“บ็อบบี้ & บัดดี้” สหาย 4 ขา จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) สอนใจและเติมพลังให้ “เด็กไทย” ฉลาดทางอารมณ์ พร้อมเป็นคนที่แข็งแรงทั้งใจกาย

“บ็อบบี้ & บัดดี้” สหาย 4 ขา จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) สอนใจและเติมพลังให้ “เด็กไทย” ฉลาดทางอารมณ์ พร้อมเป็นคนที่แข็งแรงทั้งใจกาย

รู้จักสื่อ Motion graphic “บ็อบบี้ & บัดดี้” สำหรับการเลี้ยงดูเด็กตามหลัก Pets and Children ของ “ปารณีย์ รัตนเณร” นักศึกษาสาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ วิชาเอกการออกแบบกราฟิก คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ที่ส่งเสริมให้เด็กๆ มีความฉลาดทางอารมณ์ เสริมสุขภาพจิตที่เข้มแข็งและสุขภาพดี ซึ่งจะเป็นหนึ่งฟันเฟืองเล็กๆ ที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเติบโตในอนาคต วันนี้เราจึงเดินทางมาพบกับผู้สร้าง “บ็อบบี้ & บัดดี้” สื่อ Motion graphic ที่พูดถึงอีกหนึ่งวิธีในการเลี้ยงเด็ก เพื่อร่วมหาทางออกปัญหานี้ด้วยความเชื่อมั่นที่เต็มเปี่ยมว่า แม้จะเป็นก้าวเล็กๆ และ ฟันเฟืองเล็กๆ แต่หากร่วมกันทำ ร่วมกันสร้างสรรค์ ก็เปรียบเสมือนเชือกที่มัดรวมกัน ยิ่งเยอะ ยิ่งมาก ยิ่งแข็งแกร่งกว่าเชือกเส้นเดียว 

ไขความเข้าใจผิด เติมมายด์เซ็ตเรียนไม่รู้จบ 

“ปารณีย์” นักศึกษาสาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ วิชาเอกการออกแบบกราฟิก คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ผู้หลงใหลเสน่ห์ทางด้านกราฟิกสำหรับสื่อเรื่องราว ระบุว่า ผลงานนี้เป็นผลงานธีสิสประเภทสื่อ Motion graphic โดยนำเสนอเรื่องราวของการเลี้ยงดูแบบ Pets and Children ที่ชื่อว่า “บัดดี้ & บ็อบบี้” ในระยะเวลา 2-3 นาที เพื่อสอนบอกวิธีการเลี้ยงสัตว์กับเด็ก ที่บ่งบอกประโยชน์ แก้ไขความเชื่อผิดๆ ของการเลี้ยงสัตว์กับเด็ก ผ่านการเล่าเรื่องในมุมมองของครอบครัวหนึ่งที่มีสัตว์เลี้ยงของเขาอยู่แล้ว และเมื่อมีลูกขึ้นมาก็มีการนำมาเลี้ยงร่วมกันอย่างมีความสุขทั้งกายและใจ 

“แรงบันดาลใจมาจากสื่อต่างชาติ โดยเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์และเน็ตไอดอล ที่มีการเลี้ยงลูกกับสัตว์กันเยอะ โดยที่มันเป็นอะไรที่นอกจากน่ารักแล้ว ยังดีต่อพัฒนาการเด็กอีกด้วย” เธอกล่าว จุดเริ่มต้นของการเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่ส่งสารไปยังผู้คน 

เพราะสำหรับประเทศไทย Pets and Children ยังเป็นแนวทางการดูแลเด็กที่ใหม่ และสวนทางกับองค์ความรู้ที่มักมองว่า “ขนสัตว์” อย่าง สุนัขและแมว เป็นตัวการร้ายที่สร้างโรคภูมิแพ้สำหรับเด็ก “ถ้าค้นคว้าในอินเทอร์เน็ต ใครเลี้ยงลูกแบบนี้โดนดราม่าเพียบ” ขณะที่ ‘ความจริง’ สาเหตุหลักการป่วยเกิดจากหลากหลายสาเหตุมากกว่านั้น

โดยทั้งรายงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Yale University ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Human-Animal Bond Research Institute (HABRI) ระบุว่า ขนสัตว์มีขนาดที่ใหญ่เกินกว่า 0.5 ไมครอน ทำให้ไม่สามารถที่จะเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้การเลี้ยงด้วยวิธี Pets and Children ยังมีผลดีมากกว่าผลเสียอย่างที่กล่าวกันไว้ ได้แก่ 1.พัฒนาการทางด้านร่างกาย ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อมัดเล็กผ่านการเล่นและหยิบจับ 2.พัฒนาการด้านจิตใจ เด็กที่โตมากับสัตว์จะมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจสูง มีความอ่อนโยน มีจิตเมตตา ฯลฯ เพราะต้องคำนึงถึงแรงที่หยิบจับและเล่นกับสัตว์แบบทะนุถนอม ทำให้เติบโตมาด้วยสภาพจิตใจที่ดี อ่อนโยน และยังเกิดการเจ็บป่วยทางจิตได้ยากกว่าเด็กทั่วไป 3.ด้านสุขภาพ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการได้รับแบคทีเรียจากสัตว์เลี้ยงในปริมาณน้อย ช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ Antivirus ซึ่งส่งผลให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง

