หนี้ครัวเรือน ระเบิดเวลาที่ทุกคนต้องช่วยแก้
เดือนนี้ หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยพุ่งไปถึง 90.1% สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก และสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้ เป็นระเบิดเวลาในระบบเศรษฐกิจ
ภาระหนี้ที่ต้องผ่อนชำระเทียบกับรายได้ต่อเดือน (Debt Service Ratio: DSR) สูงขึ้นแตะ 34% สะท้อนว่า แทนที่ภาระหนี้จะกระตุ้นการบริโภค ภาระหนี้กลับกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
10 สค นี้ ธปท มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.5% เป็น 0.75% ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น จะกระทบความสามารถในการชำระหนี้ หนี้ครัวเรือนจึงอยู่ในจุดเปราะ ที่เสี่ยงจะเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก
ใคร ๆ ก็ออกมาชี้นิ้วว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน แต่จริง ๆ แล้ว ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาสะสม และเกิดขึ้นจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ถ้าทุกคนไม่ช่วยกัน ก็แก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนไม่ได้
ใครบ้างต้องร่วมมือแก้ปัญหานี้
1. ผู้ให้กู้ ต้องปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบ
ต้องเข้าใจก่อนว่า หนี้ครัวเรือน ไม่ได้มาจากธนาคารเท่านั้น ยังมีหนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ จากบริษัทเช่าซื้อ จากลีสซิ่ง ที่สำคัญ ยังมีหนี้นอกระบบอีกจำนวนมากที่ไม่มีการจัดเก็บสถิติไว้ ผู้ให้กู้ต้องปล่อยกู้อย่างรับผิดชอบ ไม่ใช่คิดแต่กำไรดอกเบี้ยที่จะได้ หรือมูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกันว่าคุ้มมูลหนี้ โดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ เรื่องนี้สำคัญมาก และต้องเอาจริงเอาจังกันซักที บ่อยครั้ง ชาวบ้านที่มากู้ไม่รู้หรือเข้าใจภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น ท้ายที่สุด หนี้เสีย แถมเสียบ้าน เสียที่ดิน
2. ผู้กู้ต้องได้รับความรู้พื้นฐานทางการเงินผู้กู้ควรวางแผนทางการเงินง่าย ๆ ได้ ว่ากู้ได้เท่าไร กู้ได้เท่าไรจะไม่ทำให้เกิดภาระที่หนักเกินตัวในอนาคตตรงนี้ เรื่องที่น่าห่วงคือ รัฐต้องไม่ดำเนินนโยบายที่หวังผลทางการเมืองด้วยการเอาแบงค์รัฐมาปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย เพราะมันไปกระตุ้นให้ทุกครัวเรือนกู้เพิ่ม วิธีการนี้ได้ผลทางการเมืองระยะสั้น แต่ก่อปัญหาให้ประชาชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
3.รัฐบาลและภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันช่วยเพิ่มรายได้ให้คนไทย รัฐบาลฝ่ายเดียวไปเพิ่มค่าแรง เพิ่มรายได้ให้ประชาชนคนไทยไม่ได้ ต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน รัฐและเอกชนจึงต้องหันหน้าเข้ามาช่วยกันกำหนดแผนลงทุนควบคู่กับแผนพัฒนาแรงงานของประเทศ ขอเน้นประเด็นที่พูดมาหลายครั้ง ต้องกล้าโยกแรงงานออกจากภาคการเกษตรอย่างน้อยร้อยละ 10 เติมทักษะ และย้ายเขาไปอยู่ในอุตสาหกรรมที่รายได้สูงขึ้น ในขณะเดียวกันกันเพิ่มนวัตกรรมการผลิตให้ภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ ที่สำคัญสุด คือ การพัฒนาและปรับเปลี่ยนทักษะของคนให้ตรงกับความต้องการของตลาด
รัฐบาลและผู้ให้กู้ ช่วยครัวเรือนปลดนี้เดิม
ตรงนี้ มีหลายโครงการดำเนินการอยู่ สนับสนุนให้ดำเนินการขยายผลไปถึงการแก้หนี้นอกระบบ ช่วยลดหนี้เดิมให้ครัวเรือน ไม่ว่าจะด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้
หันหน้าเข้าหากัน แล้วช่วยกันแก้ปัญหาระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน ก่อนที่จะสายเกินแก้
อาจารย์แหม่ม
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
29 มิถุนายน 2565