ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ ทุกประเทศต้องร่วมด้วยช่วยกัน

ประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ ทุกประเทศต้องร่วมด้วยช่วยกัน

ในการประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปลายปีที่แล้ว และการประชุมสองสภาของประเทศจีน(สภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน CPPCC และ สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน NPC)เมื่อเดือนมีนาคม 2023 ที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อเลือกตั้งประธานาธิบดี รวมทั้งเลือกตั้งชุดผู้บริหารของรัฐบาลจีน แต่ขณะเดียวกันในการประชุมสองสภา ก็เป็นเวลาในการเสนอ หารือ และอนุมัติ กฎหมาย นโยบาย และยุทธศาสตร์ของประเทศจีนด้วย  ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาคมโลกจะได้รับรู้และเข้าใจแนวคิดในการพัฒนาประเทศของจีน
.
ยิ่งเมื่อ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวเปิดการประชุม CPC ครั้งที่ 20 โดยระบุว่า การประชุมครั้งนี้มีสาระสำคัญคือการเชิดชูสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของสังคมนิยมอันมีอัตลักษณ์จีน และนำแนวคิดดังกล่าวมาปฏิบัติอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการมีความสามัคคี ในอันที่จะสร้างประเทศสังคมนิยมสมัยใหม่ และการเดินหน้าฟื้นฟูชาติจีนอย่างยิ่งใหญ่ในทุกด้าน รวมทั้งผลักดันนโยบายการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ
.
แน่นอนว่า สาระสำคัญจากการประชุมในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากทั่วโลก เพราะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดยาวนานกว่า 3 ปี ทำให้โลกประสบปัญหาทั้งด้านการแพทย์ และผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัส และเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญว่า โลกนี้จะต่างคนต่างอยู่ไม่ได้อีกแล้ว ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกัน สร้างอนาคตของมวลมนุษยชาติร่วมกัน
.
ขณะที่ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก็เป็นอีกสัญญาณเตือนว่า หากยังดำรงความขัดแย้งกันอยู่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่แค่ 2 ประเทศคู่ขัดแย้ง แต่สามารถที่จะบานปลายขยายวงได้

ดังนั้นเมื่อ ประธานาธิบดีสี หยิบยกในเรื่องประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ จึงถือว่าเข้าจังหวะกับสถานการณ์ของโลกเป็นอย่างยิ่ง
.
แต่ในความเป็นจริง  สี จิ้นผิง ได้มีการเสนอแนวคิดเรื่อง “การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ – building a community with a shared future for humanity” มาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว โดยในครั้งนั้น สี จิ้นผิง เสนอว่า ประชาคมระหว่างประเทศ ควรส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วน ความมั่นคง การเติบโต การแลกเปลี่ยนระหว่างอารยธรรม และการสร้างระบบนิเวศที่ดี พร้อมกับยกสุภาษิตที่ว่า “ผลประโยชน์ที่คำนึงถึง ควรเป็นผลประโยชน์ของทุกคน” มาสนับสนุนแนวคิดของตนเองด้วย
.
ดังนั้น ปี 2013 จึงถือเป็นปฐมบทของการเริ่มต้นของแนวความคิดในการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ
.
และขณะเดียวกันภายใต้แนวคิดดังกล่าว สี จิ้นผิง ก็ได้เสนอโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ในปี 2013 นั่นเอง ว่าต้องการผลักดันให้เป็นโครงการร่วมกันของมนุษยชาติอย่างเป็นรูปธรรม

จากนั้นในเดือนมกราคม 2017 สี จิ้นผิง ได้ไปนำเสนอวิสัยทัศน์ในการสร้างประชาคมโลกของมนุษยชาติ ในการประชุมขององค์การสหประชาชาติ ณ กรุงเจนีวา ซึ่งปรากฏว่าการตอบสนองจากประชาคมระหว่างประเทศเป็นไปในเชิงบวก เพราะนักการเมือง นักการทูต และคนดังทั่วโลกต่างตอบรับด้วยเสียงปรบมือมากกว่า 30 ครั้งใน 47 นาที
.
ก่อนการระบาดของโควิด-19 สี จิ้นผิง ได้ไปเยือน 69 ประเทศจากการเดินทาง 41 ครั้ง และเป็นประมุขแห่งรัฐจีนคนแรก ที่เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ในเมืองดาวอส ด้วยเหตุผลของการยืนยันบทบาทของจีนต่อการร่วมสร้างประชาคมที่มีการแลกเปลี่ยนกัน
.
เดือนสิงหาคม 2021 จึงพบว่ามีประมาณ 172 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือมากกว่า 200 ฉบับกับจีนภายใต้กรอบนี้ จากรายงานของธนาคารโลก โครงการ BRI สามารถช่วยให้ผู้คน 7.6 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรง และ 32 ล้านคนพ้นจากความยากจนปานกลางทั่วโลก

