CADT-DPU ผลิตบุคลากรด้านการบินด้วยหลัก “KSA” รองรับการพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินการขนส่งทางอากาศ (Aviation Hub) ของภูมิภาค
วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เผยแผนการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน ทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับบุคลากรอุตสาหกรรมการบินขาดแคลน สอดคล้องต่อแผนหลักตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงแผนพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน การขนส่ง (Aviation Hub) ของภูมิภาคเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 เพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมาเต็มรูปแบบในช่วงสิ้นปี 2567
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.ต.ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) จึงยึดพัฒนาคนตามหลักความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) และทัศนคติ (Attitude) หรือ KSA โดยได้รับการรับรองจากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)
โดยอุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวเทียบเท่าปีช่วงที่ก่อนเกิดโควิด-19 เร็วๆ นี้ โดยคาดการณ์ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี 2568 จะเดินทางมายังประเทศไทยอาจจะมากกว่าหรือเทียบเท่ากับในปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 165 ล้านคน ซึ่งล่าสุดภาครัฐใช้นโยบายฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวจีน นอกจากนี้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ดำเนินโครงการเร่งเครื่องศึกษาสร้างสนามบินใหม่ 2 แห่ง คือ สนามบินล้านนา และสนามบินอันดามัน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ไทยได้ดำเนินการขยายสนามบิน ทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมือง เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้โดยสาร และจัดทำโครงการเปิดให้บริการอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) รวมไปถึงยังได้ดำเนินการแผนเข้าบริหารจัดการสนามบินเพิ่ม จากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) อีก 3 แห่ง รวมเป็น 9 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี, บุรีรัมย์, กระบี่ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการบุคลากรพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
“การบินก็เหมือนกับบริษัทๆ หนึ่ง ไม่ใช่ต้องการแค่คนที่เรียนจบตรงทางด้านการบิน แต่ต้องการครอบคลุมไปจนถึงสาขาวิชาอื่นๆ ในการสนับสนุนการทำงาน ซึ่งสถานการณ์วันนี้เมื่อวันนั้นมาถึงไม่ใช่เพียงเฉพาะนักบินเท่านั้นที่จะขาดแคลน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ เจ้าหน้าที่บริการภาคพื้น รวมครอบคลุมไปถึง เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยด้านการบิน
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวเสริมว่า ณ เวลานี้ที่ได้รับการประสานมาจากบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมการบินต้องการคนที่จะไปทำงานเป็นจำนวนมาก ทางวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT-DPU) จึงได้จัดทำแผนการพัฒนาบุคลากรด้านการบิน เพื่อรองรับบุคลากรอุตสาหกรรมการบินขาดแคลนอย่างทันท่วงที จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับมาเต็มรูปแบบในช่วงสิ้นปี 2568 ในรูปแบบ “การฝึกอบรมระยะสั้น” สำหรับหลักสูตรฝึกอบรมด้านการบินสำหรับบุคคลทั่วไปตามมาตรฐาน องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) ซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกอบรมมาตรฐานสากลระยะสั้นด้านการบินต่างๆ ที่ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรจาก IATA ได้แก่ 1.IATA Course ประกอบด้วย Aviation Security Awareness, Human Factors and Safety Management Fundamentals, Aviation Safety Fundamentals, Aviation Security Awareness – In-Flight Crew
2.DAA Course ได้แก่ Aviation Security Internal Auditor Initial Training, Train the Trainer for Aviation Personnel, Human Factors and CRM, The Fundamentals of the Aviation Industry Personnel, เทคนิคการทำวิจัย ในอุตสาหกรรมการบิน, One Day Pilot, Cabin Crew born to be, Self-development and Emotional Intelligence, Leadership and Management Skills, Effective Communication Skills and Team Work
และ 3.IATA, Online course คือ Aviation Law: Fundamentals, SMS Fundamentals, SMS for Ground Operations, Overview of the Air Transportation System, Airline Customer Service Fundamentals
ขณะที่ทางด้าน “หลักสูตรระยะยาว” ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต มีทั้งหมดด้วยกัน 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาธุรกิจการบิน และสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีการบินและการอำนวยการบิน โดยผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับปริญญา ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ) ซึ่งที่ผ่านมาจากการที่วิทยาลัยฯ ได้พัฒนาความร่วมมือกับองค์กร อาทิ บริษัท ไทยไฟลท์ เทรนนิ่ง จำกัด, บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด, บริษัทในเครือของการบินไทย บริษัท, พัทยา เอวิเอชั่น จำกัด และ โรงเรียนการบิน ไทยอินเตอร์ ไฟลอิ้ง ที่จ.พิษณุโลก กับ โรงเรียนการบินบางกอก แอร์ เอวิเอชั่น เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ ที่ จ.สุโขทัย และสายการบินนกแอร์ สำหรับการพัฒนาทักษะด้านการบินให้แก่บุคลากร
