DPU จัดเสวนา “49 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีนและทิศทางในอนาคต” ก้าวสู่ความรุ่งโรจน์ไปพร้อมกับครอบครัว
“นายกร ทัพพะรังสี” อดีตรองนายกรัฐมนตรีและนายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ร่วมกับ “ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดเสวนา “49 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีนและทิศทางในอนาคต” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจถึงมิตรภาพไทย-จีน ที่มีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจมิตรภาพของไทย-จีน และนำไปต่อยอดเป็นองค์ความรู้ในการทำงานและการประกอบธุรกิจในมิติที่เกี่ยวข้องไทย-จีน ในอนาคต ณ ห้องประชุม ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)
โดยภายในงาน “นายกร ทัพพะรังสี” อดีตรองนายกรัฐมนตรีและนายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน กล่าวประเด็นถึง เหตุผลและโอกาสที่จะสนับสนุนให้ประชาชนคนไทยสามารถก้าวเติบโต และเอาชนะความยากจนได้ในอนาคตเหมือนกับประเทศจีน ซึ่งประเทศจีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกคือ 1,400 ล้านคน โดยประเทศไทย เป็นประเทศที่มี “สายสัมพันธ์” ใกล้ชิดกับประเทศจีนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งมีหลักฐานพิสูจน์ยืนยันประการแรกคือเรื่องของชาติพันธุ์ ที่เริ่มตั้งแต่เมื่อนับพันๆปี มาแล้ว ณ เมืองสิบสองปันนา (มณฑลยูนนานในปัจจุบัน) อันเป็นดินแดนบรรพบุรุษคนไทยดั่งเดิม ก่อนที่ผู้คนจะอพยพลงมาทางใต้ผ่านลุ่มแม่น้ำโขงและข้ามฝั่งจากประเทศลาว เพื่อตั้งรกรากที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะเสมือนญาติมิตรหนึ่งเดียวที่ประเทศจีนให้การยอมรับว่าและเรียกว่า “ครอบครัว” ตามคำกล่าวที่ว่า จง ไท่ อี้ เจีย ชิน จีน-ไทย ครอบครัวเดียวกัน
“สิ่งที่พิสูจน์อัตลักษณ์ยืนยันความเป็นมนุษย์และความเป็นชนชาติเดียวกันของคนชาติพันธ์แนบนี้มีทั้งหมด 3ข้อ ได้แก่ 1.เรียกชุมชนตัวเองนำหน้าด้วยคำว่า ‘ไท‘ และ 2.นับถือพุทธศาสนา 3.ฉลองวันปีใหม่ 13 เมษายน และสาดน้ำกันเหมือนที่ประเทศไทยในทุกวันนี้ทำกัน”
“นอกจากนี้สิ่งที่พิเศษซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างมากที่ค้นพบด้วยตัวเองคือ กลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าไทไม่ว่าจะทั้งที่อพยพไปอยู่ที่รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย หรือเมืองสิบสองปันนา มณฑลยูนนานและที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เขาสามารถสื่อสารใช้ภาษาพูดคุยกันอย่างรู้เรื่องระหว่างพวกเขากันเอง และใช้หลักการนับตัวเลข 1-10 อย่างที่เราใช้ในปัจจุบันอีกด้วย”
นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน เล่าประสบการณ์ต่อในประการที่สองที่ช่วย ‘ยกระดับความสัมพันธ์‘ ของทั้ง 2 ประเทศที่แน่นแฟ้นอย่างแท้จริง เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2518 หรือค.