“นายกฯ” เผย แก้ปัญหาหนี้นอกระบบแล้ว 57 % ลดลง 670 ล้านบาท ลั่น! แก้หนี้ทั้งระบบต้อง “จบ” ในรัฐบาลนี้

“นายกฯ” เผย แก้ปัญหาหนี้นอกระบบแล้ว 57 % ลดลง 670 ล้านบาท ลั่น! แก้หนี้ทั้งระบบต้อง “จบ” ในรัฐบาลนี้

วันที่ 12 ก.พ. 2567 เวลา 11.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งโต๊ะแถลงความคืบหน้าผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ โดยมีผู้ร่วมแถลง ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายกฤษณะ จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี, นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง, นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

นายเศรษฐา กล่าวถึงความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2566 – 31 ม.ค. 2567 ยอดลงทะเบียนทั้งหมด 140,000 ราย ทำการไกล่เกลี่ยแล้ว 12,000 ราย คิดเป็น 57 % ของจำนวนที่เข้าสู่กระบวนการ และผลจากการไกล่เกลี่ย ทำให้มูลค่าหนี้ลดลง 670 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย เร่งไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ รวมทั้งจัดกิจกรรม “ตลาดนัดแก้หนี้” และมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดการกับเจ้าหน้าหนี้ที่มีพฤติกรรมข่มขู่ ซึ่งได้ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดแล้ว 1,300 ราย ขณะเดียวกัน ให้กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ลูกหนีที่ผ่านการไกล่เกลี่ยแล้ว นอกจากนี้ ยังให้ กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พัฒนาฝีมือแรงงาน หาอาชีพ และสร้างรายได้เพิ่มให้ประชาชน 

ส่วนหนี้ในระบบ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 กลุ่มนี้ได้รับการช่วยเหลือโดยปิดบัญชีหนี้เสียแล้วมากกว่า 630,000 บัญชี มูลหนี้กว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ลูกหนี้กลับมามีสถานะปกติในระบบเครดิตบูโร และสามารถกลับเข้าสู่ระบบการเงินได้ อีกทั้งยังมีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ SMEs แล้วมากกว่า 10,000 ราย มูลหนี้กว่า 5,000 ล้านบาท

กลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ ซึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีหนังสือขอความร่วมมือให้สหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่ควรเกินร้อยละ 4.75 ซึ่งมีสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 80 แห่ง ทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาแล้ว คาดว่าการลดดอกเบี้ยดังกล่าว จะสามารถช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ได้กว่า 3,000,000 ราย นอกจากนี้ ลูกหนี้บัตรเครดิต ได้เข้าร่วมปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้แล้วมากกว่า 150,000 บัญชี 

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งมีเกษตรกรได้รับการพักชำระหนี้แล้วมากกว่า 1,800,000 ราย มูลค่าหนี้รวมกว่า 250,000 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ได้เข้ามาติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วมากกว่า 600,000 ราย 

และกลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่มีหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีหลักเกณฑ์การร่วมทุน ระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทบริหารสินทรัพย์แล้ว และจะขยายหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 

ทั้งนี้ ธนาคารออมสินอยู่ระหว่างเจรจาผู้ร่วมทุน เพื่อเตรียมจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2567 เมื่อการจัดตั้งแล้วเสร็จ ลูกหนี้กลุ่มนี้จะสามารถโอนขายไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้การช่วยเหลือแบบผ่อนปรนต่อไป 

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ยังกล่าวว่า 2 เดือนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการทำงานของทุกหน่วยงาน และความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่ต้องการให้ประชาชนหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ รวมทั้งเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อให้ปัญหาถูกแก้ไขได้อย่างตรงจุดและทันท่วงที

“ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันแก้ไขปัญหา และขอเป็นกำลังใจให้ร่วมมือกันช่วยประชาชนต่อไป และขอให้ความเชื่อมั่นว่า การแก้ปัญหาหนี้สินของรัฐบาลจะทำได้ทั่วถึง และจะแก้หนี้ทั้งระบบให้จบในรัฐบาลนี้ให้ได้” นายเศรษฐา กล่าว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

"ผบ.ตร." ยํ้า ตํารวจไม่นิ่งเฉย ขอเวลา 2 วันรวมหลักฐานเอาผิด "กลุ่มทะลุวัง" จ่อ "ขอถอนประกัน" เชื่อ "มีขบวนการหนุนหลัง" เบื้องต้นรายงาน "นายกฯ" ทราบแล้ว 

“ผบ.ตร.” ยํ้า ตํารวจไม่นิ่งเฉย ขอเวลา […]

You May Like

Subscribe US Now