ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมจัดการศึกษาทางไกล ให้เด็กและเยาวชน สามารถเรียนต่อประกอบอาชีพสุจริต เป็นพลเมืองดีของชาติบ้านเมืองต่อไป
วันที่ 8 เมษายน 2565 นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนกลางและครอบครัว พร้อมด้วยนายวัลลพ สงวนนาม เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการศึกษาทางไกล โดยมีนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา ,ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ นางเกศสุตารินท์ ธนารุ่งไพลิน ในฐานะหัวหน้าโครงการ ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนกลางและครอบครัว เผยว่า สืบเนื่องจากศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักรมุ่งเน้นบำบัด แก้ไข ฟื้นฟูให้เด็กและเยาวชนกลับตน เพื่อคืนคนดีสู่สังคม ในการพิพากษาคดีศาลจะคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งควรจะได้รับการฝึกอบรม สั่งสอน และสงเคราะห์ให้กลับตัวเป็นพลเมืองดียิ่งกว่าการลงโทษ โดยเด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิดและมีคดีมาสู่ศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วราชอาณาจักร ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแต่เรียนไม่จบ หรือ เมื่อกระทำผิดแล้วก็ไม่เรียนต่อ ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำผิดไม่ร้ายแรงและบิดามารดาหรือผู้ปกครองสามารถดูแลได้ ศาลอาจปล่อยตัวและมอบตัวเด็กหรือเยาวชนให้บุคคลดังกล่าวไป โดยจะมีการคุมความประพฤติหรือกำหนดเงื่อนไข หากเด็กหรือเยาวชนยังไม่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
นอกจากข้อกำหนดอื่นที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตของเด็กหรือเยาวชนแล้ว ศาลก็จะกำหนดให้เด็กหรือเยาวชนเข้าศึกษาจนจบมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ก็พบปัญหาตลอดมาว่า เด็กหรือเยาวชนเหล่านี้ไม่สามารถกลับไปเรียนในระบบปกติได้ เนื่องด้วยออกจากระบบมาหลายปี เรียนไม่ทันเพื่อนรุ่นเดียวกัน หรืออายุมากกว่าเพื่อนในห้องที่จะกลับไปเรียน มีปัญหาในการปรับตัว หากจะสมัครเรียนการศึกษานอกระบบบางรายก็ไม่สามารถทำได้เพราะอายุอยู่ในช่วงการศึกษาภาคบังคับ ไม่มีหนังสือส่งตัวจากเขตพื้นที่การศึกษา หรือเด็กและเยาวชนไม่ใส่ใจ ไม่เห็นประโยชน์ในการเรียน แม้ว่าศาลเยาวชนฯ มีระบบติดตาม แนะนำ ช่วยเหลือและแหล่งการศึกษาให้เด็กหรือเยาวชนได้รับการศึกษาต่อในสายอาชีพโดยไม่ต้องสอบแข่งขันและมีทุนให้เรียนฟรีก็ตาม แต่เด็กหรือเยาวชนไม่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทำให้ไม่สามารถเข้าศึกษาต่อได้
จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อจัดการศึกษาพิเศษสำหรับเด็กหรือเยาวชนกลุ่มนี้โดยเฉพาะให้สามารถเรียนต่อสายอาชีพได้ตามต้องการ เพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพการงานที่สุจริต เป็นพลเมืองดีของชาติบ้านเมืองต่อไป