“วัดราชนัดดารามวรวิหาร” วัดสวยเคียงคู่คนราชดำเนิน

…สวัสดีจ้า..บรรดาสายเที่ยวทั้งหลาย..ในกรุงเทพฯนั้นมีวัดวาอารามที่มีความงดงามอยู่เป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นก็คือ”วัดราชนัดดารามวรวิหาร” ซึ่งเป็นพระอารามชั้นตรีชนิดวรวิหาร ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติแก่พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าหญิงโสมนัสวัฒนาวดี ต่อมาดำรงตำแหน่งเป็นพระอัครมเหสีองค์แรกในรัชกาลที่ 4 มีพระนามว่า “สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดีบรมราชเทวี”

สำหรับประวัติของวัดราชนัดดารามวรวิหารนั้น โดยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้เจ้าพระยายมราช (บุนนาค ยมนาค) เป็นผู้ออกแบบแผนผังการสร้างวัด กำกับการสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญ เจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง “โลหะปราสาท” พระยามหาโยธาเป็นผู้สร้างกุฏิสงฆ์ พร้อมทั้งกำแพงและเขื่อนรอบๆ วัด ปัจจุบันหลังจากรื้อถอนศาลาเฉลิมไทยแล้ว เพื่อเป็นการเปิดมุมมองทางเข้าเกาะรัตนโกสินทร์จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศนั่นเอง

ที่ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ พื้นที่โดยรอบเป็นลานกว้าง จัดสร้างพลับพลาที่ประทับ เพื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกรับแขกบ้านแขกเมือง เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งต่อมาก็คือ รัชกาลที่ 3 และสร้างขึ้นเสร็จสิ้นในรัชกาลปัจจุบัน

พระอุโบสถวัดราชนัดดารามวรวิหาร ตั้งอยู่ระหว่างพระวิหารและการเปรียญ มีลักษณะขวางดวงตะวัน จากทิศเหนือไปทิศใต้ เจ้าพระยายมราช (บุนนาค ยมนาค) กำกับการก่อสร้าง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า และสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระมเหสีของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ดำรงพระอัสริยยศพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดี โดยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงก่อพระฤกษ์พระอุโบสถ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2389 และยกชื่อพระอุโบสถ วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2389 ลักษณะสถาปัตยกรรม เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน ศิลปกรรมสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ฐานสูงยกพื้น 2 ชั้น ฐานล่างตั้งเสาระเบียงสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุขขนาดใหญารองรับเชิงชาย หน้าจั่วและหลังคา ด้านหน้าและด้านหลัง ด้านละ 5ต้น ด้านข้างด้านละ12ต้น มีทางเดินเวียนรอบ ฐานชั้นที่ 2 ยกพื้นสูง ประตูทางเข้าภายใน 2 ประตู หลังคาชั้นลด 1 ชั้น มุงกระเบื้องสีน้ำเงินสลับสีเหลือง ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์

ความโดดเด่นโดยภายในนั้นประดิษฐานพระพุทธปฏิมาประธานปางมารวิชัย พระนาม พระพุทธเสฏฐตมมุนินทร์ มีความหมายว่า พระพุทธองค์ผู้ทรงประเสริฐสูงสุดยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมุนีใดในโลก หน้าตักกว้าง 7 ศอก หล่อด้วยทองแดงที่ขุดได้จากตำบลจันทึก เมืองนครราชสีมา ในรัชกาลที่ 5 ได้ลงรักปิดทองแล้วเชิญเศวตฉัตร 5 ชั้นขึ้นกางกั้น

ภายในยังมีจิตรกรรมฝาพนัง ด้านหน้าและด้านหลังโดยเป็นเรื่องราวของพุทธประวัติตอนเสด็จโปรดพุทธมารดาและเสด็จจากดาวดึงส์ ด้านข้างเขียนภาพหมู่ดาวฤกษ์และดาวนพเคราะหห์ 27 กลุ่ม แวดล้อมด้วยหมู่เทวบุตรและเทวธิดา บานหน้าต่างเขียนภาพเทวดานพเคราะห์

จุดเด่นอีกประการของวัดราชนัดดาราม ก็คือ โลหะปราสาท ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ใช้เวลาในสร้างกว่า 160 ปี เพิ่งจะเสร็จในรัชกาลที่ 9 นี้ “โลหะปราสาท” นับเป็นหนึ่งในสามแห่งของโลก และเป็นแห่งเดียวที่ยังคงเหลืออย่างสมบูรณ์ โดยแห่งแรกอยู่ที่อินเดีย และแห่งที่สองอยู่ที่ศรีลังกา ซึ่งทั้งสองแห่งนั้นได้พังทลายแล้ว

ภายในโลหะปราสาทจะมีนิทรรศการโลหะปราสาท ที่ให้ความรู้ตั้งแต่ประวัติความเป็นมาและการก่อสร้าง และยังมีบันไดเวียนอยู่ตรงกลาง เพื่อให้ขึ้นไปชมด้านบนได้ในมุม 360 องศา ซึ่งจะเห็นวิวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ได้อย่างงดงาม รวมทั้งยังมีภาพสมัยโบราณให้ดูเทียบกับวิวปัจจุบัน และยังเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งอยู่บนยอดโลหะปราสาท

ส่วนกำแพงวัดราชนัดดารามวรวิหารนัั้น เป็นกำแพงชั้นนอกและกำแพงแก้วชั้นใน กำแพงด้านนอกมีลักษณะอย่างกำแพงเมือง ด้านหน้าวัดจะสร้างศาลาขนาดใหญ่ มีบันไดทางด้านขึ้นสู่ศาลาซ้ายและขวา ด้านในวัดขนาบประตูเข้าวัดข้างละ 1 หลัง ก่อด้วยอิฐถือปูนเป็นทรงไทย ลักษณะของสถาปัตยกรรมแสดงให้เห็นเป็นปราการที่มั่งคงแข็งแรง ตั้งประจันหน้ากำแพงเมืองและป้อมมหากาฬที่อยู่ถัดออกไป เสาศาลาบนกำแพงแต่ละต้นมีขนาดใหญ่เป็นแท่งสี่เหลี่ยมรองรับหลังคา รับกับสถาปัตยกรรมภายในวัดที่มีขนาดใหญ่อลังการอีกด้วย

พิกัดท่องเที่ยว :

วัดราชนัดดารามวรวิหาร

ที่อยู่ : เลขที่ 70 ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร กรุงเทพ

โทรศัพท์ : 02 221 0903

เปิดทำการ : ทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น.

การเดินทาง

วัดราชนัดดาราม สามารถเดินทางจากถนนหลานหลวง วิ่งตรงไปยังถนนราชดำเนินกลาง วัดจะตั้งอยู่ด้านซ้าย ใกล้กับป้อมมหากาฬ ติดกับลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์

…………………………………………

Story/Photo :ปิโยรส อุทุมเทวา

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

"อาบอรุณ" รับแสงแรกอันอบอวลหัวใจ ท่ามกลางอ้อมกอดแห่งท้องทะเล

ในวันนี้ผมขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่คุณต้องชื่นชอ […]

You May Like

Subscribe US Now