“วัตถุประสงค์ที่นอกจากทำให้เรื่องความเชื่อผิดๆ ได้รับการแก้ไขและหมดไป ปัจจุบันยุคสมัยมันเปลี่ยนผ่าน มีงานวิจัยมีความรู้ใหม่พิสูจน์เกิดขึ้น ถ้าเราปรับเปลี่ยนมายด์เซ็ดมองดู ตรงนี้ยังเป็นต้นแบบนำที่สามารถไปสู่การประยุกต์ใช้เรื่องอื่นๆ ได้ด้วย เช่น การป้อนกล้วยกับเด็กแรกเกิด เป็นปัญหาที่สร้างความขัดแย้งของคนในครอบครัวรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ บางบ้านเกลียดถึงขั้นไม่มองหน้ากันเลย จากครอบครัวที่อบอุ่นก็พัง”

“หรือในด้านธุรกิจ การที่เรามีความรู้ที่ถูกต้องขึ้นทำให้เรามีความเข้าใจกับสิ่งเหล่านั้นได้มากขึ้น สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาซัพพอร์ต เพราะทุกวันนี้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไม่มีที่ออกแบบมาคู่กัน จะเป็นของสัตว์ก็สัตว์ไปเลย ของเด็กก็เด็กไปเลย” 

ลดปัญหาทิ้งสัตว์ กระตุ้นสังคมรวมใจ

ถามว่าอะไรที่ทำให้เธอคิดถึงเพียงนี้ นอกจากนิสัยส่วนตัวที่ชื่นชอบและรักสัตว์ “ปารณีย์” บอกว่า การที่มาเรียนที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ทำให้เธอคำนึงและมองบริบทรอบข้างมากยิ่งขึ้น โดยตั้งแต่เรียนปี 1 จนกระทั่งจบ ได้ถูกถ่ายทอดและสอนให้คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา 

“นักศึกษาทุกคนต้องเรียนวิชา DPU Core และต้องทำโปรเจกต์ส่ง เสริมจากวิชาหลักเฉพาะในสาขา เวลาคิดหรือสร้างงานอาจารย์ก็จะเน้นให้สามารถนำไปต่อยอดในองค์กรได้ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่เน้นเรื่องของธุรกิจ ที่เปิดโลกผู้ประกอบการให้เราไปต่อยอดได้ อย่างในช่วง COVID-19 ได้เชิญวิทยากรมายกเคสธุรกิจที่เติบโต โดยที่หนึ่งในนั้นเป็นธุรกิจด้านสัตว์เลี้ยง ทำให้เรามองอะไรๆ ได้ลึก และ รอบด้านมากขึ้น”    

นอกจากนี้แรงกระตุ้นในการสร้างสรรค์ผลงาน คือ อยากช่วยลดปัญหาการทิ้งสัตว์เลี้ยงและปัญหาการทารุณสัตว์ ซึ่งในปัจจุบัน ยังมีผู้ที่ทิ้งสัตว์เลี้ยง หรือ พอมีบุตรก็เอาสัตว์เลี้ยงไปแยกขัง เพราะว่าเชื่อว่าการเลี้ยงสัตว์ร่วมกับเด็กไม่ดี

“วิธีการแก้ในทุกๆ เรื่อง หนูเชี่อว่าเราต้องใช้การร่วมมือกัน อยากให้ทุกคนหันมาลองมามองดู ปรับเปลี่ยนอะไรคนละเล็กละน้อยมันสามารถช่วยพัฒนาไปได้เรื่อยๆ เหมือนตอนแรกที่แค่สื่อเพื่อสร้างความเข้าใจ แต่หลังที่ได้ไปหาข้อมูล จากแค่ การเอ๊ะ ในเรื่องเด็กกับสัตว์ว่าจริงไหม มันต่อยอดไปได้ทั้งปรับมายด์เซ็ตแก้ไขประเด็นอื่นๆ ที่เข้าใจผิดในสังคม เกิดช่องทางในการทำธุรกิจใหม่ หรือการเพิ่มศักยภาพเด็กที่ในอนาคตจะมาพัฒนาประเทศ ตอนนี้หนูเลยกำลังพัฒนาผลงานและได้พูดคุยกับคลินิกสัตว์ที่ไปขอความรู้ เพื่อพัฒนาผลงานพร้อมกับนำไปเผยแพร่ให้ครอบคลุมรอบด้านยิ่งขึ้น”