เป็นความสำเร็จหลังจากที่ ประธานาธิบดีสี ได้ผลักดันโมเดลความทันสมัยของจีน โดยยึดการพัฒนาด้วยนวัตกรรม ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเปิดกว้างสำหรับทุกคน จนสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนในจีนได้สำเร็จ และต่อยอดมาเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนในส่วนของประชาคมโลก ผ่านโครงการ BRI นั่นเอง ซึ่งยิ่งทำให้โลกตระหนักถึงบทบาทของจีนในการร่วมสร้างประชาคมที่มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างชัดเจนมากขึ้น และวันนี้ BRI ถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์เชิงพหุภาคีระดับโลกที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก
.
“เราต้อง ‘จับมือกัน’ แทนที่จะ ‘ปล่อยมือ’ เราจำเป็นต้อง ‘ทลายกำแพง’ ไม่ใช่ ‘สร้างกำแพง” ถือเป็นประโยคสำคัญที่ประธานาธิบดีสี ได้กล่าวเอาไว้ให้เป็นแง่คิดของการร่วมมือกันของประชาคมโลก

ด้วยเหตุนี้เอง สำหรับสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ที่ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ ยังคงมีปรากฏให้เห็นอยู่เป็นระยะๆนั้น หากมองในแง่ของแนวคิด “การสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันสำหรับมนุษยชาติ” แล้ว ต้องยอมรับความเป็นจริงว่า ยังคงมีเรื่องให้ทุกประเทศทั่วโลกต้องจับตาและร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาอีกไม่ใช่น้อย
.
ที่เห็นชัดเรื่องปัญหาความขัดแย้ง จากกรณีของรัสเซีย-ยูเครน ได้ก่อให้เกิดความวิตกในการขยายวงของความขัดแย้งเชิงลึกมากขึ้น ยิ่งก่อนหน้านี้ จีน กับ สหรัฐ ก็ได้เผชิญหน้ากันในเรื่องสงครามการค้า ที่ทำให้ทั่วโลกได้รับผลกระทบมาแล้ว จึงไม่แปลกที่โลกจะกังวลกับท่าทีระหว่าง จีน กับ สหรัฐ รวมทั้งกลุ่มประชาคมยุโรป ว่าจะมีท่าทีอย่างไรกับกรณีรัสเซีย-ยูเครน แม้ว่าทุกฝ่ายจะเรียกร้องให้มีการเจรจากันโดยสันติภาพก็ตาม แต่จนถึงวันนี้ก็ยังต้องถือเป็นสถานการณ์โลกที่ต้องจับตาและร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขอยู่
.
นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกหลังวิกฤตโควิด-19 ก็เป็นอีกเรื่องที่ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันแก้ไข เพราะแม้แต่สหรัฐและจีน ที่มีขนาดของเศรษฐกิจเป็นประเทศอันดับ 1 และ 2 ของเศรษฐกิจโลก ก็ยังได้รับผลกระทบเชิงลบที่ค่อนข้างมาก ดังนั้น หากจะฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวได้อย่างแท้จริงแล้ว แน่นอนว่า ณ เวลานี้ ทุกประเทศทั่วโลกจะต้องร่วมด้วยช่วยกันในฐานะ “ประชาคมโลกเดียวกัน”นั่นเอง

บทความโดย : ภูวนารถ ณ สงขลา นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

ทีมนักกีฬาสมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย ร่วมกิจกรรมวิ่งคบเพลิง Torch Relay of The 32nd SEA Games and The 12th ASEAN Para Games

ทีมนักกีฬาสมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย ร่ […]

You May Like

Subscribe US Now