FA-DPU เผยภาพ Panorama ความสำเร็จในยุคทองของศิลปะ 2024 มืออาชีพต้อง Re-Up Skills “ทักษะพื้นฐาน” หลังทุกคนเข้าถึง AI
อาจารย์ธนิต จึงดำรงกิจ อาจารย์ประจำวิชาเอกการออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (FA-DPU) เผย มืออาชีพสายศิลปะต้อง Re-Up Skills “ทักษะพื้นฐาน” เพื่อสอดประสานรับ “ยุคศิลปะ” เฟื่องฟู หลังทุกคนเข้าถึงเทคโนโลยี AI ช่วยลดการทำงานยิบย่อยและต่อเติมจินตนาการ คนเริ่มที่จะโหยหา ‘ความเป็นเอกลักษณ์’ จาก 2 มือที่ผสานคุณค่าและความงาม
โดยบทบาทของ Generative AI ในยุคปัจจุบันช่วยให้ผู้ออกแบบภายในสร้างแนวคิด จัดเรียงพื้นที่ การสร้างภาพประกอบ (mood board) ของพื้นที่ต่างๆ ที่ผู้ใช้ต้องการ เช่น การจัดเรียงพื้นที่มุมองศา การเลือกสีหรือวัสดุ เฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสม ฯลฯ สำหรับการเสนอผลงานของตนได้อย่างน่าประทับใจ โดยที่ไม่ได้แทนที่ความคิดสร้างสรรค์ของผู้ออกหรือสร้างสรรค์งานศิลป์ เปิดโอกาสในการสร้างอาชีพจากการใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองจากการผสมผสานระหว่าง Creative Economy และ Digital Economy
นอกจากนี้เครื่องมือ AI ยังมอบโอกาสอันยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะกับ “นักออกแบบตกแต่งภายใน” สำหรับการใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยี เพราะประหยัดต้นทุน ย่นระยะเวลาในด้านกระบวนการร่างแบบให้เป็นไปได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีขึ้นของลูกค้าจากการปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ ทำให้นักออกแบบสามารถโฟกัสกับส่วนด้านอื่นๆ ได้ทดลองกับข้อจำกัด และพารามิเตอร์การออกแบบต่างๆ ที่สามารถปรับปรุงความคิดสร้างสรรค์ด้วยแนวคิดการออกแบบได้มากขึ้น
“นวัตกรรมเมื่อแรกมีจะโดดเด่นเสมอ แต่พอถึงเวลาๆ หนึ่งที่ทุกคนใช้ได้ นวัตกรรมจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงได้ และเข้าสู่วงจร Standard Basic ความหวือหวาก็จะหายไปและถูกแทนดีด้วยการผสมผสาน การนำเอาเทคโนโลยีไปผนวกกับงานของตัวเอง เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าที่มากขึ้น” อาจารย์ธนิต จึงดำรงกิจ อาจารย์ประจำวิชาเอกการออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ระบุ
อาจารย์ธนิต บอกต่อว่า รายงานการวิจัย Generative AI in design market ระบุว่า ตลาด Generative AI ในอุตสาหกรรมการออกแบบ รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบภายใน การออกแบบเสื้อผ้า การออกแบบกราฟิก และสถาปัตยกรรม ฯลฯ โดยคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นไปจนถึง 6,054.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้อัตราการเติบโตของแอปพลิเคชัน AI ทางด้านศิลปะยังจะรวดเร็ว โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 34 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2023 จนถึงปี 2032 ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสความก้าวหน้าให้กับคนในสายงานนี้ เนื่องจากคนโหยหา ‘ความเป็นเอกลักษณ์’ ผ่าน 2 มือและการผสานความงามและคุณค่า ถึงแม้สิ่งที่สร้างหรือผลิตขึ้นนั้นจะเป็นสิ่งที่เหมือนกันก็ตาม
“แนวโน้มในอนาคตบทบาท AI ทางด้านศิลปะมันสามารถจะไปถึงขั้นแค่มีสมาร์ตโฟน 1 เครื่อง กดถ่ายรูปกล่องกระดาษเปล่า 1 ใบ คนสายงานกราฟิกก็สามารถสร้างรูปภาพกราฟิกได้แบบที่ไม่ต้องเริ่มกระบวนการหา Reference ในหนังสือหรืออินเทอร์เน็ต และไปนั่ง Painting เลยด้วยซ้ำ ซึ่งจะทำให้ตัวของมันเองเปลี่ยนจากคำว่า ‘นวัตกรรม’ เข้าสู่คำว่า ‘เทคโนโลยี’ ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และเป็นมาตรฐานของคนทั่วโลก คล้ายกับเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ยุคช่วงรอยต่อระหว่าง Analogมาเป็น Digital ในตอนนั้นทุกคนทำมือหมด ความนิยมในงานแขนงนี้ก็จะนิ่งๆ เน้นการแข่งขันกันด้วยคุณภาพของผลงาน ใครละเอียดกว่ากัน หรือมีดีไซน์งานออกแบบที่ทำออกมาแล้วเป็นรูปธรรมแล้วสวยกว่ากัน เป็นไปตามกลไกอัตโนมัติปกติ”
