“วช.” เสริม เทคโนโลยีปลูกผักไฮโดรโพนิกส์ DRFT “มอ.” จุดประกายความรู้สู่ชุมชน
ปัจจุบัน การผลิตผักในดินมีข้อจำกัดและอุปสรรคอย่างมากสำหรับเกษตรกร เนื่องจากไม่สามารถดำเนินการได้ตลอดทั้งปี และปัญหาคุณภาพดินที่ไม่เหมาะสม เช่น เป็นกรดจัด เป็นดินเค็ม มีโลหะหนักและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้าง มีธาตุอาหารในดินที่ไม่สมดุล เป็นต้น ตลอดจนปัญหาขาดแคลนน้ำและน้ำท่วม รวมทั้ง การเกิดโรคและแมลงศัตรูผัก ผักที่ผลิตได้มักมีค่าไนเทรตเกินมาตรฐาน ส่งผลให้ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผัก
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้ความร่วมมือกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้ทราบถึงปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นอย่างดี จึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเล็งเห็นว่างานวิจัยระบบการผลิตผักไฮโดรโพนิกส์แบบน้ำไหลเวียน DRFT มีความปลอดภัยตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ทั้งต่อผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ได้ผลผลิตที่ตรงความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ และความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานราก (Local economy) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่ประเทศไทย 4.0 วช. ในฐานะหน่วยงานให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ และส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ จึงได้ให้ทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยแก่โครงการนี้ ซึ่งผลการดำเนินงานได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมลงสู่ชุมชน
ด้าน รศ.ดร.อัจฉรา เพ็งหนู อาจารย์ประจำคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ เล่าว่า ระบบปลูกผักไฮโดรโพนิกส์แบบน้ำไหลเวียน หรือ Dynamic Root Floating Technique (DRFT) เป็นระบบที่มีการไหลเวียนสารละลายธาตุอาหารผ่านรากพืช มีวาล์วปรับระดับน้ำ และตัวปั๊มเพื่อเพิ่มออกซิเจน ใช้ค่าไฟเฉลี่ยเพียงวันละ 1 บาทเท่านั้น เหมาะสำหรับการปลูกผักได้ทุกชนิด ทีมนักวิจัยได้ออกแบบโครงสร้างและจัดทำชุดปลูกผัก จัดระบบการให้ธาตุอาหารในรูปสารละลาย 3 กลุ่ม คือ ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุ
การควบคุมศัตรูและโรคในพืชโดยใช้ชีวภัณฑ์บี-เวจจี้แบบขยาย เพื่อป้องกันและควบคุมโรครากเน่าและใบจุด การจัดการระบบผลิตผักตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว จึงปราศจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูผัก ผักที่ผลิตได้มีปริมาณไนเทรตไม่เกินค่ามาตรฐาน จึงได้นำเทคโนโลยีปลูกผักลงไปติดตั้งในพื้นที่ชุมชนทั้ง 9 จังหวัด 14 กลุ่ม ได้แก่ จังหวัดพัทลุง พิจิตร เชียงใหม่ พะเยา สุพรรณบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และกาฬสินธุ์ พร้อมให้ความรู้และติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในการติดต่อประสานงานกับแต่ละชุมชน
รศ.ดร.อัจฉรา ชี้ให้เห็นข้อดีว่า ระบบ ฯ นี้ไม่ต้องคอยพรวนดินและเสี่ยงรากพืชเสียหาย อีกทั้งมีการให้ธาตุอาหารที่เหมาะสมสมดุล จึงไม่ต้องวัดค่าความเข้มข้นของธาตุอาหารพืช (EC) ประหยัดน้ำเนื่องจากใช้ระบบน้ำหมุนเวียน ประหยัดเวลาและแรงงานในการจัดการดินปลูก และไม่ต้องคอยกำจัดวัชพืช โดยระบบฯ นี้ใช้เวลาพักแปลงเพียงแค่ 2 วัน เท่านั้น พืชเจริญเติบโตเร็ว ใช้เวลาปลูกเพียง 38 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้ในปริมาณที่มากกว่า และผักมีรสชาติอร่อยกว่า ซึ่งหากปลูกในดินจะใช้เวลา 45-55 วัน โครงสร้างการออกแบบของระบบฯ เอื้อให้ทำการเพาะปลูกได้สะดวกขึ้น เคลื่อนย้ายได้ เหมาะสำหรับสังคมสูงวัย และเกษตรกรยุคใหม่ อย่างไรก็ตาม ต้องใช้ความเอาใจใส่จากผู้ดูแลด้วย หมั่นจดบันทึก เพื่อเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตผักที่มีคุณภาพและปลอดภัยเองได้
โดยชุดปลูกแบบน้ำไหลเวียน DRFT มีโครงสร้างขนาด 1.2 x 3.4 เมตร คลุมโครงหลังคาด้วยพลาสติกขุ่น จากนั้นจึงติดตั้งระบบน้ำไหลเวียนของสารละลายธาตุอาหารผักโดยใช้เครื่องปั๊มน้ำ แช่ในถังพักสารละลาย แล้วต่อท่อสูบส่งไปเลี้ยงระบบ ไหลเวียนไปแต่ละร่องปลูกเพื่อให้ผ่านรากแต่ละต้น และระบายผ่านวาล์วรักษาระดับน้ำ กลับไปที่ถังพักสารละลายธาตุอาหารตลอดอายุการปลูก โดยขณะนี้ ได้จัดส่งชุดปลูกดังกล่าว พร้อมอุปกรณ์เพาะกล้า ถังเก็บสารละลายธาตุอาหาร ธาตุอาหารสำหรับผัก และเมล็ดพันธุ์ผัก เกษตรกรในหลายจังหวัด มีการต่อยอดและประสบผลสำเร็จเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากการนำผลผลิตที่ได้ไปมอบให้กับโรงพยาบาลสนาม การเพิ่มชุดปลูก การจำหน่ายผลผลิต รวมถึงการต่อยอดเพื่อปลูกพืชผักและสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกด้วย