*วช. หนุน มรภ.บุรีรัมย์ นำเทคนิคออกแบบโครงสีผ้า รังสรรค์ผ้าไหมมัดหมี่ร่วมสมัย เป็นสินค้าทางวัฒนธรรม กระตุ้นการท่องเที่ยว*

ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับว่าเป็นผ้าไหมทอมือคุณภาพดี มีเอกลักษณ์ภูมิปัญญา ช่วยส่งเสริมสินค้าชุมชน และจังหวัด โดยปัจจุบัน พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อผ้าไหมของผู้บริโภค มักเลือกจากลวดลายและสีสันที่หลากหลาย ตรงกับความต้องการมากขึ้น ดังนั้น กลุ่มผู้ผลิตควรคำนึงถึงปัจจัยความต้องการของผู้บริโภค และเร่งพัฒนาให้สอดรับกับตลาด

รองศาสตราจารย์สมบัติ ประจญศานต์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม
คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และคณะ ได้ศึกษาวิจัยและดำเนินโครงการถ่ายทอดความรู้เทคนิคออกแบบโครงสีในผ้าไหมมัดหมี่ร่วมสมัยเพื่อเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ จังหวัดบุรีรัมย์ จนเกิดเป็นเทคนิคที่นำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ในหลายรูปแบบ โดยมีการอบรมถ่ายทอด พร้อมส่งเสริมให้เกิดการผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ให้แก่กลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมมัดหมี่ในหมู่บ้านเขตชนบทของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมกว่า 6 กลุ่ม อาทิ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านนาโพธิ์ และ กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม ตำบลถาวร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัย จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

รองศาสตราจารย์สมบัติ ประจญศานต์ เล่าว่า ได้นำองค์ความรู้เรื่องการจัดโครงสร้างสี ตามหลักทฤษฎีสี มาใช้ออกแบบสีในการมัดหมี่ที่เส้นด้ายพุ่ง โดยใช้โครงสร้างสีแบบเอกรงค์ (การใช้สีเดียว ที่มีน้ำหนักสีอ่อนไปจนถึงแก่ หรือสีตระกูลเดียวกัน) และแบบพหุรงค์ (การใช้สีหลาย ๆ สีร่วมกัน) และมีการเพิ่มเทคนิคการออกแบบสีของผ้าไหม โดยนำเส้นด้ายยืนสีกลางที่มีน้ำหนักสีต่างกัน มาเปลี่ยนค่าน้ำหนักของสีผ้า เช่น สีดำกับสีเทา สีน้ำตาลเข้มกับสีน้ำตาลอ่อน เป็นต้น โดยมีการแยกเส้นพุ่งที่มีการมัดหมี่ไปทอขัดกับเส้นด้ายยืนที่ต่างสี จึงช่วยเพิ่มความหลากหลายของสีสันผ้าไหมมัดหมี่ให้มีความร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี

ด้านกลุ่มผู้ผลิตจะได้ผ้าไหมมัดหมี่ที่มีสีสันหลากหลายตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ ช่วยลดเวลา และค่าจ้างแรงงานในการผลิต เพิ่มมูลค่า และสามารถเป็นสินค้าที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดได้สำเร็จ เนื่องจากมีการสร้างอัตลักษณ์จนเป็นที่จดจำ และทำการตลาดทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ ส่งผลให้มีการสั่งซื้อล่วงหน้าจากลูกค้า จนเกิดการผลิตซ้ำเพื่อจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยให้คงอยู่ได้ในทุกยุคทุกสมัย

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช.ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์ องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และชุมชน โดยความร่วมมือของภาคส่วนวิจัยที่มีความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้ไปถ่ายทอด เพื่อพัฒนากระบวนการผลิต พัฒนาอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชุมชน เป็นฐานรากการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

ศิลปิน ๒ รัชสมัย

ศิลปิน ๒ รัชสมัย จัดแสดงนิทรรศการ (ครั้งที่ 8): &# […]

You May Like

Subscribe US Now