รวมไปถึงการเปิดรับนักศึกษาของวิทยาลัยฯ เข้าร่วมปฏิบัติงานสหกิจศึกษา (Cooperative and Work-Integrated Education : CWIE) เพื่อพัฒนาทักษะการทำงาน และปูทางสู่เส้นทางอาชีพหลังจบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจะส่งผลดีอย่างมากทั้งต่อวิทยาลัยฯ นักศึกษา ที่ได้พื้นที่การเรียนรู้ในโลกของการทำงานจริง ขณะที่หน่วยงานเอกชนสามารถมองหาบุคลากรคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพเข้าร่วมงาน ซึ่งที่ผ่านมามีนักศึกษาหลายคนที่ไปปฏิบัติงานสหกิจศึกษาแล้วได้ทำงานจริงเมื่อเรียนจบ
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวว่า วิทยาลัยฯ มุ่งเน้นเสริมสร้างการพัฒนาสมรรถนะหรือศักยภาพ ของคนที่เข้ามาทำงานด้านการบินอยู่ 3 เรื่องหลักในการฝึกอบรมพัฒนาคนให้เป็นไปตามมาตรฐาน ได้แก่ ความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) และทัศนคติ (Attitude) โดยจะขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปไม่ได้
“อันดับแรกเรื่องของความรู้ กรณีที่มีความรู้ยังไม่พอเพียงหรือมีความรู้ทางด้านแขนงอื่นมา เราก็ใส่ความรู้เข้าไปโดยเน้นในเรื่องของความรู้ในสาขาวิชาชีพนั้นๆ เช่น อยากเป็นนักบิน เราก็จะเติมความรู้การบินเข้าไป อยากเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ คณาจารย์ก็จะปูพื้นฐานความรู้ด้านการจัดการจราจรทางอากาศให้กับผู้เรียน”
“ต่อมาอันดับที่สองเรื่องของทักษะ ไม่ว่าจะ Upskill และ Reskill เพราะมีความรู้อย่างเดียวไม่พอ ในส่วนนี้เราจะเสริมทักษะและประสบการณ์ในการทำงานให้บุคลากรเหล่านั้น เพื่อให้เกิดทักษะตรงกับงานที่รับผิดชอบ เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด หากผู้เรียนทดสอบผ่านเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้รับประกาศนียบัตร เช่น จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) หรือ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (TPQI)”
“อันดับที่สามสุดท้ายคือเรื่องของทัศนคติ คนที่จะทำงานด้านการบินต้องมีใจรัก เนื่องจากการทำงานส่วนใหญ่จะเป็นในรูปแบบของการเข้ากะ และเวลาไม่แน่นอน ฉะนั้นต้องใจรักจริงๆ ในการทำงานเพื่อให้ทำงานอย่างมีความรับผิดชอบ มีความตั้งใจในการทำงานและพร้อมที่จะทำงานเป็นทีม” “จะขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.ต.ดร.วัฒนา กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ อย่างไรก็ตาม CADT-DPU ยังมีอุปกรณ์การฝึกอบรมที่ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมกับด้วยคณาจารย์ที่มีประสบการณ์ตรง เป็นตัวจริงในสายงานด้านอุตสาหกรรมการบินโดยทำการสอนในทุกวิชาทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เครื่องบินแบบ A300-600 ห้องปฏิบัติการสำรองที่นั่งด้วยระบบ Amadeus ห้องฝึกปฏิบัติการ Aero dome Simulator และห้องฝึกปฏิบัติการ Flight Simulators เครื่องช่วยฝึกบินจำลอง จำนวน 3 เครื่อง ได้แก่ Boeing 737-800NG จำนวน 1 เครื่อง และแบบ Cessna 172-G1000 จำนวน 2 เครื่อง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ น.ต.ดร.วัฒนา บอกอีกว่า สำหรับใครที่สนใจศึกษาด้านการบินทางวิทยาลัยฯ ยังได้จัดเตรียมความพร้อมในเรื่องของทุนการศึกษาและกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สำหรับช่วยเหลือผู้ปกครองให้เพียงพอต่อความต้องการ ขอแค่มีใจรักและอยากที่จะพัฒนาตัวเอง องค์กรและประเทศชาติ อุตสาหกรรมทางด้านการบินพร้อมเปิดรับและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า โดยสามารถติดต่อได้ที่ https://cadt.dpu.ac.th/
“ความรู้สึกของคนทั่วไปอาจจะมองว่าแพง แต่ความจริงการเรียนทางด้านการบินนั้นไม่แพงอย่างที่คิด อย่างหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี ทั้งหมด 3 แสนบาทนิดๆ ซึ่งแทบทั้งหมดภาครัฐได้ให้การสนับสนุนทางด้านการกู้ยืมในการศึกษา จะมีส่วนต่างที่ต้องจ่ายเล็กน้อย นอกจากนี้ทางวิทยาลัยฯ ยังมีทุนการศึกษาและส่วนลดต่างๆ ส่วนหลักสูตรอบรมในปัจจุบันนี้ก็มีรูปแบบวิธีที่หลากหลาย ทั้งหลักสูตรเรียน Online และอบรมในชั้นเรียนให้ผู้สนใจเลือกเรียนได้ตามความตั้งใจอีกด้วย”
คณบดี CADT-DPU เสริมทิ้งท้ายอีกว่า วิทยาลัยฯ มีความตั้งใจที่จะสร้างบุคลากรทางด้านการบินที่คุณภาพ เสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยเติบโต และสามารถรองรับความต้องการเดินทางทางอากาศจำนวนหลายแสนเที่ยวบินในอนาคต และยังเป็นศูนย์กลางผลิตบุคลากรด้านการบินในไทยและอาเซียนในอนาคต
“เราเชื่อพร้อมกับหวังว่าการมีบุคลากรทางด้านการบินที่มีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่ดี จะสามารถรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวที่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม และยังเป็นการส่งเสริมพร้อมกับสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการบินไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล เพื่อพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน และการขนส่งทางอากาศ (Aviation Hub) ตามนโยบายของรัฐบาล จึงขอเชิญชวนน้องๆ ที่สนใจด้านการบินสมัครเข้าศึกษาทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาวที่วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กันมากๆ”
#วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน #CADT #มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ #DPU #การพัฒนาบุคลากรด้านการบิน #ข่าวการศึกษา #MissionThailand