“กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ” บุกทำเนียบขอบคุณ “นายกฯ – รมว.เกษตร” แก้ปัญหาหมูเถื่อนเชิงรุก พร้อมยื่น 9 ข้อเสนอ “แก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์”

“กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ” บุกทำเนียบขอบคุณ “นายกฯ – รมว.เกษตร” แก้ปัญหาหมูเถื่อนเชิงรุก พร้อมยื่น 9 ข้อเสนอ “แก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์”

วันที่ 12 ธ.ค. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พร้อมด้วย 6 สมาคมวิชาชีพสัตวแพทย์ สัตวบาล เวชภัณฑ์ อาหารสัตว์ และผู้แปรรูปปศุสัตว์เพื่อการส่งออก และกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ได้รวมตัวกันเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ดำเนินการปราบปรามหมูเถื่อนอย่างจริงจัง รวมถึงมายื่นข้อเสนอ 9 ประเด็นที่ต้องให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การเลี้ยงสุกรสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ทั้งนี้ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตึกบัญชาการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางออกมารับหนังสือจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรด้วยตนเอง

พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายไชยา พรหมา และนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ นายเศรษฐา กล่าวว่า ขอบคุณเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทุกคนที่สละเวลามาให้กำลังใจ ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ที่ต้องแก้ไขเพราะเป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน 3-4 ปีแล้ว แต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาบริหารงานได้เพียงแค่ 3-4 เดือน ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้น “ขอให้เกษตรกรทุกคนอดทน เราจะมุ่งมั่นทำงานต่อไปไม่มีการปกปิด ไม่มีการเอื้ออำนวยให้กับใครทั้งสิ้น นอกจากการปราบหมูเถื่อน รัฐบาลได้มีการเตรียมเงินทุนและพันธุ์หมู ไว้สำหรับจัดการให้เกษตรกร กลับมาฟื้นฟูอาชีพที่สุจริตอีกครั้ง”

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า วันนี้ข้อเสนอที่เกษตรกรเสนอมา ตนได้มอบหมายให้นายไชยา รับเรื่องไปดำเนินการ และอยากให้ภาคเอกชนเข้ามาหารือที่กระทรวงเกษตรเพื่อหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน “ผมฝากท่านไชยา พรหมา ในฐานะกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยด่วนภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้เร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

ขณะที่ นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหาการลักลอบนำเข้า “หมูเถื่อน” เข้ามาแย่งตลาด สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับผู้เลี้ยงสุกรอย่างต่อเนื่อง และมากยิ่งขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีกระบวนทางกฎหมายในการปราบปรามผู้กระทำความผิด แต่ก็ยังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของไทย ที่ยังคงขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ซึ่งการเลี้ยงสุกรของไทยมีต้นทุนสูงกว่าต่างประเทศ

“สาเหตุที่ทำให้มีการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน คือ ปัญหาต้นทุนการผลิตสุกรของไทยที่สูงกว่า โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกากถั่วเหลือง รวมถึงวัตถุดิบอื่นที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ของไทยมีราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกอยู่มาก ซึ่งหากสามารถทบทวนมาตรการรัฐและกำกับดูแลราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เหมาะสมได้ จะช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตของภาคปศุสัตว์ได้เป็นอย่างมาก”

ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องการนำยื่นเสนอนายกฯ เพื่อขอให้สั่งการแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนของภาคปศุสัตว์ ประกอบด้วย

1) เร่งรัดดำเนินคดีผู้นำเข้าเนื้อสุกรผิดกฎหมาย

2) ขอให้เร่งรัดมาตรการทางการเงินให้เร็วขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่ประสบปัญหาขาดทุน-วิกฤตด้านราคาสุกรตกต่ำ

3) เนื่องจากสุกรเป็นสินค้าควบคุม ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ จึงขอให้มีการกำกับดูแลราคาสินค้าสุกรและสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มให้เกิดความเป็นธรรม สามารถปรับเพิ่มราคาขายได้ให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นได้

