68 ว่าจะมีการตั้งงบเพื่อชดเชยค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ และงบบุคลากรที่น่าจะเพิ่มขึ้นในปี 68 และในเรื่องเรือดำน้ำ รมว.กลาโหมยอมรับความพ่ายแพ้ โดยกล่าวว่า ประเทศไทยเองก็ผิดสัญญาเรือดำน้ำ แท้จริงแล้วประเทศไทยไม่เคยผิดสัญญาเรือดำน้ำเลยแม้แต่ครั้งเดียว ในช่วงโควิด-19 ที่ไม่ได้จ่ายเงินค่าเรือดำน้ำให้กับประเทศจีน เพราะว่าจีนนั้นไม่สามารถต่อเรือได้เสร็จตามกำหนดงวดงาน ประเทศไทยจึงไม่ได้จ่ายเงินตามงวดงานด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้น ถือว่าไม่เป็นการผิดสัญญา เนื่องจากในสัญญาระบุว่าควรจะต้องมีการเจรจาฉันมิตรในกรณีที่มีการผิดสัญญา แต่ว่ากลาโหมถอยมากกว่าเจรจาฉันมิตร ในสัญญายังระบุเรื่องของค่าปรับในการส่งมอบล่าช้าด้วย ซึ่งปัจจุบันส่งมอบล่าช้าไปแล้ว 94 วัน จึงต้องตั้งถามว่ากลาโหมจะทำอย่างไรต่อกับเรื่องเรือดำน้ำ

นอกจากนี้ วิกฤตสิ่งแวดล้อม ซึ่งฝุ่น PM 2.5 เริ่มเป็นปัญหารุนแรง นายกรัฐมนตรีได้ฟังการอภิปรายของนายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ สส.พรรคก้าวไกล ที่บรรยายถึงการวางแผนงบประมาณด้วยตึกห้าชั้น ว่าจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมงบประมาณไว้อย่างไรบ้าง แต่นายกรัฐมนตรียอมรับว่าไม่ได้มีแผนที่อยู่ในงบของปี 67 อย่างชัดเจน และจะใช้งบกลางในการดำเนินนโยบาย ทั้งที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้เพิ่งเริ่มเกิดขึ้น ทุกคนพูดมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่กลับต้องอยู่ในการบริหารราชการแบบที่ไม่สนใจเรื่องฝุ่น PM 2.5 มีเรื่องที่น่าสนใจเพียงแค่เรื่องเดียวคือการสัญญาว่าจะมีการเอาผิดกับผู้ที่มีส่วนร่วมในการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มาจากการเผา ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นข่าวดีที่สุดที่รับฟังของเมื่อวานนี้

ท้ายนี้ ในโครงการแลนด์บริดจ์ มีการตั้งงบประมาณไว้สองส่วนในงบปี 67 คือจ่ายงวดงานสุดท้ายของรายงานศึกษาความเป็นไปได้มูลค่า 68 ล้านบาท และตั้งงบประมาณใหม่สำหรับการทำเอกสารเพื่อไปเชิญชวนนักลงทุนอีกประมาณ 45 ล้านบาท โดยสิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้พูดถึงโครงการแลนด์บริดจ์มีข้อผิดพลาดในเรื่องของความเป็นจริง ดังนั้น ตนจึงขอให้มีการปรับเปลี่ยนแผนและมีการทำประเมินผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการอภิปรายที่นายกรัฐมนตรีได้มีการกล่าวอ้างว่าช่องแคบมะละกามีความแออัดนั้น ตนได้สอบถามเรื่องดังกล่าวกับภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสายเดินเรือ หรือชิปเปอร์มาแล้วพบว่าช่องแคบมะละกาไม่ได้มีความแออัดมากขนาดนั้น จนส่งผลกระทบต่อเส้นทางเรือ ดังนั้น จึงขอให้รัฐบาลทบทวนความคุ้มค่าของโครงการดังกล่าวด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

วิริยะประกันภัย ร่วมกับ คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย รณรงค์ความปลอดภัยทางถนน เทศกาลปีใหม่ ประจำปี 2567  

วิริยะประกันภัย ร่วมกับ คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกั […]

You May Like

Subscribe US Now