“ธรรมนัส” เปิดตัว “พะเยาโมเดล” ต้นแบบวิถีธรรมชาติ ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการทำเกษตรมูลค่าสูงมุ่งสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างยั่งยืน
วันที่ 17 สิงหาคม 2567 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานนิทรรศการ “การพัฒนาการเกษตรพะเยาโมเดล กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต” โดยมี ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพะเยา ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา เพื่อส่งเสริมการ
ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร ด้วยการปรับเปลี่ยนการเกษตรจากรูปแบบเดิมไปสู่การทำเกษตรที่มีมูลค่าสูง มุ่งเน้นพัฒนาด้านการเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพการพัฒนาครอบคลุมทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ตามนโยบายตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ ของรัฐบาล
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการร่วมกับหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อน “พะเยาโมเดล” ให้เป็นต้นแบบการยกระดับสินค้าภาคการเกษตรในพื้นที่ให้มีมาตรฐานและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการตลาด สามารถสร้างรายได้ พร้อมพัฒนา
คุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรในจังหวัดพะเยาและพื้นที่ใกล้เคียง โดยส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง มีตลาดรับซื้อ อาทิ ปลายี่สกเทศ หอยมุก และกุ้งก้ามกราม เป็นต้น เพื่อยกระดับรายได้เกษตรกรให้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี ตามนโยบายรัฐบาล และสามารถนำแนวทางดังกล่าว ขยายผลต่อยอดไปสู่การบริหารจัดการสินค้าเกษตรในพื้นที่อื่น ควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนอีกด้วย
นอกจากนี้ นิทรรศการ “การพัฒนาการเกษตรพะเยาโมเดล กว๊านพะเยาแหล่งชีวิต” เป็นการจัดแสดงผลการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ร่วมขับเคลื่อน “พะเยาโมเดล” อาทิ 1นิทรรศการนำเสนอข้อมูลทรัพยากรสัตว์น้ำในกว๊านพะเยาแบบ Realtime โดยใช้ Platform ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พะเยาโมเดลด้านประมงในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 2) นิทรรศการโมเดลพืช สู่การเพิ่มรายได้ 3) นิทรรศการโครงการชลประทานพะเยา และ 4) นิทรรศการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพะเยา เป็นต้น ซึ่งนิทรรศการดังกล่าวสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา และผู้เข้าร่วมงานสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมของตนเอง ให้เกิดการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป