คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เชื่อว่าเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาสามารถกลับเข้าสู่ระบบได้ หากรัฐบาลเอาจริงเอาจัง

 

คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เชื่อว่าเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาสามารถกลับเข้าสู่ระบบได้ หากรัฐบาลเอาจริงเอาจัง มีระบบการศึกษายืดหยุ่นที่เป็นรูปธรรม พร้อมสนับสนุนกลไกช่วยเหลือเด็กในต่างจังหวัด

ผศ. ดร.พงษ์ภิญโญ แม้นโกศล คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ให้ความคิดเห็น ต่อกรณีที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ปี 2566 มีจำนวน 1,025,514 คนจากจำนวนประชากรวัยเรียน (อายุ 3 ขวบ – 18 ปี) ทั้งหมดประมาณ 12 ล้านคน โดยที่เด็ก 1.02 ล้านคนนั้น เป็นเด็กที่ไม่เคยได้รับการศึกษาประมาณ 10% ส่วนจำนวนที่เหลือคือเด็กที่ต้องออกกลางคันในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตามลำดับ สาเหตุมาจากความยากจน มีปัญหาครอบครัว ออกกลางคันและถูกผลักออก ไม่มีสถานะทางทะเบียน เป็นต้น และยังมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าชีวิตของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้เต็มไปด้วยความเสี่ยง และมีแนวโน้มจะเข้าสู่วงจรอันตราย 3 เรื่อง คือ เป็นแรงงานรายได้ต่ำ เข้าสู่การค้าประเวณีโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง และเป็นอาชญากรอายุน้อยที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด นับเป็นระเบิดเวลาของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อทำให้ทุนมนุษย์ของไทยเข้มแข็งและมีศักยภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ต้องให้เครดิตรัฐบาลในการสำรวจและค้นหาเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่หลายกระทรวงและหน่วยงานร่วมกันสำรวจจนได้ข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งเมื่อก่อนเป็นตัวเลขคาดการณ์เท่านั้น และรัฐบาลยังได้เดินหน้าแก้ปัญหาโดยมีนโยบาย Thailand Zero Dropout โดยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับ 11 หน่วยงานในการผลักดันนโยบายนี้ หรือ นโยบายพาน้องกลับมาเรียน ของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ถือเป็นโครงการที่ดีเพียงแต่อาจต้องใช้เวลา เพราะเพิ่งเริ่มดำเนินการมาสักระยะหนึ่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงแบบคู่ขนานกันก็คือ จะทำอย่างไรไม่ให้เด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในระบบการศึกษาอยู่แล้วกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสหลุดออกจากระบบหรือออกกลางคัน วิกฤติดังกล่าวเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องหามาตรการแก้ไข เช่น ส่งเสริมให้เกิดการศึกษาที่ยืดหยุ่น คือปรับการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการและชีวิตของผู้เรียน ทำให้สามารถเรียนได้หลากหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเรียนในห้องเรียน เพื่อตอบโจทย์ความจำเป็นของผู้เรียนที่สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา โดยอาจจะต้องเริ่มที่โรงเรียนก่อน คือต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การจัดการศึกษาให้ยืดหยุ่นตามชีวิตของผู้เรียน แต่ถ้าโรงเรียนไม่มีการปรับตัวหรือปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการของเด็กกลุ่มนี้ อนาคตอาจจะมีตัวเลขสถิติเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ถึงแม้จะไม่ใช่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง แต่ก็ตระหนักถึงการมีส่วนร่วมการจัดการศึกษาของประเทศ โดยเข้าร่วมเป็นภาคีร่วมดำเนินงานกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยในปี 2567 ได้ทำโครงการสนับสนุนกลไกการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเองเชิงพื้นที่ โดยเป้าหมายหนึ่งของโครงการนี้ก็เพื่อที่จะตอบสนองนโยบาย Thailand Zero Dropout เช่นเดียวกัน เพื่อให้จังหวัดสามารถสร้างกลไกการขับเคลื่อนโรงเรียนให้สามารถพัฒนาและยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียน รวมไปถึงแก้ปัญหาและป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วย

คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวในตอนท้ายว่า “การศึกษาไทย ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและทุกองคาพยพของประเทศจะต้องช่วยกันในฐานะเจ้าของการศึกษา ไม่ใช่เพียงแค่กระทรวงศึกษาธิการเท่านั้นที่เป็นเจ้าของ ทุกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาเด็กได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด All for Education คือทำให้การศึกษาเป็นกิจของทุกคน โดยมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันนั่นก็คือเด็กและเยาวชนไทย เพราะเด็กคือทุนมนุษย์ที่สำคัญของชาติ เขาเหล่านั้นจะร่วมสร้างชาติให้พัฒนาไปได้อีกไกล และเชื่ออีกว่า หากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง เด็ก 1.02 ล้านคนนั้น ก็อาจจะกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 100% ตามเป้าหมายของรัฐบาล”

 

 

 

 

 

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

"กระทรวงเกษตรฯ" เตรียมฟื้นพื้นที่ป่าต้นน้ำ ชู "แม่ฮ่องสอนโมเดล" ต้นแบบการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน

“กระทรวงเกษตรฯ” เตรียมฟื้นพื้นที่ป่าต้ […]

You May Like

Subscribe US Now