คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดเสวนา AI กับโอกาสของประเทศไทย  

คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดเสวนา AI กับโอกาสของประเทศไทย  

เมื่อวันที่ 14 กรกฏาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ AI กับโอกาสของประเทศไทย ณ ห้องประชุมทวี บุณยเกตุมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์  

โดย รศ.ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ เปิดเผยว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ กำลังมีบทบาทสำคัญและมากขึ้น การเตรียมนักศึกษาของคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ให้พร้อมเสมอกับการเปลี่ยนแปลงและพลิกผันเทคโนโลยีเหล่านี้ เป็นภารกิจของทางคณะฯ คณะรัฐประศาสนศาสตร์มีเป้าหมายในการผลิตกำลังคนภาครัฐดิจิทัล ทั้งบัณฑิตและมหาบัณฑิตจากหลักสูตรระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท นอกจากการเรียนการสอนสาระทางรัฐประศาสนศาสตร์ที่เป็นจุดเน้นของหลักสูตรแล้วนั้น ทางคณะฯ ให้ความสำคัญกับกรอบนโยบายการขับเคลื่อนภาครัฐดิจิทัลของภาครัฐ ความท้าทายของเทคโนโลยีที่พลิกผัน เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาความรู้ ทักษะ ทิศทาง การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น   

“นอกจากนี้การทำให้เรื่อง AI ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับนักศึกษาทุกคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI การใช้ ChatGPT หรือ Gemeni ไม่ใช่เรื่องไกลตัวในการเรียนการสอน แต่เป็น Life ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ให้ความสำคัญเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งเป้าหมายการจัดเสวนาวิชาเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสแล้ว ยังอยากให้นักศึกษาของคณะตลอดจนผู้ที่สนใจที่เข้าร่วมได้เรียนรู้ให้ลึกซึ้งขึ้น ทั้งในส่วนของโอกาสและในส่วนของความท้าทายของ AI”

งานเสวนานี้ได้รับเกียรติจากผู้ที่อยู่ในวงการ AI โดยเฉพาะภาครัฐ วิทยากรท่านแรก ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ซึ่งท่านเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เดิมมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่ การออกแบบวางระบบอิเลคทรอนิกส์ วางระบบดิจิทัลภาครัฐ และระบบ AI ของประเทศ ท่านที่ 2 ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ จาก NECTEC ผู้ออกแบบและรับผิดชอบการสร้าง AI Literacy ภาคภาษาไทยการพัฒนากำลังคนที่มีทักษะ AI มีความท้าทายอย่างมาก ท่านที่ 3 ดร.ศิธร กุลรดาธร หัวหน้างานเศรษฐกิจดิจิทัลอาวุโส สังกัดฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) นักนโยบายสาธารณะผู้เชื่อมต่อการพัฒนานโยบาย AI กับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และท่านที่ 4 นายจักณ์กิจ สุริยะไชยรดี Solution Architect บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนจากภาคเอกชน ที่สำคัญในมิติของการสอดรับ นโยบาย AI กับ 5G ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ทั้งนี้ มีคณบดีรัฐประศาสนศาสตร์เป็นผู้นำการเสวนา

การเสวนาวิชาการจากทั้ง 4 หน่วยงาน มีข้อเสนอเชิงนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ 

1. ปัจจุบัน AI กำลังมีบทบาทมากขึ้น ควรส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ real sector สามารถใช้งาน AI ในการพัฒนายกระดับศักยภาพได้ ซึ่งถ้าขับเคลื่อนประเด็นนี้ได้สำเร็จจะทำให้เกิดตลาดใหม่ๆ ซึ่งในปัจจุบันการใช้ประโยชน์จาก AI ยังจำกัดมาก ผู้คนอาจรู้จักใช้ AI แต่ไม่ได้สร้าง Productive ให้เกิดขึ้น   

2.ระบบ AI ของประเทศแม้จะมีก้าวหน้าไม่น้อยแต่ยังมีปัญหาการจัดการข้อมูล ไม่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันได้ ขาดข้อมูล ข้อมูลกระจัดกระจาย และข้อมูลที่ไม่สามารถเข้าถึงได้แบบบูรณาการ 

