ยูกะ ซาโสะ โปรสาวเชื้อสายจากฟิลิปปินส์ผงาดก้าวขึ้นครองแชมป์รายการยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น เมเจอร์ที่ 2 แห่งปี ที่ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยการเอาชนะ นาสะ ฮาทาโอกะ โปรสาวชาวญี่ปุ่นในการเล่นเพลย์ออฟตัดสิน หลังจากทั้งสองทำสกอร์เท่ากัน 4 อันเดอร์พาร์ 280 ซาโสะ สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นนักกอล์ฟจากฟิลิปปินส์คนแรกที่คว้าแชมป์รายการเมเจอร์ไม่ว่าหญิงหรือชาย ส่วน “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล อดีตแชมป์เมื่อปี 2018 จบลงอันดับ 7 ร่วมดีที่สุดนักกอล์ฟสาวไทย ในขณะที่ เล็กซี่ ธอมพ์สัน โปรสาวชาวอเมริกันผู้นำหลังวันที่สามนั้นพังใน 8 หลุมสุดท้ายจบลงอันดับ 3
การแข่งขันกอล์ฟยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น ครั้งที่ 76 ที่ดิ โอลิมปิก คลับ พาร์ 71 ชานนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 3-6 มิถุนายน 2564 ชิงเงินรางวัลรวม 5.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 170.5 ล้านบาท โดยทางยูเอสจีเอ อนุญาตให้แฟนกอล์ฟเข้าไปชมในสนามแบบจำกัดจำนวนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ผ่านไปสามวันแรก เล็กซี่ ธอมพ์สัน โปรสาวชาวอเมริกันนำเดี่ยววันสุดท้ายเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น ช่วงแรก เล็กซี่ ธอมพ์สัน ยังคงนำหลังจากทำเบอร์ดี้หลุม 1 โบกี้หลุม 2 และเบอร์ดี้หลุม 3 แต่หลังจากนั้นเธอไปพลาดใน 8 หลุมสุดท้ายเสียดับเบิ้ลโบกี้หลุม 11 และโบกี้หลุม 14,17 และ 18 สกอร์จบลงเกิน 4 โอเวอร์พาร์ 75 สกอร์รวมสี่วัน 3 อันเดอร์พาร์ 281 หล่นไปจบลงอันดับ 3
ยูกะ ซาโสะโปรสาวเชื้อสายญี่ปุ่นจากฟิลิปปินส์ผู้นำหลังสองวันแรก และตามหลังเล็กซี่ 1 สโตรกเมื่อจบรอบสามประเดิมไม่ดีในช่วง แรกเสียดับเบิ้ลโบกี้ 2 หลุมติดที่หลุม 2 และ 3 ได้เบอร์ดี้แรกในหลุม 7 แต่ก็ไปพลาดเสียโบกี้หลุม 11 ก่อนจะไปทำเบอร์ดี้หลุม 16 และ 17 สกอร์ รวมขึ้นไปเท่ากับ นาสะ ฮาทาโอกะ จากญี่ปุ่นที่เล่นจบลงไปแล้วสกอร์ 3 อันเดอร์พาร์ 68 และมีเล็กซี่ ธอมพ์สัน อีกคน และซาโสะ ทำพาร์ สกอร์ เกิน 2 โอเวอร์พาร์ 73 สกอร์รวม4 อันเดอร์พาร์ 280 เท่ากับ ฮาทาโอกะจึงต้องไปเล่นเพลย์ออฟ ส่วนเล็กซี่ พลาดเสียโบกี้หลุมสุดท้ายจึงทำให้พลาดโอกาสไปเล่นเพลย์ออฟตัดสินแชมป์
การเล่นเพลย์ออฟ 2 หลุมแบบสโตรกเพลย์โดยหลุมแรกที่หลุม 9 ระยะ 384 หลา พาร์ 4 ซึ่งทำพาร์ต่อมาหลุมที่สองใช้หลุม 18 ระยะ 314 หลา พาร์ 4 ต่างก็ทำพาร์สกอร์จึงเสมอกันที่อีเวนพาร์ 8 ต้องไปเล่นซัดเด้นเดธที่หลุม 9 ซึ่ง ซาโสะ ทำเบอร์ดี้ชนะไปคว้าแชมป์ไปครอง สร้างประวัติศาสตร์กลายเป็นนักกอล์ฟจากฟิลิปปินส์คนแรกที่คว้าแชมป์รายการเมเจอร์ไม่ว่าหญิงหรือชาย และเป็นนักกอล์ฟจากฟิลิปิปินส์คนที่สองที่คว้าแชมป์ในรายการของยูเอสจีเอต่อจาก แมรี่ ซูเพอรัล ที่คว้าแชมป์รายการยูเอส เกิร์ล จูเนียร์ เมื่อปี 2014
