“ครูกัลยา” มอบนโยบาย วษท. จัดกิจกรรมเกษตรทฤษฎีใหม่-ปลูกไม้มีค่า-ธนาคารน้ำใต้ดิน พร้อมขยายหลักสูตร “ชลกร” ให้ครอบคลุม 47 แห่งทั่วประเทศ หลังรับสมัครรุ่นแรกเสียงตอบรับดี

วันนี้ (7 มิ.ย. 64) ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายให้ทุกวิทยาลัยเกษตรฯ จัดกิจกรรมทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่-ปลูกหญ้าแฝก และไม้มีค่าเพิ่มพื้นที่ป่า-ธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิด พร้อมเดินหน้าขยายหลักสูตร “ชลกร” ให้ครอบคลุมทั้ง 47 แห่งทั่วประเทศ หลังรุ่นแรกประสบความสำเร็จ

นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) เปิดเผยว่า ขณะนี้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ทั้ง 5 แห่ง ซึ่งประกอบไปด้วย 1.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม 2.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี 3.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร 4.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ และ5.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด ซึ่งเป็น 5 วิทยาลัยฯ นำร่อง มีความพร้อมทั้งบุคลากรและสถานที่รองรับที่จะเปิดสอนหลักสูตรนักบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร (ชลกร) ภายใต้สาขาวิชาช่างกลเกษตร รุ่นที่ 1 ในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 นี้ โดยมีผู้สมัครเรียนเข้ามาเกือบเต็มโควตาแล้ว

โดยดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ชื่นชมและให้กำลังใจทุก ๆ วิทยาลัยเกษตรทั้งที่ประสบความสำเร็จสามารถเปิดหลักสูตร ”ชลกร” ได้หรืออยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมที่จะเปิดสอนในปีการศึกษาต่อไป โดยได้มอบนโยบายให้ทุกวิทยาลัยฯ ดำเนินกิจกรรมเพิ่มเติมดังนี้ 1.ทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ปลูกพืชสามอย่างเพื่อประโยชน์สี่อย่าง 2.ปลูกหญ้าแฝกเพื่อกันการพังทลายของดินเพื่อความชุ่มชื้น 3.ปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มเติมโดยเฉพาะไม้มีค่าให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นในวิทยาลัยให้มากที่สุด และ 4.ดำเนินการทำธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิดในพื้นที่แห้งแล้ง

“คุณหญิงกัลยาได้ชื่นชมทั้ง 5 วิทยาลัยนำร่อง และขอให้กำลังใจทุกวิทยาลัยที่จะเปิดสอนในปีการศึกษาใหม่วันที่ 14 มิถุนายนนี้ และได้ย้ำเป็นนโยบายว่าโครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ ขอให้ทุกวิทยาลัยเกษตรที่รับนักศึกษาหลักสูตร ”ชลกร” แล้วหรืออยู่ระหว่างการเตรียมรับในปีการศึกษาถัดไปให้มีกิจกรรมเพิ่มเติม ทั้งเรื่องของเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ การปลูกหญ้าแฝก การปลูกไม้มีค่า รวมถึงการทำธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิดในพื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัววิทยาลัยฯ เองและชุมชนโดยรอบ รวมถึงตัวนักศึกษาหลักสูตรชลกร ที่จะได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ”นางดรุณวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ดร.คุณหญิงกัลยา มีความเชื่อมั่นว่าภาคการเกษตรถือเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ และการขยายหลักสูตร “ชลกร” ในครอบคลุมทุกพื้นที่ประเทศในอนาคต จะทำให้ภาคการเกษตรของเราเข้มแข็งและสามารถก้าวข้ามวิกฤตได้ในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนี้ เกษตรกรสมัยใหม่จะมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ที่เรียนเกษตรต่อไปนี้จะไม่มีคำว่าจนอีกต่อไป

สำหรับ “หลักสูตรนักบริหารจัดการน้ำฯ หรือ “ชลกร” ในรุ่นที่ 1 นี้ มีผู้ให้ความสนใจสมัครเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับ ปวส. ประจำปีการศึกษา 2564 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2564 และเตรียมที่จะขยายหลักสูตรให้ครบทั้ง 47 แห่งทั่วประเทศ อาชีวะเกษตรและเทคโนโลยีพร้อมเปิดโอกาสให้กับทุกคน
…………………………………………………..

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

*วช. หนุน มรภ.บุรีรัมย์ นำเทคนิคออกแบบโครงสีผ้า รังสรรค์ผ้าไหมมัดหมี่ร่วมสมัย เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม กระตุ้นการท่องเที่ยว*

ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่รู้จั […]

You May Like

Subscribe US Now