4) ขอให้ระงับการนำสินค้าสุกรเข้าไปอยู่ในกรอบการเจรจาเขตการค้าเสรี ไทย-สหภาพยุโรป (FTA Thai-EU) ตราบใดที่ภาคปศุสัตว์ของไทย ยังคงต้องแบกรับผลผลิตพืชอาหารสัตว์ในราคาที่สูงกว่าตลาดโลก

5) ห้ามการจำหน่ายสินค้าเนื้อสุกรสด ในช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะมีผลต่อคุณภาพของสินค้าในระหว่างการจัดส่งผ่านช่องทางการขนส่งทั่วไปที่ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม และไม่มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายซากสัตว์

6) ขอให้กำกับดูแลราคาสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เข้มงวดในการบังคับใช้ประกาศมาตรฐานการหักลดน้ำหนักเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีความชื้น ของกรมการค้าภายในเพื่อไม่ให้ผู้รวบรวมรับซื้อข้าวโพดท้องถิ่นกดราคารับซื้อจากเกษตรกรเกินความเป็นจริง รวมถึงให้มีการพิจารณาทบทวนวิธีการคำนวณหักน้ำหนักความชื้นให้เหมาะสมสอดคล้องกับปัจจุบันที่มีการปรับเปลี่ยนสายพันธุ์และรูปแบบการเพาะปลูก

7) ขอให้ยกเลิกมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน การกำหนดระยะเวลานำเข้าข้าวโพด AFTA และให้มีการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าแทน ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยมีราคาวัตถุดิบที่สูงกว่าทุกประเทศในโลก และพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ภาษีกากถั่วเหลือง 2%, ภาษีกากเบียร์(DDGS) 9% และภาษีปลาป่น 15% รวมถึงภาษีวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดอื่น เนื่องจากจะเป็นต้นทุนที่ส่งผ่านต่อมายังผู้เลี้ยงสัตว์

8) พิจารณาโครงสร้างราคากากถั่วเหลืองเมล็ดนำเข้าที่ขายภายในประเทศตามต้นทุนการผลิตจริง เนื่องจากมีการตั้งราคาอ้างอิงตลาดโลกโดยบวกค่าขนส่งและภาษีนำเข้า 2% ไปในราคาขาย ตราบใดที่การนำเข้ากากถั่วเหลืองยังคงมีภาษีนำเข้า 2% เท่ากับผู้ประกอบการที่ซื้อกากถั่วเหลืองในประเทศจะต้องเสียภาษีให้กับผู้ขายในประเทศไปโดยปริยาย ซึ่งที่ผ่านมามักจะได้รับการกล่าวอ้างว่ารายได้ส่วนนี้มีไว้เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคน้ำมันถั่วเหลืองในประเทศ เปรียบเสมือนเกษตรกรปศุสัตว์ต้องช่วยจ่ายค่าน้ำมันถั่วเหลืองให้ผู้บริโภคทั้งประเทศ

9) ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ที่ได้ที่มาตรฐาน GAP และส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยี GMO หรือ Gene Editing ที่จะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น เป็นการลดต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสายพันธุ์ที่ได้ผลผลิตสูงที่เหมาะสำหรับเป็นพืชอาหารสัตว์โดยตรง โดยภาคเอกชนยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการผลักดันอย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

"ธรรมนัส" เตรียมประชุม "แก้หนี้นอกระบบเกษตรกร" 14 ธ.ค.นี้ พร้อมเดินหน้าปราบ "หมูเถื่อน" ต่อเนื่อง ย้ำ "เอาจริง" จ่อสุ่มตรวจสินค้าทุกประเภท เชื่อ "คดี161ตู้" DSI สาวได้ถึงต้นตอ

“ธรรมนัส” เตรียมประชุม “แก้หนี้น […]

You May Like

Subscribe US Now