“กรมประมง” เร่งสำรวจความเสียหายอุทกภัยภาคเหนือตอนบน 4 จังหวัด สั่งเรือตรวจการประมงช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แนะ “เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ใน 11 จังหวัดพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเตรียมรับมือสถานการณ์!

“กรมประมง” เร่งสำรวจความเสียหายอุทกภัยภาคเหนือตอนบน 4 จังหวัด สั่งเรือตรวจการประมงช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย แนะ “เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” ใน 11 จังหวัดพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเตรียมรับมือสถานการณ์!

วันที่ 29 สิงหาคม 2567 นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 เป็นต้นมา จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แพร่ กรมประมงในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ประสบอุทกภัยและใกล้เคียง นำเรือตรวจการประมงเข้าพื้นที่ประสบอุทกภัยเพื่อบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที อาทิ ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดพิษณุโลกร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประมงจังหวัดแพร่ นำเรือตรวจประมงนเรศวร 04 ออกปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน โดยได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่อุทกภัย และลำเลียงผู้ป่วยส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่มูลนิธิในพื้นที่ตำบลในเวียง พร้อมทั้งนำอาหารและน้ำดื่มไปมอบให้กับประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

พร้อมทั้งเร่งสำรวจความเสียหายของเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ (ด้านการประมง) ในพื้นที่ 4 จังหวัด เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2567) พบพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้ว 34 อำเภอ เกษตรกร จำนวน 7,405 ราย พื้นที่ได้รับความเสียหาย 5,638.57 ไร่ ปริมาณการมูลค่าความเสียหาย 85,717,602 บาท วงเงินช่วยเหลือ 33,608,791.04 บาท ทั้งนี้ กรมประมงจะเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายและจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 โดยมีอัตราการให้ความช่วยเหลือ ดังนี้ 

1. กุ้งก้ามกราม กุ้งทะเล หรือหอยทะเล ไร่ละ 11,780 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ 

2. ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ นอกจากข้อ 1. ที่เลี้ยงในบ่อดิน นาข้าวหรือร่องสวน (คิดเฉพาะพื้นที่เลี้ยง) ไร่ละ 4,682 บาท ไม่เกินรายละ 5 ไร่ 

3. สัตว์น้ำตามข้อ 1. และข้อ 2. ที่เลี้ยงในกระชัง บ่อซีเมนต์ หรือที่เลี้ยงในลักษณะอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันตารางเมตรละ 368 บาท ไม่เกินรายละ 80 ตารางเมตร ทั้งนี้ หากคิดคำนวนพื้นที่เลี้ยงแล้ว ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบภัยพิบัติรายใด จะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงิน ต่ำกว่า 368 บาท ให้ช่วยเหลือในอัตรารายละ 368 บาท

นอกจากนี้ จากหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาฉบับที่ 5 กรมชลประทาน (วันที่ 27 สิงหาคม 2567) แจ้งเตือน 11 จังหวัด ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วย จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 11 จังหวัด เฝ้าติดตามและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด กรมประมงขอประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเตรียมการเฝ้าระวัง ป้องกัน และพร้อมรับมือกับสถานการณ์ โดยมีข้อแนะนำ ดังนี้ 

1. คำแนะนำสำหรับเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน

(1) ให้เกษตรกรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด

(2) ปรับปรุงคันบ่อ และเสริมคันบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้สูงกว่าปริมาณน้ำที่เคยท่วมในปีที่ผ่านมา

(3) จัดทำร่องระบายน้ำและขุดลอกตะกอนดินที่จะทำให้ร่องระบายน้ำตื้นเขินออก เพื่อให้น้ำไหลเข้าออกได้สะดวก

(4) ควบคุมการใช้นำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีปริมาณพอเหมาะหรือปริมาณ 2 ใน 3 ส่วนของน้ำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

(5) จัดเตรียมเครื่องเพิ่มออกซิเจนในน้ำไว้ให้พร้อมเพื่อใช้ในการดำเนินการช่วยสัตว์น้ำในบ่อ กรณีน้ำจากภายนอกไหลเข้าบ่อกะทันหัน

(6) จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น อวน เครื่องสูบน้ำ เครื่องเพิ่มออกซิเจน ยาปฏิชีวนะ สารเคมีไว้ให้พร้อม

(7) ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภคเพื่อเป็นการลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ เพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุด

(8) เตรียมปูนขาวไว้สำหรับปรับสภาพน้ำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหลังน้ำท่วมปริมาณ 50-60 กิโลกรัม/ไร่

(9) ตรวจสอบคุณภาพน้ำภายนอกหากจะนำน้ำภายนอกเข้าบ่อจะต้องแน่ใจว่าน้ำที่นำเข้าในบ่อมีสภาพปกติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันน้ำเสียเข้าบ่อ เช่น สังเกตสัตว์น้ำตามธรรมชาตินอกบ่อมีการว่ายน้ำปกติ ฯลฯ

(10) หลีกเลี่ยงการปล่อยสัตว์น้ำในขณะฝนตก

(11) วางแผนการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะสมกับฤดูกาล และสภาพพื้นที่เพื่อให้สามารถจับสัตว์น้ำก่อนการเกิดอุทกภัยหรือน้ำหลาก

2. คำแนะนำสำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์น้ำในกระชัง

(1) ให้เกษตรกรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด

(2) ทยอยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค เพื่อเป็นการลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ เพื่อลดความสูญเสียให้มากที่สุด

(3) ควรจัดวางกระชังให้มีระยะห่างกันพอสมควร เพื่อให้น้ำมีการหมุนเวียนถ่ายเทสะดวก (กระชังที่วางควรมีการจัดวางเป็นแถว และทำความสะอาดกระชัง เพื่อให้กระแสน้ำไหลผ่านกระชังได้ดี)

(4) ควรหมั่นตรวจสอบดูแลความคงทนแข็งแรงของกระชังอยู่เสมอ เปลี่ยนเนื้ออวนกระชัง และปิดด้านบนกระชังด้วยเนื้ออวน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์น้ำที่เลี้ยงออกจากกระชัง

(5) จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เครื่องเพิ่มออกซิเจนในน้ำ เนื้ออวน ยาปฏิชีวนะ วิตามิน และสารเคมี ตลอดจนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการจับสัตว์น้ำไว้ให้พร้อม

(6) สำหรับกระชังที่อยู่บริเวณแนวทางเดินของน้ำ ควรระมัดระวังในช่วงที่มีน้ำหลาก และควรเลื่อนกระชังออกจากบริเวณดังกล่าว เพราะอาจเกิดความเสียหายจากความแรงของน้ำหลากและสิ่งเจือปนที่มากับกระแสน้ำ

(7) วางแผนการเลี้ยงสัตว์น้ำให้เหมาะกับฤดูกาลเพื่อสามารถจับสัตว์น้ำได้ก่อนน้ำหลาก

ท้ายนี้ กรมประมงจะเร่งดำเนินการทุกมิติอย่างเต็มกำลัง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวประมง และหากเกษตรกรต้องการคำแนะนำสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานประมทงอำเภอ สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงในพื้นที่ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง กรมประมง โทร 02 558 0218 และ 02 561 4740

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

แม็คโคร-โลตัส เคียงข้างสังคมไทย ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

แม็คโคร-โลตัส เคียงข้างสังคมไทย ลงพื้นที่ช่วยเหลือ […]

You May Like

Subscribe US Now