กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมแปลงใหญ่ “กล้วยหอมทองปทุมธานี” มุ่งขับเคลื่อนด้วย “BCG Model” พร้อมยกระดับสู่การเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูง

กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมแปลงใหญ่ “กล้วยหอมทองปทุมธานี” มุ่งขับเคลื่อนด้วย “BCG Model” พร้อมยกระดับสู่การเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูง

วันที่ 30 มีนาคม 2567 ณ ตำบลนพรัตน์ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนวนิตย์ พลเคน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วม โดยการขับเคลื่อนงานระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้วยเศรษฐกิจแบบองค์รวม และกำลังพัฒนายกระดับสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ในโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง

สำหรับแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ ขับเคลื่อนงานภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม หรือ BCG Model เพื่อปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรสู่ 3 สูง ได้แก่ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง

ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) มีการจัดทำแปลงต้นแบบกล้วยหอมทองปทุมธานี ส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์กล้วยหอมเป็นสินค้ากล้วยหอมทองทอดกรอบ กล้วยหอมทองทอดสุญญากาศ เค้กกล้วยหอมทอง และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์

ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ส่งเสริมสนับสนุนการนำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตมาทำเป็นปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในแปลงปลูก ส่งเสริมและสนับสนุนการนำกาบกล้วยมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถุงรักษ์โลก กระถางชีวภาพ พัฒนาเป็นเส้นใยกล้วยเพื่อเป็นสิ่งทอ ประชาสัมพันธ์และจัดทำแหล่งเรียนรู้/แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ส่งเสริมให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP และ GI มีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดทั้งในกระบวนการผลิตและการแปรรูป การประชาสัมพันธ์การบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัย สินค้าเกษตรอัตลักษณ์ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงเกษตร

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรฯ ได้ส่งเสริมการทำเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่ตั้งแต่ปี 2564 โดยผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองในพื้นที่รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ มีการทำแผนและปฏิทินร่วมกัน เพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นตลาด ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนการผลิต (ค่าแรงงาน ค่าวัสดุ ค่าเช่าที่ดิน และรายจ่ายอื่นๆ) จากเดิมมีการลงทุนการผลิต ซึ่งมีรายจ่ายโดยรวมประมาณ 41,042 บาทต่อไร่ สามารถลดต้นทุนการผลิต เหลือ 35,142 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 15 จากการลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต เพาะหน่อพันธุ์ดีไว้ใช้เอง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ลดการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและช่วยเพิ่มผลผลิตจากเดิม 4,000 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 5,000 กิโลกรัมต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 20 สร้างรายได้เพิ่มจากเดิม 8,458 บาทต่อไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 14,858 บาทต่อไร่ คิดเป็นร้อยละ 60 จากการดูแลรักษาตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก เลือกต้นพันธุ์คุณภาพ นอกจากนี้ จากภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ปัจจุบันมีเกษตรกรสมาชิก 23 ราย พื้นที่ปลูกรวม 800 ไร่ สมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิต GAP แล้วจำนวน 13 ราย พื้นที่ 542 ไร่ และมีสมาชิกได้การรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI “กล้วยหอมทองปทุม” จำนวน 21 ราย พื้นที่ 1,203 ไร่ โดยกลุ่มมีแผนที่จะพัฒนาให้เกษตรกรในกลุ่มแปลงใหญ่ทุกคนได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งหมด

ด้านนายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า สำหรับการพัฒนายกระดับแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์สู่การเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ได้มอบหมายให้มีการศึกษาวิเคราะห์ Pain point ที่เกิดขึ้น พบว่า 1) กระบวนการผลิตมีผลผลิตเสียหายร้อยละ 20 2) สมาชิกได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ร้อยละ 50 3) ผลผลิตตกเกรด ร้อยละ 30 และ 4 ) ผลิตภัณฑ์แปรรูปยังไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน

สำหรับแนวทางแก้ไข ประกอบด้วย 1) ปรับปรุงบำรุงดินปลูกพืชหมุนเวียน ทำกล้วยหอมต้นเตี้ยเพื่อลดความเสี่ยงจากวาตภัย 2) พัฒนากระบวนการผลิตเพื่อรับรองมาตรฐาน 3) ส่งเสริมการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า (กล้วยนอกกรอบ) พัฒนาความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของตลาด และ 4) ถ่ายทอดความรู้และข้อปฏิบัติการเข้าสู่มาตรฐาน ดำเนินการผลิตตามมาตรฐาน อย. และขอตรวจรับรองมาตรฐาน อย. โดยแนวทางการแก้ไขทั้งหมดกรมส่งเสริมการเกษตรมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

ทั้งนี้ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทอง จำนวน 8,585 ไร่ เฉพาะในตำบลนพรัตน์มีพื้นที่ปลูกทั้งหมด 3,183 ไร่ (ข้อมูล ณ เดือน มี.ค. 2567) เฉลี่ยปลูก 300 ต้นต่อไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 250 เครือต่อไร่ หรือ 5,000 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาขายเฉลี่ยทั้งปี 201.66 บาทต่อเครือ (กล้วยหอมทอง 1 เครือ ประกอบด้วยกล้วย 7 – 8 หวี น้ำหนักเฉลี่ยต่อเครือ 19 – 20 กิโลกรัม) โดยปัจจัยที่ทำให้กลุ่มแปลงใหญ่กล้วยหอมทองตำบลนพรัตน์ประสบความสำเร็จ เกิดจากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานรัฐและตัวเกษตรกรเองที่เปิดใจรับองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เกษตรกรมีทักษะ Learning Skills มีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล ประเมิณสถานการณ์ และคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาและสร้างไอเดียใหม่ ประกอบกับกล้วยหอมทองนพรัตน์ มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ ผลใหญ่ยาว เปลือกบาง ผิวนวล เนื้อเหนียวแน่น ผลดิบจะมีสีเขียวนวล เมื่อสุกจะมีสีทองนวล รสชาติหวานหอม จนได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 สินค้าจึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

#ธรรมนัสพรหมเผ่า #รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ #กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ #กล้วยหอมทองปทุมธานี #BCGModel #สินค้าเกษตรมูลค่าสูง #ข่าวเกษตร #MissionThailand

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

"รมว.ธรรมนัส" ประธาน "พิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ 77 รูป" เนื่องในวันคล้าย "วันสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์" ครบรอบ 132 ปี

“รมว.ธรรมนัส” ประธาน “พิธีบรรพชา […]

You May Like

Subscribe US Now