อีกหนึ่งขั้นแห่งความสำเร็จ “ฟ้าสุ-ชนิดาภา” เด็กนิเทศฯ DPU รับโล่ “ยุวสตรีดีเด่น” เนื่องในวันสตรีสากล 67
นางสาวชนิดาภา สุนนท์ นักศึกษาปี 3 หลักสูตรการสื่อสารการแสดงดิจิทัล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้รับรางวัล “ยุวสตรีดีเด่น” ภาคกลาง จากกรมกิจการสตรีและครอบครัว กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ เป็นผู้มอบรางวัล เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “เสริมพลังสตรีและเด็กหญิง ขจัดความยากจน สู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศ บนพื้นฐานครอบครัวที่อบอุ่น” ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
โดยยุวสตรีดีเด่นอย่าง “ฟ้าสุ-ชนิดาภา สุนนท์” กล่าวว่า ผลงานในรางวัลดังกล่าวครั้งนี้ ไม่ใช่แค่รางวัลเกียรติยศแต่จะเป็นเครื่องเตือนใจและสัญลักษณ์พลังแห่งเยาวชนและสตรี ที่ประสบความสำเร็จอีกขั้นในการขับเคลื่อน การพัฒนาและสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวและควรมองข้าม เพราะเราทุกคนต่างเคยเป็นเด็ก
ชนิดาภา เผยว่า เหตุผลของการผลักดันและขับเคลื่อน ‘สิทธิสตรีและเด็ก’ เกิดขึ้นช่วงที่เรียนอยู่ชั้นม.4 ที่ช่วงวัยอายุ เพศสภาพความเป็นผู้หญิงและการเติบโตในต่างจังหวัด ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้พร้อมกับสังเกตการณ์ผลกระทบในความเหลื่อมล้ำต่างๆ จนเกิดเป็นคำถามตามมา เช่น ระบบ ‘การศึกษา’ สิทธิในร่างกายตัวเองใกล้ตัวและส่งผลต่อชีวิตของเด็กที่สุด แต่กลับไม่สามารถกำหนดวิชาเรียนหรือเพิ่มวิชาใหม่ เพื่อให้ตอบสนองการเรียนรู้ที่ต้องการเข้าไปได้เอง แม้รู้ทั้งรู้ว่าขาดความรู้ในเรื่องอะไรบ้าง
หรืออย่างกรณี ‘สถาบันครอบครัว’ ระบบที่ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายยอมเสมอ ไม่มีสิทธิที่จะขึ้นเสียงหรือเถียงกับสามี ต้องเลี้ยงลูกต้องเป็นแม่บ้าน ต่อให้มีความรู้และเรียนจบสูงแค่ไหนก็ตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้กลายเป็นการเรียนรู้พร้อมกับสังเกตการณ์เรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่เกิดขึ้นสำหรับตัวเธอ ก่อนจะผันตัวเองเป็นนักขับเคลื่อนโดยเริ่มจากการเขียนบทความ อาทิ กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวกับสิทธิสตรีในเรื่องการให้นมบุตร คำคมให้กำลังใจจากสตรีที่ประสบความสำเร็จ บทวิพากษ์ประเด็นนุ่งสั้น ไม่ได้หมายความว่าคือผู้หญิงขายตัว ฯลฯ ในเพจเฟซบุ๊ก ‘JUST SAY IT’
นอกจากนี้ “ชนิดาภา” ยังได้ร่วมรณรงค์กับหน่วยงานทั้งในภาคเอกชน ภาคราชการ และภาคการเมือง ในฐานะวิทยากรและพิธีกร เพื่อเป็นอีกฟันเฟืองที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของผู้คน สู่ ‘ความเสมอภาค’ และ ‘ความเท่าเทียม’ ที่ยังมีอยู่ในปัจจุบัน โดยเธอมองว่า “โลกไม่ได้มีกฎเกณฑ์ ไม่ได้มีข้อระเบียบอะไรเลย เป็นความคิดของมนุษย์เองที่กำหนดขึ้น” และบริบทที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือมากกว่าก็จะเป็นผู้ที่ออกกฎควบคุม
“ปัจจุบันจะมีการพัฒนาขึ้นในเรื่องความสำคัญและคุณค่า ผู้หญิงจากที่ไม่เคยได้เรียน ก็ได้เรียน จากที่ไม่สามารถทำงานในส่วนของการเมืองได้ ตอนนี้ผู้หญิงก็เป็นรัฐมนตรีได้ และเป็นได้ดีไม่ต่างจากผู้ชาย เพราะเรามาจากท้องแม่เหมือนกัน มันก็เป็นบทพิสูจน์การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้”
ชนิดาภา กล่าวเสริมอีกว่า หลังจากการผลักดันกว่า 5 ปี เธอพบว่าสิ่งต่างๆ ที่ได้ทำไม่เพียงส่งเสริมให้ชีวิตสตรีและเด็ก หรือ LGBTQ+ มีชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น ‘ผู้ชาย’ เองก็ได้รับการปลดล็อกจากกรอบความคิดภาวะชายเป็นใหญ่ หรือ ‘Toxic Masculinity’ ที่กดทับสำหรับหลายๆ คนอีกด้วย
“ช่วงตอนที่หนูขับเคลื่อนในคลับเฮาส์ แคมเปญ “จริงหรือ ชายแท้ ลดคุณค่าทางเพศ” มีผู้ชายที่ร่วมรับชมเข้ามาแสดงความคิดเห็น เขาบอกว่าครอบครัวเขาเป็นครอบครัวคนจีนและมีกฎไว้ว่าทุกอย่างต้องดูเป็นผู้ชาย ทำให้สมัยเด็กๆ เขาจะเล่นแบบเพื่อนผู้หญิงไม่ได้ เขาจะชอบสีชมพูไม่ได้ เพราะคนจะมองว่าเขาเป็นกะเทย แต่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้เป็น เขาแค่เป็นคนที่ชอบความสงบ อ่อนโยน ไม่ชอบใช้กำลัง”
“จริงๆ โลกเรา ทุกคนควรเคารพกันด้วยความเป็นมนุษย์” เธอย้ำ
“เป้าหมายที่วางไว้ในตอนนี้จึงเป็นการสร้างการรับรู้ เพื่อให้เกิดการมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์ จากเส้นบางๆ ของวัฒนธรรมกับสิ่งที่ปลูกฝังและปฏิบัติตามกันมา เช่น ผู้ชายช้างเท้าหน้า ผู้หญิงช้างเท้าหลัง แต่ในจังหวะที่ผู้ชายนำไปในทิศทางที่จะผิด ผู้หญิงต้องสามารถที่จะบอกและดึงสติให้กลับมาได้”
“ซึ่งทั้งหมดหลังจากที่เราตื่นรู้ว่าอะไรคือ สิทธิของเราบ้าง และเราจะยอมใช้อันไหน ไม่ใช่อันไหน มาบวกกับนิสัยของแต่ละคน มันจะนำไปสู่การที่แต่ละครอบครัวออกแบบชีวิตตัวเองว่าเรื่องดังกล่าวในหลายๆ อย่างนี้ เราจะบริหารจัดการมันอย่างไรบ้าง เพื่อให้เหมาะสมและดีที่สุดในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข”
ชนิดาภา ฝากข้อคิดทิ้งท้ายสำหรับการสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมว่า เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เรามีชีวิตหนึ่งชีวิตแล้วควรใช้มันอย่างเต็มที่ในทางที่ถูกต้อง เพราะนอกจากจะทำให้เราพราว ทำให้เรากล้าที่จะแสดงตัวตนของคุณออกมาซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและสวยงามที่สุดแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อเวลาคนเรามีความสุข เราก็จะสร้างสรรค์แต่สิ่งที่ดีๆ ส่งต่อให้แก่กันและกัน
“แรกๆ เข้ามาเรียนที่กรุงเทพใหม่ๆ หนูก็แอบสงสัยและกลัวนิดๆ เหมือนกันว่าสิ่งที่เราขับเคลื่อนนั้นถูกต้องหรือไม่ แต่พอได้เข้ามาเรียนที่ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ หนูได้เห็นการผลักดันของสำนักกิจการนักศึกษา โดยเฉพาะ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีและรองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษา อาจารย์นิติ มุขยวงศา และ อาจารย์ ดร.ณัทธสิฐษิ์ สิริปัญญาธนกิจ ที่ช่วยกันจัดทุกกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงถึงทุกๆ คนสามารถที่จะเข้าร่วมได้ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงการประกวดดาวเดือน มาเป็น DPU Smart Idol โดยคัดเลือกนักศึกษาจากความสามารถ ไม่ใช่หน้าตา และสามารถลงประกวดได้ตั้งแต่ปี 1 หรือการเปลี่ยนชื่อรางวัลสำหรับเพศที่ 3 ที่แต่ก่อนใช้คำว่า ดาวเทียม มาเป็น Miss Queen”
“ทีนี้ต่อมาพอหนูยิ่งทำและเพื่อนๆ ช่วยกันซัพพอร์ต แค่คำชมเรื่องของการแต่งตัวด้วยความมั่นใจในสไตล์เรา เริด สวยมาก พรุ่งนี้เอาอีกจัดเต็มกว่านี้ และการได้เห็นเพื่อนๆ ที่ออกมาเป็นแนวหน้าจากที่ไม่เคยทำ มันเสริมความคิดเราขึ้นอีก ดังนั้นในทุกก้าวที่เราแสดงออกในพลังของตัวเองอย่างเต็มที่ เราทุกคนก็เท่ากับช่วยขับเคลื่อนแล้วสำหรับหนู เหมือนคนที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ที่เราชมและบอกเขาเป็นหญิงแกร่ง เขาไม่ได้แบ่งเวลาส่วนตัวมาใช้เพื่อการขับเคลื่อน แต่ในทุกจังหวะในชีวิตประจำวันของเขาจะค่อยๆ สร้างภาพการรับรู้ให้การเกิดความเท่าเทียม”
“สำหรับในอนาคตหนูก็จะทำให้ดีที่สุดและทำต่อไปเรื่อยๆ ในบทบาทอาจจะเป็นในทางด้านการเขียนบทละครและสื่อ เพราะเรียนในสาขา การสื่อสารการแสดงดิจิทัล อย่างหนังเรื่องคังคุไบ หรือละครเรื่องมาตาลดา ที่ขับเคลื่อน ก็ขอฝากทิ้งท้ายว่าเราทุกคนสามารถร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และสามารถทำได้เลยในทันที ชีวิตของคุณที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ใคร”
#ชนิดาภาสุนนท์ #หลักสูตรการสื่อสารการแสดงดิจิทัล #คณะนิเทศศาสตร์ #มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ #DPU #ยุวสตรีดีเด่น #กรมกิจการสตรีและครอบครัว #กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ #วันสตรีสากลประจำปี2567 #ข่าวการศึกษา #MissionThailand