เริ่มได้ตั้งแต่ 1-10 ปีแรก  

สำหรับวิธีการเลี้ยงดูแบบ Pets and Children ในกรณีที่ “มีสัตว์เลี้ยงอยู่แล้ว” สามารถเริ่มได้ตั้งแต่ “ขวบปีแรก” จะได้ประสิทธิภาพที่สุด เนื่องจากสมองและระบบประสาทอยู่ในช่วงของการพัฒนาและเรียนรู้อย่างรวดเร็ว ส่วนกรณี “ไม่มีสัตว์เลี้ยง” ควรเริ่มตั้งแต่ 10 ขวบขึ้นไป เพื่อให้สามารถควบคุมน้ำหนักมือของตัวเองได้ รู้จักยับยั้งชั่งใจ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในขั้นพื้นฐาน เพื่อช่วยลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นและช่วยลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการเล่นด้วยกันของทั้งเด็กและสัตว์เลี้ยง

“ถ้าเราเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว เริ่มต้นโดยการเช็คสัตว์เลี้ยงเชื่อฟังคำสั่งหรือไม่ มีนิสัยที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อเด็กไหม ถ้าสัตว์เลี้ยงสามารถเชื่อฟัง และมีนิสัยที่เข้าข่ายจะไม่นำไปสู่อันตราย จึงค่อยๆ ให้สัตว์เลี้ยงเข้าดมๆ กลิ่นก่อนเพื่อสร้างความคุ้นเคย และในระหว่างนั้นควรสอนเด็กให้รู้จักวิธีการปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงอย่างอ่อนโยนเช่นกัน เช่น ทำให้เขาดูว่าเราลูบยังไง ใช้น้ำหนักมือแบบไหน จนเมื่อมีความสนิทกันแล้วค่อยเริ่มให้อยู่ด้วยกันในระหว่างวัน แต่ในช่วงแรกเวลานอนยังควรแยกห้องนอน”  

ขณะที่ในกรณีเพิ่งรับ “สัตว์เลี้ยงมาใหม่” ควรเตรียมความพร้อมฝึกสัตว์เลี้ยงในระดับหนึ่ง สามารถที่เชื่อฟังคำสั่งง่ายๆ เช่น “นั่ง” “นอน” “มา” “หยุด” ถึงนำสัตว์เลี้ยงมาสร้างความคุ้นชิน โดยเริ่มจากการเข้าหาที่ละนิดๆ ให้สัตว์เลี้ยงเห็นก่อน ต่อมาให้ดมกลิ่น และดูท่าทีว่าเข้ากันได้หรือไม่ โดยที่เราจะไม่พยายามบังคับให้พวกเขาสนิทกันเร็วเกินไป

“ข้อควรระวังสัตว์เลี้ยงต้องฉีดวัคซีนให้เรียบร้อย มั่นใจว่าไม่มีโรค ไม่มีพาหะที่จะนำมาติดมาสู่เด็ก และต้องรักษาความสะอาดเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว จากที่ปกติต้องรักษาความสะอาดอยู่แล้ว ถ้านำมาเลี้ยงคู่กับเด็ก ต้องควบคุมความสะอาดอาบน้ำสัตว์ให้บ่อยขึ้น มีการตรวจเรื่องเห็บหมัดหรือไรฝุ่นตลอดเวลา ทำความสะอาดขนทุกวัน โดยเฉพาะขนของสัตว์เลี้ยงที่มีสารคัดหลั่งเหงื่อ สารคัดหลั่งจากสัตว์อาจทำให้เด็กระคายเคืองหรือมีอาการคันได้” 

“สุดท้ายสิ่งสำคัญสำหรับการเลี้ยงแบบนี้คือการให้ความรักของทั้ง 2 ฝั่งเท่าๆ กัน การให้ความรักที่ไม่เท่าเทียมอาจทำให้เขาเกิดความไม่ชอบ ความอิจฉา เปรียบเทียบว่าถ้าเกิดเราสนใจสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่า ขณะที่ในอดีตเราเคยสนใจเขามากกว่า นั่นก็อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในใจที่อาจนำไปสู่ปัญหาอันตรายอย่างการทำร้ายเด็กขึ้นได้เช่นกัน เพราะสำหรับสัตว์เขามองเราคือ “We Are Family” เป็นครอบครัวของเขา และเขาก็มีความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ได้แตกต่างไปจากคนเลย” ปารณีย์ กล่าวทิ้งท้าย

#ปารณีย์รัตนเณร

#นักศึกษาสาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์

#วิชาเอกการออกแบบกราฟิก

#มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

#DPU

#ข่าวการศึกษา

#MissionThailand

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่แพลตฟอร์มของ #MissionThailand

Website : www.missionthailand.online 

Facebook : https://www.facebook.com/missionthailandreport?mibextid=LQQJ4d

Twitter :MissionThaiNews https://twitter.com/missionthainews?s=11&t=T9tmQN1bTpc_SV-hRMDlpQ

Blockdit : https://www.blockdit.com/pages/64bf9411822b75481259c376

YouTube : https://youtube.com/@MissionThailandChannel?feature=sharea

TikTok : https://www.tiktok.com/@mission.thailand?_t=8eiqeeeBbgP&_r=1

lemon8 : https://s.lemon8-app.com/s/kyxscFmrQR

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เชื่อว่าเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาสามารถกลับเข้าสู่ระบบได้ หากรัฐบาลเอาจริงเอาจัง

  คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณ […]

You May Like

Subscribe US Now