TCMA นำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ร่วมขับเคลื่อน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ พลิกโฉมสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ด้านการจัดการของเสีย
จังหวัดสระบุรี รวมพลัง 18 หน่วยงาน ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย และสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ด้านการจัดการของเสีย “PPP-Saraburi Sandbox : Waste to Value” นำร่อง 10 ต้นแบบธนาคารขยะ จุดพลุทุกฝ่ายคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี สร้างคุณค่าจากวัสดุเหลือใช้ คว้าโอกาส 3 ต่อ ชุมชนมีรายได้ ลดปริมาณขยะ ลดวิกฤตโลกร้อน ดัน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์’ บรรลุผลด้านการจัดการของเสีย
นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เปิดเผยว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างภาครัฐ องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย จำนวน 18 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 7 (สระบุรี) สำนักงานเกษตรจังหวัด สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) สภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ด้านการจัดการของเสีย “PPP-Saraburi Sandbox : Waste to Value” นับเป็นก้าวที่สำคัญของการดำเนินโครงการ “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” และเป็น 1 ใน 5 ด้านหลักในการพลิกโฉมจังหวัดสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำ
ความคืบหน้าของ “PPP-Saraburi Sandbox : Waste to Value” ที่เกิดจากความร่วมมือของจังหวัดสระบุรี กับ TCMA และภาคส่วนต่างๆ ในครั้งนี้ ดำเนินการไปอย่างเป็นรูปธรรมผ่านคณะทำงานที่จัดตั้งขึ้น พร้อมเปิดตัวต้นแบบธนาคารขยะ (Recyclable Waste Bank) ทั้ง 10 แห่ง เพื่อนำแนวทางการปฏิบัติของธนาคารขยะต้นแบบต่อยอดขยายผลต่อไป
ธนาคารขยะจะทำหน้าที่สนับสนุนให้ประชาชนคัดแยกขยะรีไซเคิลในครัวเรือน และสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้จัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ภายใต้หลักการ 3R คือ ใช้น้อย (Reduce) ใช้ซ้ำ (Re-use) และนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) รวมทั้งรณรงค์สร้างความรู้และความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมกันลดปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่ และคัดแยกขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่นำไปขายสร้างรายได้เข้าชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นการลดภาระงบประมาณการจัดเก็บและขนย้ายขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“จังหวัดสระบุรีมั่นใจว่า ถ้าทุกคนร่วมมือร่วมใจกัน ไม่มีอะไรที่ไม่สําเร็จ โดยกลไกสําคัญหลักมาจากภาคเอกชน ส่วนภาครัฐมีหน้าที่สนับสนุนให้ทุกอย่างสามารถดําเนินการต่อไปได้ โดย PPP-Saraburi Sandbox ในวันนี้ นับว่าประสบความสำเร็จด้านสร้างการรับรู้ จากความสนใจที่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาติดต่อขอเข้ามาดูงานอย่างต่อเนื่อง จึงอยากให้โมเดลนี้ขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป” นายบัญชา กล่าว
ด้าน ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า TCMA ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน “PPP-Saraburi Sandbox” ซึ่งเป็นการพัฒนารูปแบบความร่วมมือทำงาน
ในเชิงพื้นที่ (Area Base) ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันทำงาน และแก้ไขปัญหาร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดสระบุรีเปลี่ยนผ่านสู่เมืองคาร์บอนต่ำ รวมถึงด้านอุตสาหกรรมสีเขียว ด้านการจัดการของเสีย ด้านการเกษตรคาร์บอนต่ำ และด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ความร่วมมือ “PPP-Saraburi Sandbox : Waste to Value” เป็นแนวทางที่ TCMA ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แผนงานการสร้างระบบนิเวศน์สำหรับการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ที่เน้นการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วมาเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์พร้อมนำจุดแข็งด้านเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว
ด้วยการนำเข้าสู่กระบวนการเผาร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ (Co-Processing of Waste Materials in Cement Kiln) ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 1,450 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอีกวิธีการกำจัดของเสียแบบยั่งยืน ที่มีความปลอดภัย และดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ
“การจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ด้วยการนำมาเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทน เป็นการจัดการขยะที่ผ่านการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง นำมาเพิ่มมูลค่าใหม่ในรูปของผลิตภัณฑ์ หรือของใช้ ยกตัวอย่าง เช่น ฟางข้าว แกลบขี้เลื่อย ตอซังข้าวโพด สามารถนํามาใช้เป็นพลังงานได้หมด เรียกว่า Waste to Wealth หากมองในแง่บวก ของรอบๆ ตัวก็มีคุณค่าและสามารถแปรเป็นมูลค่าได้ เรียกว่า Turning Waste to Value ทั้งช่วยลดปัญหาขยะ และยังเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนที่จะนำไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ทั้งในระดับจังหวัด และระดับประเทศ” ดร.ชนะ กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อการร่วมเปลี่ยน “สระบุรี” ให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ TCMA ก็ได้ทำงานในอีกหลายโครงการควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานสะอาดเพื่อทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าแบบเดิมจากเชื้อเพลิงฟอสซิล “โครงการปลูกหญ้าเนเปียร์เป็นพืชพลังงาน” เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดให้อุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นการสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น “โครงการจัดการขยะเพื่อเปลี่ยนสภาพเป็นพลังงานทางเลือก (Alternative Fuels: AF) และเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF)” และ “โครงการศึกษาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน” โดยนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้ไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ (Carbon Capture Utilization: CCU) หรือกักเก็บอย่างถาวรใต้พื้นดิน (Carbon Capture Storage: CCS) เป็นต้น
ดร.ชนะ กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดการวัสดุไม่ใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการคัดแยกขยะต้นทาง 100% การบริหารจัดการขยะ การรวมกลุ่มพื้นที่ในการจัดการมูลฝอย (Cluster) การพัฒนาเทคโนโลยีแปรรูปของเสีย และการนำวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่ จะประสบความสำเร็จได้จากการร่วมแรงร่วมใจกันในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐ และเอกชน ซึ่งเป็นหัวใจของ “PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City” ที่พัฒนานวัตกรรมรูปแบบความร่วมมือทำงานในเชิงพื้นที่ (Area Base) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสระบุรีไปสู่เมืองคาร์บอนต่ำ ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม และบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593