“กรมประมง” เดินหน้ากำจัด “ปลาหมอคางดำ” ให้สิ้นซาก ลุย! มาตรการขับเคลื่อนเร่งด่วน เผย ปัจจุบันกำจัดแล้วทั้งสิ้น มากกว่า 2 ล้านกิโลกรัม

กองบรรณาธิการ

Department of Fisheries Update : “กรมประมง” เดินหน้ากำจัด “ปลาหมอคางดำ” ให้สิ้นซาก ลุย! มาตรการขับเคลื่อนเร่งด่วน เผย ปัจจุบันกำจัดแล้วทั้งสิ้น มากกว่า 2 ล้านกิโลกรัม

จากนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการกำจัด “ปลาหมอคางดำ” ออกจากแหล่งน้ำอย่างเข้มข้น ทั้งจากแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรไทย ซึ่งกรมประมงได้เสนอแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 ประกอบด้วย 7 มาตรการ 15 กิจกรรม กรอบวงเงินงบประมาณ 450 ล้าน ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วลงมติที่เห็นชอบในหลักการการแก้ไขปัญหา และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ ส่งผลให้ขณะนี้ในหลายจังหวัดมีรายงานปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่กรมประมงได้ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วน ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยใช้กรอบระยะเวลาเพียงแค่ 7 เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 – 20 กันยายน 2567

เริ่มด้วยการ “เปิดปฏิบัติการ Kick off” โดย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ณ วัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) ตำบลบางหญ้าแพรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยมอบธงสัญลักษณ์พร้อมปล่อยขบวนเรือชาวประมงออกปฏิบัติการ 23 ลำในแม่น้ำท่าจีน และปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาว 60,000 ตัวพร้อมกันในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ – 31 กรกฎาคม 2567 สามารถกำจัดปลาหมอคางดำได้มากถึง 750,553 กิโลกรัม

“โครงการรับซื้อปลาหมอคางดำ โดยร่วมกับการยางแห่งประเทศไทย นำไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ” ตามมาตรฐานของกรมพัฒนาที่ดินเพื่อใช้ในสวนยางพาราของเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งมีจุดรับซื้อมากถึง 49 จุดในพื้นที่ที่มีการระบาดทั้ง 16 จังหวัด คือ จันทบุรี ระยอง ตราด ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี นนทบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรรมราช และสงขลา ซึ่งตลอดระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 สิงหาคม 2567 สามารถกำจัดปลาหมอคางดำได้มากถึง 581,436.5 กิโลกรัม

“โครงการรับซื้อปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนภายใต้งบประมาณกรมประมง” ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ 1 – 25 กันยายน 2567 ด้วยการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน ในการรับซื้อปลาหมอคางดำกิโลกรัมละ 20 บาท โดยในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม กรมประมงได้ประสาน บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด รับซื้อปลาหมอคางดำนำไปผลิตปลาป่นเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารสัตว์ ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีการแพร่ระบาด ได้เปิดรับสมัครแพปลาเข้าร่วมโครงการเพิ่มจากที่มีอยู่เดิม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการกำจัดปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ด้วยการอำนวยความสะดวกและกระจายจุดรับซื้อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้ปริมาณปลาหมอคางดำที่กำจัดได้มีมากถึง 1,007,103 กิโลกรัม

และ “การตัดวงจรชีวิตและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ” ด้วยกิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง กำจัดปลาหมอคางดำ” โดยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ในหลายจังหวัดได้จัดอย่างต่อเนื่อง เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครศรีธรรมราช เป็นต้น ทำให้ปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรเบาบางลง สามารถกำจัดได้รวมกว่า 28,668 กิโลกรัม

ผลจากความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ และเครือข่ายภาคเอกชนในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด ทำให้สามารถจับปลาหมอคางดำสะสม ตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 2567 – 20 ก.ย. 2567 รวมทั้งสิ้น 2,450,807.50 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อความชุกชุมของปลาหมอคางดำลดลง จึงดำเนินการปล่อย “พันธุ์ปลานักล่า” เพื่อตัดวงจรการเจริญเติบโตของลูกปลาหมอคางดำ ลดการแพร่ขยายพันธุ์ และคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ทรัพยากรในแหล่งน้ำ

“ปลานักล่ามีหลากหลายชนิด ความเหมาะสมในการปล่อยขึ้นอยู่กับภูมิประเทศและลักษณะการเป็นอยู่ เช่น ถ้าอยู่ในพื้นที่น้ำกร่อยก็ปล่อย ปลากะพงขาว ปลาอีกง ปลาดุกทะเล เป็นต้น ส่วนถ้าอยู่ในน้ำจืดก็ปล่อย ปลาช่อน ปลากราย เป็นต้น ซึ่งกรมประมงได้มีการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ ภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2570 อย่างเข้มข้น โดยมีเป้าหมายให้ปลาหมอคางดำอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และระบบนิเวศได้รับการฟื้นฟู” อธิบดีกรมประมง กล่าวย้ำ

จากการดำเนินการดังกล่าว แสดงให้เห็นแล้วว่า กรมประมง ตลอดจนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้ทอดทิ้งกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤติปลาหมอคางดำครั้งนี้ โดยพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อแก้ไข เยียวยา และบรรเทาปัญหา แต่สิ่งสำคัญ คือ เกษตรกรต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐ สร้างความร่วมมือร่วมใจหมั่นสำรวจทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร หากพบเห็นการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ให้รีบปฏิบัติตามหลักการ “เจอ แจ้ง จับ จบ” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการกำจัดตามหลักวิชาการอย่างถูกต้อง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

#กรมประมง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You May Like

Subscribe US Now