ซาโสะ เป็นแชมป์อายุน้อยที่สุดของรายการนี้ด้วยอายุ 19 ปี 11 เดือน 17 วัน เท่ากับ พัค อินบี โปรสาวจากเกาหลีใต้ซึ่งคว้าแชมป์ครั้งแรกของเธอเมื่อปี 2008
โปรสาวดีกรีเจ้าของ 2 เหรียญทองประเภทบุคคล และทีมกีฬากอล์ฟในกีฬาเอเชี่ยน เกมส์ ประเทศอินโดนีเซีย ปี 2018 เผยหลังการคว้าแชมป์ว่า “ก่อนอื่นฉันต้องขอบคุณครอบครัวของฉัน และสปอนเซอร์ของฉัน ตอนนี้ฉันไม่รู้ว่าที่ฟิลิปปินส์เป็นอย่างไรแต่ฉันก็อยากจะขอบคุณแฟนๆในฟิลิปปินส์ที่เชียร์ฉัน ไม่รู้ว่าจะขอบคุณพวกเราอย่างไรพวกเขาทำให้ฉันมีพลังในการต่อสู้ และอยากจะขอบคุณทุกๆคนค่ะ”
การคว้าแชมป์ของ ซาโสะ ครั้งนี้รับเงินรางวัลไป 1 ล้านดอลลาร์หรือราว 31 ล้านบาท และเธอจะได้รับสิทธิ์เล่นรายการยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น 10 ปี พร้อมกับได้รับสิทธิ์เล่นรายการวีเมนส์ บริติช โอเพ่น วีเมนส์ พีจีเอ แชมเปี้ยนชิพ เอวิยอง แชมเปี้ยนชิพ และเอเอ็นเอ อินสปิเรชั่น อีก 4 เมเจอร์ เป็นเวลา 5 ปี
ด้านนักกอล์ฟสมัครเล่นที่ทำผลงานดีที่สุดในการแข่งขัน เมกา กานเน นักกอล์ฟสาววัย 17 ปี ทำสกอร์ 6 โอเวอร์พาร์ 77 สกอร์รวมสี่วัน 4 โอเวอร์พาร์ 287 จบลงอันดับ 14 ร่วม แต่ก็ได้รับรางวัลนักกอล์ฟสมัครเล่นดีที่สุด(Low Amateur) เฉือน มายา สตาร์ค นักกอล์ฟสาวจากสวีเดนไปหนึ่งสโตรก ซึ่งสตาร์ค สกอร์รวม 4 โอเวอร์พาร์ 288 จบอันดับ 16 ร่วม
ส่วน “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล อดีตมือ 1 ของโลก แชมป์รายการนี้เมื่อปี 2018 ออกสตาร์ทด้วยการเสียโบกี้หลุม 5 และ 7 ก่อนจะไปดีขึ้นในช่วง 9 หลุมหลังทำ 3 เบอร์ดี้รวดจากหลุม 14-16 และพาร์สองหลุมสุดท้ายสกอร์จบลง 1 อันเดอร์พาาร์ 70 สกอร์รวมสี่วัน 1 โอเวอร์พาร์ 285 จบลงอันดับ 7 ร่วม เป็นการจบลงใน 10 อันดับแรกสองปีติดต่อกันหลังจากเมื่อปีที่แล้วจบลงอันดับ 9 ร่วม
เอรียา เผยหลังการแข่งขันวันสุดท้ายว่า “จริงๆแล้วสำหรับเม มันยากนะ เม ไม่เคยคิดว่าจะเล่นได้ดีในยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น เพราะว่า รู้สึกว่ามันยาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเมมาเห็นสนามครั้งแรกก็รู้สึกชอบ แต่ก็ยาก เราต้องเล่นด้วยความอดทน และต้องคิดแบบหลุมต่อหลุม เข้าใจเลยว่าหากพลาดจะเจอกับปัญหา แล้วสัปดาห์นี้แฟนๆกลับเข้ามาชมเยอะ พวกเราชอบที่แฟนๆเข้ามาชมเยอะเสมอเมื่อเป็นรายการของยูเอสจีเอแล้วทุกอย่างก็สมบูรณ์แบบด้วย แล้วสนามดิ โอลิมปิก คลับ ก็ดีมากๆแม้ว่าจะมาครั้งแรกก็ชอบมากๆค่ะ”
“โปรเหมียว” ปภังกร ธวัชธนกิจ มืออันดับ 10 ของโลกแชมป์เมเจอร์เอเอ็นเอ อินสปิเรชั่นทำ 5 เบอร์ดี้ เสีย 6 โบกี้ สกอร์ 1 โอเวอร์พาร์ 72 สกอร์รวมสี่วัน 8 โอเวอร์พาร์ 292
สำหรับผลงานของนักกอล์ฟสาวไทยคนอื่นๆ “โปรแจน” วิชาณี มีขัย ตีเกิน 1 โอเวอร์พาร์ 72 สกอร์รวมสี่วัน 9 โอเวอร์พาร์ 293 จบลง อันดับ 30 ร่วมโปรจัสมิน สุวัณณะปุระ ตีเกิน 2 โอเวอร์พาร์ 73 สกอร์รวมสี่วัน 10 โอเวอร์พาร์ 294 จบลงอันดับ 35 ร่วม และ “โปรเมียว” ปาจรีย์ อนันต์นฤการ ตีเกิน 8 โอเวอร์พาร์ 79 สกอร์รวมสี่วัน 17 โอเวอร์พาร์ 301 จบลงอันดับ 62
อันดับคะแนนหลังจบวันสุดท้าย
1.(-4) 280-ยูกะ ซาโสะ(ฟิลิปปินส์) 69-67-71-73(ชนะเพลย์ออฟ)
2.(-4) 280-นาสะ ฮาทาโอกะ(ญี่ปุ่น) 72-69-71-68
3.(-3) 281-เล็กซี่ ธอมพ์สัน(สหรัฐอเมริกา) 69-71-66-75
4.(-2) 282-เมแกน คาง(สหรัฐอเมริกา) 68-70-74-70, ฝง ซานซาน(จีน) 69-70-72-71
6.(E) 284-แองเจิล หยิน(สหรัฐอเมริกา) 68-79-67-70
7.(+1) 285-หลิน ชวีอี้(จีน) 72-74-72-67, โค จิน-ยอง(เกาหลีใต้) 70-74-72-69,บรู๊ค เฮนเดอร์สัน(แคนาดา) 68-78-69-70, , เอรียา จุฑานุกาล(ไทย) 71-70-74-70, พัค อินบี(เกาหลีใต้) 71-69-73-72
ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.usga.org
เครดิตภาพ: Getty Images
เกี่ยวกับสมาคมกอล์ฟสหรัฐอเมริกา(ยูเอสจีเอ)
สมาคมกอล์ฟสหรัฐอเมริกา(ยูเอจีเอ) ดำเนินการจัดการแข่งขันกอล์ฟรายการยูเอส โอเพ่น (เมเจอร์ชาย) ยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น (เมเจอร์หญิง) ยูเอส ซีเนียร์ โอเพ่น(เมเจอร์ซีเนียร์ชาย) และ ยูเอส ซีเนียร์ วีเมนส์ โอเพ่น (เมเจอร์ซีเนียร์หญิง) แล้วยังมีรายการชิงแชมป์สมัครเล่น และ แม็ตช์ระดับนานาชาติอีก 10 รายการทำให้นักกอล์ฟ และแฟนจาฟทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
ยูเอสจีเอร่วมกับเดอะ รอยัล แอนด์ แอนเชียนท์ หรืออาร์แอนด์เอ เป็นองค์กรผู้ดูแลเกมกอล์ฟทั่วโลกร่วมกันตั้งกฏกอล์ฟ และ กฎข้อบังคับสถานะนักกอล์ฟสมัครเล่น มาตรฐานอุปกรณ์ที่ใช้แข่งขัน และ อันดับคะแนนสะสมโลกของนักกอล์ฟสมัครเล่นพร้อมกับมีอำนาจการทำงานในสหรัฐอเมริกา ดินแดนในความปกครอง และ เม็กซิโก
ยูเอสจีเอ เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีการวิจัย พัฒนา และ สนับสนุนการจัดการสนามกอล์ฟอย่างยั่งยืนมากที่สุด ทำหน้าที่ผู้ดูแลเบื้องต้นเกียวกับประวัติศาสตร์เกมกอล์ฟ และ การพัฒนาด้านการลงทุนเกมกอล์ฟผ่านการบริหาร และทำงานของมูลนิธิสมาคมกอล์ฟสหรัฐอเมริการวมทั้งการจัดเรตติ้งสนามกอล์ฟ และระบบการจัดแฮนดิแคปที่ใช้กันใน 6 ทวีป