“เอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ” ประกาศจัดที่ประเทศไทย ณ สนามอมตะสปริงคันทรีคลับ ต.ค. นี้
ชลบุรี, 11 พฤษภาคม 2565 – สมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก (เอพีจีซี) ร่วมกับ เดอะมาสเตอร์ส ทัวร์นาเมนต์ และ เดอะอาร์แอนด์เอ ประกาศจัดศึก เอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ครั้งที่ 13 ที่ประเทศไทย ณ สนามอมตะสปริง คันทรีคลับ จังหวัดชลบุรี ระหว่างวันที่ 27-30 ตุลาคม 2565 ซึ่งถือเป็นการกลับมาเยือนสนามอมตะสปริง คันทรีคลับ อีกครั้งในรอบ 10 ปี หลังจากสนามแห่งนี้เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเมื่อปี 2555
การแข่งขันกอล์ฟกอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปียนชิพ จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2552 เพื่อเป็นเวทีพัฒนานักกอล์ฟสมัครเล่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยแชมป์รายการนี้จะได้รับเชิญเข้าร่วมแข่งขันในระดับเมเจอร์ รายการเดอะ มาสเตอร์ส และ ดิ โอเพน ขณะที่รองแชมป์จะได้สิทธิ์ลงเล่นรอบคัดเลือกรอบสุดท้ายลุ้นตั๋วลุยศึก ดิ โอเพ่น
ไทมูร์ ฮัสซัน อามิน ประธานสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก เฟร็ด ริดลีย์ ประธานมาสเตอร์ส ทัวร์นาเมนต์ และ มาร์ติน สลัมเบอร์ส ประธานบริหารของอาร์แอนด์เอ แถลงร่วมกันว่า “เราเฝ้ารอการกลับมาแข่งขันกอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ที่สนามอมตะสปริงคันทรีคลับ และการรวมตัวของเหล่านักกอล์ฟระดับแถวหน้าของภูมิภาค ณ สนามที่ยอดเยี่ยมแห่งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสพิเศษที่เราจะได้ต่อยอดการพัฒนา หลังจากได้เห็นการเติบโตนักกอล์ฟสมัครเล่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่กอล์ฟรายการนี้จัดที่ประเทศไทย เราขอขอบคุณเจ้าภาพจัดการแข่งขันทุกแห่งที่ให้การสนับสนุนการทำงานของเราเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเกมกีฬากอล์ฟและจัดหาเวทีการแข่งขันให้กับนักกอล์ฟสมัครเล่นทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ด้านแอนดรูว์ เหยา ประธานกรรมการบริหารของสนามอมตะสปริง คันทรีคลับ กล่าวว่า “เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปียนชิพ อีกครั้งในปีนี้ และตื่นเต้นกับการเตรียมความพร้อมของสนามอมตะสปริง เพื่อเป็นบททดสอบที่ท้ายทายสำหรับเหล่านักกอล์ฟสมัครเล่นฝีมือดีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก”
สำหรับสนามอมตะสปริง คันทรีคลับ ออกแบบโดย ลี ชมิดต์ เปิดให้บริการเมื่อปี 2548 และเคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกอล์ฟรายการใหญ่มาหลายรายการ นอกเหนือจากรายการเอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ เมื่อปี 2552 ยังเคยเป็นสังเวียนชิงชัยกอล์ฟฮอนด้าแอลพีจีเอ ไทยแลนด์ ศึกไทยแลนด์กอล์ฟแชมเปียนชิพ และการแข่งขันประเภททีมรายการ รอยัล โทรฟี่
โดยในการแข่งขันกอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ที่สนามอมตะสปริง คันทรีคลับ เมื่อปี 2552 กวน เทียนหลาง จากจีนคว้าแชมป์ไปครอง กลายเป็นนักกอล์ฟอายุน้อยที่สุดที่ได้แชมป์รายการนี้ด้วยวัย 14 ได้สิทธิ์ไปแข่งรายการเดอะ มาสเตอร์ส และทำสถิติเป็นนักกอล์ฟอายุน้อยที่สุดที่ผ่านการตัดตัวในเดอะมาสเตอร์ส ปี 2553 ด้วย ส่วนซี.ที.ปัน หรือเฉิง ซุง ปัน จากไต้หวัน ที่ได้รองแชมป์ ฮิเดกิ มัตซึยามา จากญี่ปุ่นที่จบอันดับ 4 และคาเมรอน สมิธ จากออสเตรเลียที่ได้อันดับ 7 ก้าวขึ้นไปสร้างชื่อในเวทีระดับโลกจากการคว้าแชมป์พีจีเอทัวร์ โดยในรายของมัตซึยามา เคยคว้าแชมป์เอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ 2 สมัย ก่อนผงาดทำผลงานสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกอล์ฟญี่ปุ่นคนแรกที่คว้าแชมป์เมเจอร์ หลังชนะเลิศรายการเดอะ มาสเตอร์ส ในเดือนเมษายนเมื่อปีที่แล้ว และคาเมรอน สมิธ แชมป์เดอะเพลเยอร์ส เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันรั้งอันดับ 4 ของโลก ทั้งนี้นับจนถึงปัจจุบันนักกอล์ฟมือสมัครเล่นที่ผ่านเวทีการแข่งขันรายการเอเอซี ครองแชมป์พีจีเอทัวร์รวมกันจำนวน 21 รายการ
ทางด้านรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ นายกสมาคมกีฬากอล์ฟแห่งประเทศไทยฯ กล่าวถึงการแข่งขันกอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพว่า “การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ในประเทศไทย เป็นโอกาสสำคัญยิ่งในการสนับสนุนกีฬากอล์ฟในไทยซึ่งมีนักกอล์ฟฝีมือดีมากมาและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราภูมิใจที่ได้ต้อนรับบรรดายอดนักกอล์ฟมือสมัครเล่นในภูมิภาคเอเชียกลับมาแข่งขันที่สนามอมตะสปริง คันทรีคลับ และมั่นใจว่าในปีนี้จะได้เห็นการแข่งขันรายการเอซีซีที่ตื่นเต้นเร้าใจอีกครั้ง”
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวและข้อมูลเพิ่มของการแข่งขันกอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ ได้ทางเว็บไซต์ www.AACGolf.com
****************************************************
ข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขันกอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปียนชิพ
การแข่งขันกอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2009 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเดอะมาสเตอร์ส ทัวร์นาเมนต์ เดอะอาร์แอนด์เอ และสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก (เอพีจีซี) เพื่อเป็นเวทีพัฒนานักกอล์ฟสมัครเล่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
เป็นเวทีการแข่งขันประจำปีสำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่นยอดฝีมือจาก 42 ประเทศสมาชิกของสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก โดยแชมป์รายการนี้จะได้รับเชิญเข้าร่วมแข่งขันในระดับเมเจอร์ รายการเดอะ มาสเตอร์ส และ ดิ โอเพน ขณะที่รองแชมป์จะได้สิทธิ์ลงเล่นรอบคัดเลือกรอบสุดท้ายเพื่อลุ้นตั๋วลุยศึก ดิ โอเพ่น