จากสถานการณ์ ณ ตอนนี้อาจารย์ธนิต เสริมว่าสิ่งที่สำคัญของคนทำงานทางด้านศิลปะ คือ ‘การหาจุดร่วม’ ในการสอดประสานระหว่างทักษะและเทคโนโลยี โดยการ Re-skills และ Up-Skills ที่เป็น ‘พื้นฐาน’ ที่สามารถนำไปต่อยอดและรวมกันกับปัญญาประดิษฐ์ เช่น มัณฑนากร (Interior Designer) ก็ควรที่จะเน้นในเรื่องของการวาดเส้น เพื่อฝึกการควบคุมมือหรือการวางมุมมองของภาพให้เกิดความชำนาญ ซึ่งจะทำให้เรารู้กรอบขอบเขตที่ต้องการ เมื่อเราสั่งการโปรแกรมก็จะช่วยให้แม่นยำและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เป็นต้น
“เราเกิดมาเราวิ่งไม่ได้เราต้องฝึกเดินก่อนหรือฝึกตั้งไข่ เพราะฉะนั้นต่อให้เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดมาในยุคเทคโนโลยีที่ทันสมัย ก็ยังต้องฝึกสกิลพื้นฐาน แต่อาจจะไม่ต้องแอดวานซ์เท่าคนรุ่น Analog การมีพื้นฐานที่ดีจะส่งผลต่อความสามารถในการนำไปใช้กับเทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากกว่าใช้ล้วนๆ โดยเฉพาะงานศิลปะหรืองานออกแบบมันเป็นงานที่ต้องใช้จินตนาการและมันเกิดขึ้นได้แค่จากสมองของมนุษย์ เพราะเทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือ แต่เราเป็นคนใช้ ไม่ว่ายุคไหนคนทำงานต่างต้องปรับตัวและผสมผสาน”
อาจารย์ธนิต กล่าวว่า ในปี 2024 นอกจากจุดร่วมที่เหมาะสมที่ทุกคนต้องหาและปรับตัว ในเรื่องของ ‘เทรนด์งานดีไซน์’ ทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายในปีนี้จะเป็นงานแนว Modern Minimal Style ส่วนทางด้าน ‘เทรนด์สีและมูดแอนด์โทน’ ในปี 2024 จะเป็นแนวเฉดธรรมชาติ Earth Tone หรือ Muted Colors ได้แก่ สีขาว สีน้ำตาล สีครีม ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่นและผ่อนคลาย ตามเทคโนโลยีที่รวดเร็วที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้คนเกิดเป็นความต้องการที่เน้นเรื่องของความคุ้มค่า ประหยัดเรียบง่ายแต่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ ดังนั้นงานในสไตล์ที่จะนั่งดูดดื่มเสพงานศิลป์ งานออกแบบที่มีรายละเอียดที่ซับซ้อน เช่น งานแกะสลัก งานคลาสสิกสไตล์หลุยส์ จะไม่ค่อยมีให้เห็นสักเท่าไหร่ หรือถ้าจะมีก็จะต้องมีการนำความเป็นโมเดิร์นเข้ามาผนวกสไตล์นั้นๆ เป็นต้นอย่าง Modern Classic Style
โดยอาจารย์ธนิตได้ให้ ‘Guidebook’ นำทางสำหรับคนที่เพิ่งทำงานในวงการนี้หรือนักศึกษาที่กำลังเรียนจบและก้าวเข้าสู่โลกของศิลปะ เพื่อง่ายต่อการติดตามอัปเดตข้อมูลข่าวสารให้ได้อย่างถูกต้องน่าเชื่อถือ เช่น สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไทย, สภาสถาปนิก และThailand Interior Designers’ Association หรือ TIDA หรือสะกดรอยไปทาง
1.โดยตรงจากเว็บไซต์ผู้ผลิต Hard-Soft ware นั้นๆ เพราะเป็นแหล่งโดยตรงที่รู้จริงและรู้ลึก อาทิ autodesk.com, asean.autodesk.com, enscape3d.com
2.เมื่อได้โปรแกรมหรือแพลตฟอร์มที่ตนสนใจให้เสิร์ช Youtube หาเทคนิคและทริคต่างๆ รวมไปถึงวิธีใช้งานที่ทางยูทูบเบอร์ทำตามให้ดูเป็นต้นแบบ จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและง่ายต่อการจดจำเพราะมักจะมีวิธีลัดหรือคีย์ลัดสอน
3.เกาะติดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกลุ่มเพจต่างๆ เช่น 3DsMax VRay, Enscape Thailand, samai sketchup บอกเล่าประสบการณ์
อย่างไรก็ตามเมื่อได้เครื่องมือที่ช่วยในการทำงาน อาจารย์ธนิตย้ำว่า ให้ระมัดระวังและตระหนักในเรื่องของ ‘ลิขสิทธิ์’ เมื่อเราเลือกใช้แพลตฟอร์ม AI ตัวใดตัวหนึ่งในการช่วยทำงาน โดยเฉพาะงานเชิงพาณิชย์ ให้อ่านให้รอบคอบทุกครั้ง เนื่องจากบางครั้งในเว็บไซต์หรือว่าทางแพลตฟอร์มจะมีข้อกำหนด (Demark) ระบุไว้ว่า การใช้งานฟรี สิทธิ์ของผลงานที่เกิดขึ้นจะตกเป็นของผู้ผลิตเท่านั้น จะยกเว้นสิทธิ์เป็นของผู้ใช้ก็ต่อเมื่อเสียเงินในการใช้บริการ
“กระบวนการง่ายที่สุดก็คือจ่ายเงิน เพราะตอนนี้เทคโนโลยีมันไปเร็วกว่ากฎหมายมาก จึงยังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจนในเรื่องของลิขสิทธิ์ในส่วนนี้ ในต่างประเทศก็ยังเป็นข้อพิพาทกันอยู่หลายเคส ซึ่งหลายฝ่ายก็กำลังถกเถียงและหาข้อสรุป ซึ่งในเมืองไทยในสายงานออกแบบภายในเราเอง ทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ คณะกรรมการและผู้ใหญ่ก็หารือในเรื่องนี้ แต่ยังไม่เคาะสรุปแบบเดียวกับที่เมืองนอก ต่างประเทศก็ยังไม่สามารถสรุปออกกฎหมายด้านการใช้ AI ได้อย่างชัดเจน ต้องอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งในระหว่างนี้หากเราใช้งาน AI ทางที่ดีที่สุดคือจ่ายเงินชัวร์สุด”
อาจารย์ธนิต ทิ้งท้ายว่า ในยุคที่ทุกอย่างรวดเร็วและเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน สิ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่าการปรับตัวและก้าวตามเทคโนโลยีคือ ‘การฝึกใฝ่รู้และอดทน’ ที่ก่อให้เกิดการสร้างทัศนคติด้านการเรียนรู้ที่เรียกว่า Growth Mindset ซึ่งจะช่วยให้เราเรียนรู้และสร้างทักษะใหม่ได้รวดเร็วขึ้น
“ไม่ว่าจะเป็นการฝนด้วยทักษะมือ หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ต่างๆ พวก Prompt คำสั่ง AI ทุกอย่างต้องฝึก และการจะฝึกฝนได้มันจะต้องมาพร้อมกับความอดทน ซึ่งเมื่อไหร่ที่เราอยากรู้อะไรสักอย่างจริงๆ คุณจะอดทนอยู่กับมันและมันก็จะมุ่งมั่นโดยอัตโนมัติ ก็อยากจะฝากในส่วนนี้สำหรับนักศึกษาและคนที่เริ่มทำงานศิลปะ ทุกอย่างมันมี 2 ด้าน อยู่ที่เราจะเลือกหยิบจับในส่วนไหนเข้ามาปรับใช้กับตัวเรา”
“ในอนาคตมันจะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับเรามากมาย อย่างในตอนนี้ที่ผมทำช่อง ชื่อ ‘อ.เบียร์ teaching’ ช่วงโควิด-19 ที่ทุกคนต้อง Social Distancing มันก็ทำให้ผมได้เห็นมุมมองย้อนกลับไปสมัยที่ยังเด็ก บางครั้งเราอยากหาคำตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่หาแล้วไม่มีใครหรือหนังสือเล่มไหนระบุเลย ก็กลายมาเป็นไอเดียที่ทำให้ขยายจากบทเรียนสู่การสร้างเนื้อหาแนวบันทึกเทคนิคและทริคต่างๆ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางศิลปะ ที่เด็กสามารถดูได้ตลอดเวลาที่อยากจะรู้หรือเมื่อจำเป็นจะต้องใช้ หรืออย่างล่าสุดทางคณะฯ จัดทำช่อง Podcast ชื่อ ‘คุยอะไรกัน…นะ’ ขึ้น”
“ยุคนี้ต้องเน้น ‘ทักษะที่ดีควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย’ สโลแกนส่วนตัวของผมที่สอดคล้องกับทางคณะฯ และ DNA ทางมหาวิทยาลัย DPU เราสอนแบบบูรณาการและเน้นการเรียนเชิงปฏิบัติกว่า 80% เพราะทักษะต่างๆ ในศาสตร์นี้ต้องฝึกลงมือ ลองทำผิด-ถูก ทำๆ ถึงจะเกิดความชำนาญ และเมื่อทักษะดีและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว ก็ต้องมีความรู้ในเชิงธุรกิจเพื่อสร้างเป็นงานและอาชีพที่มั่นคง” อาจารย์ธนิต กล่าว
#คณะศิลปกรรมศาสตร์ #มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ #FADPU #GenerativeAI #ยุคทองของศิลปะ2024 #ข่าวศิลปะ #ข่าวการศึกษา #MissionThailand