กระทรวงเกษตรฯ เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2564 พร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการทั่วประเทศ เร่งแก้ภัยแล้ง โดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา

กระทรวงเกษตรฯ เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2564 พร้อมตั้งศูนย์ปฏิบัติการทั่วประเทศ เร่งแก้ภัยแล้ง โดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหา

ที่สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งประจำปี 2564 โดยมี นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมในพิธีอย่างพร้อมเพรียง

โอกาสนี้ ร้อยเอกธรรมนัส ได้มีการตรวจแถวชุดปฏิบัติการฝนหลวง 10 ชุด และคล้องพวงมาลัยให้กับนักบินที่ประจำการ ณ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อแสดงถึงความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทุกหน่วยที่จะออกปฏิบัติการฝนหลวง และสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จากนั้น ร้อยเอกธรรมนัส พร้อมคณะร่วมกันปล่อยขบวนคาราวานเครื่องบินฝนหลวงออกปฏิบัติการทั่วประเทศ

ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน ส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนน้ำ ในการอุปโภค – บริโภค และการเกษตร รวมถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อยทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานดูแลบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เร่งปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้รวดเร็วมากขึ้น จากปกติที่มีการเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงในวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี มาเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดยได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหาร จัดการน้ำของประเทศด้วย

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2564 มีแผนปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ของประเทศ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน รวมทั้งสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินเกณฑ์มาตรฐานซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไป ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2564 โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ ประกอบด้วย

1) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดเชียงใหม่ ณ สนามบินกองบิน 41 อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 2) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดพิษณุโลก ณ กองบิน 46 อ.เมือง จ.พิษณุโลก 3) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคกลาง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดนครสวรรค์ ณ สนามบินนครสวรรค์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 4) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดอุดรธานี ณ สนามบินกองบิน 23 อ.เมือง จ.อุดรธานี 5) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดบุรีรัมย์ ณ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ 6) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดระยอง ณ สนามบินอู่ตะเภา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง และ7) ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ กองบังคับการกองบิน และ 7 อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดกิจกรรม ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ วันนี้ ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด – 19 โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่ประจำจุดลงทะเบียน และตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมงาน มีบริการเจลแอลกอฮอล์ประจำจุดต่าง ๆ มีการเว้นระยะห่างเพื่อป้องกันโรค และกำหนดให้ผู้ร่วมงานสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดทั้งงานด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

เที่ยว"ตราด"สงาดแน่

นายภิญโญ ประกอบผล ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยว […]

You May Like

Subscribe US Now