รักษาการ รมว.ศึกษาฯ “คุณหญิงกัลยา” นำทัพ 6 ผู้บริหารหน่วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ ร่วมประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ มุ่งพัฒนาเด็กไทยเป็นพลเมืองโลกที่มีสมรรถนะสูงด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมเตรียมคัดเลือก 200 โรงเรียนต้นแบบและศูนย์ขยายผล เพื่อพัฒนาโรงเรียนกว่า 1,000 แห่ง ครูกว่า 10,000 คน และนักเรียนกว่า 100,000 คน ต่อปี
ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ มุ่งพัฒนาสมรรถนะนักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านกระบวนการของหลักสูตรและเครือข่ายการพัฒนาศักยภาพมหาวิทยาลัย โรงเรียน ครูผู้สอน และนักเรียน (Peer Learning Network) โดยมี 6 หน่วยงานร่วมแถลงเจตนารมณ์ ประกอบด้วย ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) รศ.ดร.วิวัฒน์ เรืองเลิศปัญญากุล ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (มวส.) ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ ดร.ปานสิริ พันธุ์สุวรรณ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ ในฐานะผู้แทนที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (ทปอ.มรภ.) และดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในวันนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนที่สำคัญในการผลักดันแนวนโยบายทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการจะพัฒนาประเทศให้พัฒนาและแข่งขันได้ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เป็นที่น่ายินดีที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบ ระยะเวลา 10 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2573) วงเงิน 9,619 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสมรรถนะนักเรียนทางด้าน วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยต่อยอดจากองค์ความรู้และความสำเร็จของการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาที่ผ่านมาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สพฐ. สสวท. มว. ทปอ. ทปอ.มรภ. และสถานศึกษา เพื่อขยายผลการพัฒนาผ่านกระบวนการของหลักสูตร และเครือข่ายการพัฒนาของสถานศึกษา ครูผู้สอน และนักเรียน ใช้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นฐานการพัฒนาคุณภาพชีวิต นำพาประเทศชาติเจริญก้าวหน้าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างมั่นคง มั่งคงและยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ กล่าวว่า สพฐ. ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนโครงการตลอด 10 ปี จะเริ่มต้นคัดเลือก 200 โรงเรียน มาพัฒนาเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยแบ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา 100 โรงเรียน และโรงเรียนมัธยมศึกษา 100 โรงเรียน เพื่อให้บริการทางวิชาการแก่โรงเรียนเครือข่าย จำนวน 2,000 โรงเรียน ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา 1,000 โรงเรียน และโรงเรียนมัธยมศึกษา 1,000 โรงเรียน โดยแต่ละศูนย์ฝึกอบรมจะดูแล 10 โรงเรียนเครือข่าย ในการนี้ สพฐ.จะฝึกอบรมและพัฒนาครูในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ให้มีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรโครงการฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้นักเรียนที่มีความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีทุกคน ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพตามมาตรฐานโครงการ โดยจะมีนักเรียนในโครงการที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 234,000 คน สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 234,000 คน และสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 234,000 คน
ศ.ดร. ชูกิจ กล่าวว่า สสวท. มีบทบาทในการจัดทำมาตรฐานและหลักสูตรของโครงการฯ ในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น โดยอบรมและพัฒนาครูร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏและมหาวิทยาลัยเครือข่าย เพื่อพัฒนาครูผู้สอน พร้อมทั้งจะมีการวิจัยหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนรู้และการประเมินผลการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับสถานศึกษาในโครงการ ประกอบกับ มีการวิจัย บ่งชี้นักเรียนที่มีความสนใจพิเศษด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพเป็นรายบุคคล โดย สสวท.จะประสานความร่วมมือกับเครือข่าย เพื่อนำองค์ความรู้ด้านการพัฒนาหลักสูตร สื่อ และกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาครูและสะเต็มศึกษาสำหรับการเรียนรู้ฐานสมรรถนะในศตวรรษที่ 21 มาร่วมหนุนเสริมโครงการอย่างเป็นระบบ ซึ่ง สสวท. มีหลักสูตรวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีที่เน้นกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และกระบวนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์สำหรับนักเรียนทุกคน
ประกอบกับมีหลักสูตรสำหรับพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ฯ ทุกระดับชั้น พร้อมทั้งมีหลักสูตรอบรมครูที่หลากหลายรูปแบบ รวมทั้งมีระบบการอบรมครูผ่านออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับครูทุกคน และมีคลังเครื่องมือการวัดประเมินผลที่เทียบมาตรฐานสากล (PISA) และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย ที่พร้อมจะนำไปส่งเสริม สนับสนุนได้อย่างเหมาะสม เพียงพอและมีประสิทธิภาพสำหรับโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบต่อไป
ด้าน รศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จะใช้ประสบการณ์ตั้งแต่ปี 2556 ที่ทำงานร่วมกับโรงเรียนเครือข่าย มากกว่า 400 โรงเรียน ใน 73 จังหวัด ทั่วประเทศ ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาที่ผ่านมา โดยเน้นสามประเด็นหลักคือ 1. การสนับสนุนโรงเรียนในรูปแบบ Demand Side Driven เป็นลักษณะที่ให้โรงเรียนเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าต้องการให้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์อะไรหรืออบรมในหัวข้อใดบ้าง เพื่อสนองตอบความต้องการตามบริบทที่แตกต่างกัน 2. การสร้างเครือข่ายเรียนรู้ร่วมกัน (peer learning community) ภายในจังหวัด โดยการสร้างศูนย์ขยายผลองค์ความรู้ในแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นตัวเชื่อมครูในพื้นที่ในการเรียนรู้ร่วมกัน การพัฒนารูปแบบนี้จะมีความยั่งยืนกว่า เนื่องจากองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นเป็นความรู้ของทุกคน ในเครือข่าย ลดปัญหาที่เกิดจากการโยกย้ายหรือเกษียณอายุราชการ และ 3. การเน้นการวัดผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่ผลการเรียนรู้ของนักเรียน มิใช่จำนวนครูหรือชั่วโมงที่อบรม เพื่อให้แน่ใจว่าความรู้ที่ได้จากการอบรมหรือวัสดุอุปกรณ์ที่สนับสนุนนั้น ไปถึงนักเรียนอย่างแท้จริง
นอกจาก สพฐ. สสวท. และ มวส. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักแล้ว โครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบยังได้รับการสนับสนุนจาก ทปอ. ทปอ.มรภ. และ สวทช. อีกด้วย โดยทั้งสามหน่วยสนับสนุนจะช่วยกำกับและติดตามการใช้หลักสูตร ด้วยกระบวนการเครือข่ายชุมชนพัฒนาวิชาชีพ หรือ PLC อีกทั้งยังเป็นพี่เลี้ยงหรืออาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานแก่นักเรียนในโครงการ และให้คำปรึกษาแก่โรงเรียนเครือข่ายในการดำเนินกิจกรรมพัฒนานักเรียน รวมถึงการร่วมพัฒนาศักยภาพนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ทปอ.และ ทปอ.มรภ. จะส่งเสริมให้นิสิตหรือนักศึกษามีประสบการณ์สอนในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการและมีส่วนร่วมการกำกับและติดตามกระบวนการ PLC เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ในโครงการวิทยาศาสตร์พลังสิบด้วย
…………………………………………….