รมว.ธรรมนัส ลงพื้นที่ พบปะรับฟังปัญหาเกษตรกรชาวสวนลำไย จันทบุรี กำชับกรมวิชาการเกษตร จัดทำใบ GAP 2 ภาษา สนับสนุนส่งออกตลาดต่างประเทศ
วันที่ 22 กันยายน 2566 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิต ส่งออกลำไยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีพร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีฯ นายพิทวัฒน์ อ่อนทองหลาง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (ผอ.สวพ.6) และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ได้รับรายงานว่า ในฤดูผลิตปี 2566/67 จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ปลูก 268,449 ไร่ให้ผลผลิต 267,189 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 326,500 ตัน ขณะนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว ประมาณ 10,000 ตัน สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี เปรียบเทียบการผลิตลำไยกับฤดูกาลที่ผ่านมา พบว่า พื้นที่ปลูก พื้นที่ให้ผล และผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเกษตรกรในเขตชลประทาน เริ่มมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกลำไยเดิม ไปเป็นทุเรียน
ส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทาน มีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชไร่ เช่น มันสำปะหลัง อีกทั้งราคาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรเช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสารเคมีที่ใช้ในการผลิตลำไย โดยเฉพาะโพแทสเซียมคลอเรต มีการขยับราคาสูงขึ้น ประกอบกับเกษตรกรในพื้นที่ มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง จึงทำการพักต้นประมาณ 28,900 ไร่ จึงส่งผลให้ผลผลิตในฤดูกาลนี้ มีปริมาณที่ลดลง
ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า ทราบจากเกษตรกรในพื้นที่ว่า ประสบปัญหา เอกสารใบGAP ที่ออกให้โดยราชการ เพราะเมื่อนำไปใช้จะต้องนำใบที่เป็นภาษาไทยไปจ้างแปลเป็นภาษาอังกฤษเพื่อใช้เป็นเอกสารในการส่งสินค้า จึงมอบหมายให้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ไปปรับแนวทางการออกใบ GAP ใหม่ โดยให้ออกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ควบคู่กันในใบเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกร
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาทุเรียนในฤดูกาลถัดไป นั้น จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งราชการ ผู้ส่งออก เกษตรกร มาหารือในช่วงแต่เนิ่นๆ เพราะทุเรียนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจหลักแสนล้านบาท หากได้มีการหารือ รับทราบข้อมูลปัญหาก่อนถึงฤดูทุเรียนจะทำให้ได้แนวทางแก้ปัญหาทันก่อนที่จะเกิดความผิดพลาด เช่นเดียวกับปัญหาแมลงศัตรูพืชซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในทุเรียน โดยเฉพาะภาคใต้ ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งไปดำเนินการแก้ปัญหาในพื้นที่แล้ว