กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมพัฒนาที่ดิน เปิดบ้านเกษตรวิชญา จัดงาน “ตามรอยปราชญ์แห่งการเกษตร ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2567
นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานที่ปรึกษาโครงการเกษตรวิชญา เป็นประธานเปิดงาน “ตามรอยปราชญ์แห่งการเกษตร ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
โดยมี ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกร หมอดินอาสา นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วม ณ โครงการเกษตรวิชญา ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการเกษตรวิชญา เป็นโครงการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาทพระบาท สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร โดยเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2544 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ ในพื้นที่หมู่บ้านกองแหะ หมู่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยราชการ สถานศึกษา และราษฎร จากเดิมสภาพพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าเสื่อมโทรม จากการดำเนินงานของหน่วยงานร่วมบูรณาการ จำนวน 16 หน่วยงาน ทำให้เกิดพื้นที่ป่าสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร สามารถอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และปลูกจิตสำนึกของชุมชนให้มีความรัก หวงแหน มีส่วนร่วมในการดูแลป่าซึ่งเป็นแหล่งผลิตอาหารตามธรรมชาติ ภายในพื้นที่โครงการ ได้จัดทำเป็นศูนย์สาธิตการเรียนรู้เกษตรบนพื้นที่สูง ศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน แปลงวิจัยพัฒนา แปลงสาธิตทดสอบด้านการเกษตรและพื้นที่จัดสรรให้เกษตรกรต้นแบบได้ทำกินบนเนื้อที่ 95 ไร่ ที่มีการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ฟื้นฟูปรับปรุงบำรุงดิน พัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาการผลิตที่พึ่งพาตนเองได้ เป็นตัวอย่างให้เกษตรกรในพื้นที่โดยรอบ ได้เรียนรู้การทำการเกษตรแบบพึ่งพาตนเองบนพื้นที่สูง ส่งผลให้เกษตรกรในโครงการมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากน้ำพระทัยและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ คณะกรรมการโครงการเกษตรวิชญา จึงเห็นสมควรให้ดำเนินการจัดงาน “ตามรอยปราชญ์แห่งการเกษตร ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน” เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ขึ้น โดยกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโครงการ ประกอบด้วย กิจกรรมเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้โครงการเกษตรวิชญา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกับเกษตรต้นแบบเกษตรวิชญา กิจกรรมบัญชีต้นกล้า กิจกรรมปลูกป่า การจัดทำฝายชะลอน้ำเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่พื้นที่ต้นน้ำ กิจกรรมเยี่ยมชมสวนพันธุ์ไม้เฉลิมพระเกียรติฯ กิจกรรมธนาคารอาหารชุมชน และกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาชุมชน
จากนั้นร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากนายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ให้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการขยายผลธนาคารอาหารชุมชน (เกษตรวิชญา) สู่ธนาคารอาหารครัวเรือน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาหกรอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ พื้นที่ธนาคารอาหารชุมชน โครงการเกษตรวิชญา ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เยี่ยมชมนิทรรศการ สืบสาน รักษา ต่อยอด และขยายผลธนาคารอาหารชุมชน (เกษตรวิชญา) สู่พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน รับชมวีดีทัศน์เรื่อง “การขยายผลธนาคารอาหารชุมชน (เกษตรวิชญา) สู่ธนาคารอาหารครัวเรือนในเขตเป็นรูปที่ดิน อีกทั้งยังมีการมอบกล่องปลุกความมั่นคงให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน 12 จังหวัด มอบพันธุ์ปลา และพันธุ์สัตว์น้ำจำนวน 72,000 ตัว เพื่อให้ชุมชนปล่อยสู่แหล่งน้ำในธนาคารอาหารชุมชน (เกษตรวิทยา) พร้อมทั้งร่วมปลูกต้นขนุนไพศาลทักษิณ และพืชอาหาร (กระเจียวพันธุ์เพชรน้ำผึ้ง) โดยได้ส่งมอบให้ชุมชนนำไปขยายผลสู่พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 24 กระถาง ต่อไป
“กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดิน เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลโครงการเกษตรวิชญา โดยสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 6 ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเกษตรวิชญา บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนโครงการฯ โดยดำเนินการสำรวจ วางแผนการใช้ที่ดิน พัฒนาที่ดินและแหล่งน้ำ เลือกพืชปลูกให้เหมาะสม พัฒนาคุณภาพดินในพื้นที่การเกษตร ให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการปลูกพืช เป็นแหล่งผลิตอาหารธรรมชาติ ควบคู่ไปกับการดูแลระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน สำหรับการจัดทำโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้อยู่ดีมีสุข
โดยเปิดให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ ได้เข้าเยี่ยมชมเรียนรู้พระราชกรณียกิจและพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการเกษตรอันเป็นประโยชน์ต่อพสกนิกรให้พ้นจากความยากจนสู่ความพออยู่ พอกิน มีความสุข และการทำการเกษตรบนพื้นที่สูงจนถึงสิ้นปี 2567 นี้” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว