รมว. ตรีนุช เร่งสำรวจฉีดวัคซีนไฟเซอร์เด็ก อยู่ที่ไหนฉีดที่นั่น
ศธ.กางปฏิทินสำรวจจำนวนนักเรียนผู้ปกครองยินยอม ฉีด-ไม่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ขีดเส้น 26 ก.ย.นี้ข้อมูลถึงมือศึกษาธิการจังหวัด นักเรียนพักอาศัยอยู่จริงที่จังหวัดไหนได้ฉีดวัคซีนที่จังหวัดนั้น
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่จะมีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ที่มีอายุ 12-18 ปี ทุกคน ทุกสังกัด กว่า 4.5 ล้านคน ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียนพระปริยัติธรรม โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และ กรุงเทพมหานคร ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 นั้น ในการจัดเตรียมรายชื่อนักเรียนและจำนวนนักเรียนขอให้สถานศึกษาดำเนินการ ดังนี้ 1.สรุปรายชื่อนักเรียนที่ผู้ปกครองประสงค์ให้ฉีดวัคซีน โดยระบุรายละเอียด ชื่อ-นามสกุล /เลขประจำตัวบัตรประชาชน 13 หลัก /วัน-เดือน-ปีเกิด / ฉีด – ไม่ฉีด พร้อมกับสรุปยอดรวมจำนวนนักเรียนที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน ต่อศึกษาธิการจังหวัด
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า 2.ในกรณีสถานศึกษามีนักเรียนในสังกัดที่ประสงค์จะฉีดวัคซีน แต่นักเรียนรายนั้นไม่ได้พักอยู่ในจังหวัดที่ตั้งของสถานศึกษา เช่น สถานศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ แต่นักเรียนไปพักอาศัยอยู่จังหวัดไหน ให้สถานศึกษาจัดทำรายชื่อนักเรียนรายนั้นแยกต่างหากเสนอต่อศึกษาธิการจังหวัด ภายในวันที่ 26 กันยายน 2564 โดยระบุข้อมูลดังนี้ 1. ชื่อ – นามสกุล 2.เลขบัตรประชาชน 13 หลัก 3.วัน-เดือน-ปีเกิด และ 4.อำเภอและจังหวัดที่เด็กไปพักอาศัย จากนั้นให้ศึกษาธิการจังหวัด เสนอคณะกรรมการจัดเตรียมรายชื่อนักเรียนกลุ่มนี้ เพื่อสรุปรายชื่อนักเรียนและจำนวนนักเรียน และรายชื่อแยกรายจังหวัด ส่งมายังสำนักบูรณาการกิจการการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ภายในวันที่ 28 กันยายน 2564 หลังจากนั้นในวันที่ 29 กันยายน 2564 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สรุปจำนวนนักเรียนที่พักอาศัยในจังหวัดที่ไม่ได้เป็นที่ตั้งของสถานศึกษาต้นสังกัด รวม 77 จังหวัด แล้วนำเสนอต่อกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในวันที่ 30 กันยายน 2564 เพื่อให้กรมควบคุมโรค สธ.จัดสรรยอดวัคซีนเพิ่มรายจังหวัด และให้สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้กำหนดวัน เวลา และสถานที่สำหรับการฉีดวัคซีนของนักเรียนกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนได้ฉีดวัคซีนในจังหวัดที่ตนเองพักอาศัยอยู่ในปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกและลดภาระการรับ-ส่งของผู้ปกครอง ในการเดินทางไปฉีดวัคซีน.