ศ. 1971 ขณะนั้นประเทศจีนกำลังเปิดประเทศและสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหประชาชาติ หลายประเทศให้ความสนใจเป็นอย่างมากอยากที่จะเข้ามาทำความรู้จักและผูกมิตรเป็นเพื่อน เนื่องจากประเทศจีนนั้นเพียบพร้อมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ อาทิ น้ำมัน สินแร่ และ การเกษตร นอกจากนี้ยังมีประชากรเป็นจำนวนมาก ตอนนั้น ท่านพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็จัดต้องจัดประชุมกัน ก่อนจะเดินทางไปขอเข้าพบนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล เวลานั้นผมในฐานะเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้มีโอกาสเข้าพบด้วย คำตอบคือคำกล่าวคำแรกที่ท่านโจว เอินไหล พูดด้วยตัวเองเลยว่า ยินดีต้อนรับลูกชายของสหายเก่า (เหล่าเผิงโหย่ว) ซึ่งสหายเก่าก็คือเพื่อนของท่าน หรือ จอมพลผิน ชุณหะวัณ บิดาของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ตอนนั้นทำไมประเทศจีนถึงให้ความสำคัญให้ผู้นำไทยเข้าพบโดยไม่มีเงื่อนไขต้องปิดสถานทูตอีกประเทศ แต่ไม่มีใครตอบได้”
นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน เผยต่อไปว่า ‘วัฒนธรรมของคนจีน‘ ที่สืบทอดต่อกันมาและทำให้กฎเกณฑ์ต่างๆ จะถูกผ่อนปรนลง เพราะคนจีนให้ความสำคัญกับคำกับคำว่า ‘เพื่อนเก่า‘ มากที่สุด แม้ต่อให้คุณจะรวย 100 ล้าน หรือ 1,000 ล้าน จะมีตำแหน่งหรือมีอำนาจมากขนาดไหนก็ต้องรอข้างนอก แต่ถ้าคุณเป็นเพื่อนเก่าหรือลูกชายเพื่อนเก่าคุณสามารถจะเข้ามาได้ในทันที
“ครั้งที่ 2 ที่ผมได้ยินคำว่าเพื่อนเก่า ตอนที่ผมเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขช่วงปี 2541 ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกประกาศรับรองยาแผนโบราณของประเทศจีนอย่างเป็นทางการและถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีอยู่แพร่หลายและมากมายในประเทศตอนนั้น และทางประเทศจีนได้เชิญให้ไปร่วมลงนามตกลงร่วมกันกับรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทันทีที่หนังสือพิมพ์ลงข่าว ท่านจู หรงจี้ นายกรัฐมนตรีเชิญไปเข้าพบ โดยตามมารยาททางการทูต ผมซึ่งเป็นรองนายกฯ ไม่มีสิทธิขอเข้าพบ วันนั้นท่านให้ล่ามออกไปและสนทนาคุยกันเป็นภาษาอังกฤษ ผมจำได้แม่นไม่ลืมว่าท่านรู้ได้อย่างไรว่าผมเรียนที่มหาวิทยาลัยประเทศอเมริกา เมืองไหน จบปีอะไร ทำงานอะไรแบบละเอียดยิบ ท่านบอกว่า “คุณกรผมไม่มีธุระอะไรเลย ที่อยากจะพบก็มีเรื่องเดียว คุณ คือ เหล่าเผิงโหย่ว”
“ครั้งที่ 3 ช่วงปีค.ศ. 2019 ทางประเทศจีนได้ให้เกียรติเชิญไปร่วมฉลองครบรอบ 70 ปี ของพรรคคอมมิวนิสต์ในการบริหารประเทศ และให้ผมร่วมนั่งโต๊ะกับสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผมก็ถามทางท่านนายกรัฐมนตรีว่าผมไม่ได้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี ทำไม? ท่านจึงไม่เชิญคนในคณะรัฐมนตรีมาแทน ผมแค่ร่วมงานในฐานะนายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน เขาตอบว่าเพราะท่านสี จิ้นผิง สั่งเพราะคุณกรคือเพื่อนเก่า คุณกรคือคณะจากประเทศไทยชุดแรกที่เดินทางมาประเทศจีน” นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ย้ำให้เห็นภาพ
อย่างไรก็ตามไม่เพียงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลเท่านั้น แต่ทว่าความสัมพันธ์ในภาค ‘ประชาชนต่อประชาชน‘ เองนั้นก็ยังได้เกิดขึ้นและเดินคู่ขนานกันมาพร้อมกันด้วย โดยมีหลักฐานที่ปรากฏชัดไม่เพียงตัวเลขจำนวนอายุของสมาคมฯ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 49เท่านั้น หากแต่ยังมีตัวเลขของบุคลากรทางการศึกษา ที่เดินทางเข้ามาสอนภาษาจีนในประเทศไทยมากมายและกระจายอยู่ทั่ว 77 จังหวัด 650 อำเภอ และ70,000 หมู่บ้าน จำนวนปัจจุบันปีละกว่า 1,000 คน อีกด้วย จากภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ธุรกิจและการลงทุนร่วมกัน 2.การศึกษา 3.วัฒนธรรม 4.กีฬา ในภาคส่วนของประการที่สามนี้
“เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยิน ผมไม่เคยพบผู้นำประเทศคนไหนที่พูดถึงแบบท่านโจว เอินไหล ผมจำได้ไม่ลืมวันนั้นท่านบอกว่า เรามีสัมพันธภาพทางการทูตระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลแล้ว ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยากให้มีอีกช่องทางหนึ่งสำหรับประชาชนกับประชาชน เพราะประเทศเราให้ความสำคัญที่สุดคือประชาชน ประเทศนี้ไม่ใช่ของรัฐบาลหรือประธานาธิบดี ขนาดชื่อประเทศของเรายังนำหน้าด้วยคำว่าประชาชนเลย ดังนั้นท่านชาติชายกลับมาตั้งสมาคมมิตรภาพไทย-จีน ที่กรุงเทพฯ ทางเราจะตั้งสมาคมมิตรภาพจีน-ไทย ในกรุงปักกิ่ง ประเทศของข้าพเจ้ามีประชาชนเป็นตัวตั้ง ชีวิตของประชาชนเป็นนโยบายที่สำคัญที่สุด”
“เรื่องนี้ไม่ค่อยมีใครรู้ เหมือนที่จริงๆ แล้วประเทศจีนไม่ใช่ พ่อแบบ แม่แบบ ของระบอบการปกครองคอมมิวนิสต์ แต่เหตุผลที่ประเทศจีนสามารถนำคน 1,400 ล้านคน ให้พ้นจากความยากจนได้ก็เพราะปกครองในระบบดังกล่าวทำให้ประชาชนมีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญ จุดเปลี่ยนที่สำคัญโดยการนำของท่านเติ้งเสี่ยวผิง หลังเห็นว่าประชาชนมีระเบียบวินัยแล้วจะต้องให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น จึงเปิดประตูให้คนต่างชาติไปร่วมลงทุนได้ ให้ประชาชนสามารถแข่งขันกันได้โดยเสรีให้ประชาชนมีสิทธิเป็นเจ้าของธุรกิจให้ตัวเองได้ สามารถสั่งเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาทำธุรกิจได้ และสามารถแข่งขันกันได้โดยเสรี ขอเพียงจ่ายภาษีเมื่อมีกำไรในธุรกิจให้กับรัฐตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น นั้นคือคำตอบที่วันนี้ปี ค.ศ. 2024 ทุกคนหันไปมองประเทศจีนแล้วถามคำถามเดียวกันหมดว่าทำได้อย่างไร?”
“ผมยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาถ่ายทอดความรู้และดีใจแทนนักศึกษาทุกท่าน ดีใจที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ให้ความสำคัญกับหัวข้อนี้ เพราะว่าในวันเวลาที่นักศึกษาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เข้าสู่วัยทำงาน องค์ความรู้ตรงนี้จะมีคุณค่าสำคัญยิ่งสำหรับอนาคตในทุกอาชีพของพวกเราในประเทศไทยในอนาคต เมื่อ 4 เดือนที่แล้วผมได้มีโอกาสไปกล่าวสุนทรพจน์ ในวาระแห่งการครบรอบ 10 ปี “One Belt, One Road” หรือ “อี้ไต้ อี้ลู่” ผมบอกได้เลยว่า One Belt แปลว่า Belt of Peace แถบแห่งสันติภาพ ส่วน Road คือ Road to Prosperity ถนนสู่ความเจริญรุ่งเรือง ที่ท่านสี จิ้นผิง ประกาศว่าต้องมีสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองเกิดขึ้นทุกแห่งที่ประเทศจีนไปจับมือด้วย”
“นั้นคือนโยบายของเขาที่ออกมาแล้วเป็นรูปธรรม สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าทั่วโลก และไม่ขอเข้าไปมีบทบาทขัดแย้งต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงกับประเทศใดในโลกทั้งสิ้น ฉะนั้นจีนกับไทยเป็นครอบครัวเดียวกัน เราต้องรักษามิตรภาพและความสัมพันธ์ตรงนี้ไว้ให้ดีเพราะจะนำไปสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในอนาคตอย่างแน่นอน และคนไทยพึงจะรู้และควรจะดีใจด้วยว่าประเทศจีนไม่เคยมองชนชาติใดในโลกว่าเป็นครอบครัวเดียวกับเขา ยกเว้นไทยแลนด์” นายกสมาคมมิตรภาพไทย-จีน กล่าวทิ้งท้าย