3.ควรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา AI สร้างนวัตกรรมให้มากขึ้น เช่น นวัตกรรมในการประมวลผลภาพ การประมวลผลสัญญาณ, และการประมวลผลภาษาธรรมชาติเพื่อให้สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในหลายภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาครัฐควรนำ AI มาใช้ในการปรับปรุงการให้บริการสาธารณะต่าง ๆ เช่น การจัดการระบบจราจร, การตรวจจับผู้กระทำผิด การศึกษา และการตอบสนองต่อภัยพิบัติ เป็นต้น สร้างความโปร่งใสและยกระดับประสิทธิภาพในการให้บริการสาธารณะ 

4.การพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรด้าน AI ควรมีการจัดอบรมและฝึกฝนบุคลากรด้าน AI อย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI ปัจจุบันมีเป้าหมายกำลังคน AI อยู่ที่ 100,000 คน แต่กำลังคน AI ขณะนี้ไม่ถึงสองหมื่นคน วิธีการหนึ่งที่สามารถสร้างกำลังคนและเรียนรู้การใช้ประโยชน์จาก AI ได้ ควรสนับสนุนการสร้าง AI ไทยเช่น Open Thai CHATGPT ที่ NECTEC กำลังพัฒนาอยู่ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ การเข้าถึงและใช้เพื่อสร้าง Value ได้ง่ายขึ้น   

5.ผลักดันการใช้ AI ในsector ต่างๆ โดยเฉพาะ การท่องเที่ยว และการแพทย์ (Digital Health) ประเทศไทยมีจุดแข็งในการให้บริการ ควรพัฒนาและสนับสนุนการใช้ AI ในการท่องเที่ยวและการแพทย์ เพื่อเพิ่มการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวเช่น การแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบความถูกต้องและติดตามนักท่องเที่ยว การจำแนกนักท่องเที่ยวกับอาชญากรข้ามชาติ การประมวลสถิติความนิยมของสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ การคาดคะเนจำนวนนักท่องเที่ยว การใช้จ่ายการท่องเที่ยว การใช้ AI ร่วมกับแพทย์ในการรักษาและฟื้นฟูคนไข้ ฯลฯ   

6.ภาคเอกชนเสนอว่าหากประเทศไทยไม่ดำเนินการกำหนดนโยบายประเด็นสำคัญๆในการพัฒนาด้านต่างๆ จากการคาดการณ์มีแนวโน้มว่า AI จะมาแทนที่การทำงานของบางตำแหน่งการพัฒนาทักษะดิจิทัลควรมีการส่งเสริมและพัฒนาทักษะดิจิทัลทั้งในระดับพื้นฐาน การใช้แอพไทย การใช้ภาษาที่เข้าใจ อธิบายแบบง่ายๆต่อความเข้าใจคนทั่วไป และทักษะขั้นสูงในกลุ่มแรงงานเฉพาะกลุ่มเพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และ สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ควรกระตุ้น SME ให้ใช้ AI เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้มากขึ้นซึ่งอาจใช้มาตรการภาษีจูงใจ  

7.การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รัฐบาลควรลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 5G และลงทุน AI ที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจสามารถเข้าถึงการเชื่อมต่อที่รวดเร็วและเสถียร 

8.นโยบายในการสร้างความไว้วางใจและความปลอดภัยทางดิจิทัล การพัฒนากฎหมาย รัฐบาลควรพิจารณาในการออกกฏหมาย AI ที่ทันสมัย มองอนาคต สร้างกำลังคน ที่มี AI Literacy มี AI Security และ AI Governance มีนโยบายที่เน้นการรักษา ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล เพื่อป้องกันความเสี่ยงทางไซเบอร์และสร้างความไว้วางใจให้กับผู้ใช้บริการ   

9.ควรส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ควรมีนโยบายที่เป็นมิตรกับการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนในภาคส่วนเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในประเทศ นอกจากนี้ควรสนับสนุนระบบนิเวศทางนวัตกรรม รัฐบาลควรสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจใหม่ และการสร้างนวัตกรรม รวมถึงการสนับสนุนสตาร์ทอัพและการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ  

 

#คณะรัฐประศาสนศาสตร์ #มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ #DPU #AIกับโอกาสของประเทศไทย #ข่าวการศึกษา #MissionThailand

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

"รมว.ธรรมนัส" ลงพื้นที่ "จังหวัดตราด" รับฟังปัญหาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย พร้อมกำชับ "กรมชลประทาน" บริหารจัดการน้ำอย่างเต็มความสามารถและมีประสิทธิภาพ

“รมว.ธรรมนัส” ลงพื้นที่ “จังหวัด […]

You May Like

Subscribe US Now