‘ธรรมนัส’ ลงพื้นที่นครสวรรค์ ติดตามแผนพัฒนาบึงบอระเพ็ดและการเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยแล้ง เอลนีโญ
รัฐมนตรีเกษตรฯ ลุยขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่บึงบอระเพ็ดด้วยตัวเอง เน้นย้ำต้องทำงานแบบบูรณาการ หวังเป็นแหล่งน้ำสำคัญในการเก็บกักน้ำในฤดูน้ำแล้ง และเป็นแหล่งหน่วงน้ำใช่ช่วงฤดูน้ำหลากก่อนไหลลงแม่น้ำสายหลัก
วันที่ 6 ตุลาคม 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามแผนพัฒนาบึงบอระเพ็ดและการเตรียมความพร้อมในการรับมือภัยแล้ง เอลนีโญ พร้อมพบปะราษฎรและรับฟังปัญหาด้านการเกษตร ณ บึงบอระเพ็ด ต.พระนอน อ.เมือง จ.นครสวรรค์
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้แนวทางการบริหารจัดการน้ำเพิ่มเติมว่าต้องการพัฒนาให้บึงบอระเพ็ดสามารถเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด โดยการเพิ่มพื้นที่ในการขุดลอกบึงบอระเพ็ดให้มากขึ้น รวมทั้งขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ ตามข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำในฤดูน้ำแล้ง และเป็นแหล่งหน่วงน้ำใช่ช่วงฤดูน้ำหลากก่อนไหลลงแม่น้ำสายหลัก โดยได้มีการประสานกับปลัดกระทรวงเกษตรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยแล้ว
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน มีแผนพัฒนาและฟื้นฟูบึงบอระเพ็ด ออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 บริหารจัดการ/การเข้าใช้ประโยชน์ ด้านที่ 2 การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ด้านที่ 3 คุณภาพตะกอน และรักษาระบบนิเวศ และด้านที่ 4 การจัดการน้ำท่วม บรรเทาอุทกภัย
“พื้นที่ดังกล่าวยังไม่เคยมีการพัฒนาอย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อยู่ในการดูแลซ้ำซ้อมกัน ระหว่างจังหวัดนครสวรรค์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงต้องการลงมาขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวด้วยตัวเองอย่างจริงจัง โดยเน้นย้ำว่าทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรและประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์มากที่สุด” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ได้แก่ปลาตะเพียนทอง ขนาด 7 ชม. จำนวน 200,000 ตัว กุ้งก้ามกราม ขนาด 2 – 3 ซม. ขนาด 200,000 ตัว ปลาตะเพียนวัยอ่อน 2,000,000 ตัว (ปล่อยแบบ mobile hatcherry) และปลาชะโอน ขนาด 5 – 10 ซม. จำนวน 500 ตัว พร้อมแจกเอกสารสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) จำนวน 20 รายด้วย