บุกตลาด 4 ขา ‘โอกาสทองนักออกแบบ’ สินค้าสัตว์เลี้ยงบูม: ศิลปกรรม DPU ผนึกกำลัง Pet Specialist ปั้นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์
หลักสูตรการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ วิชาเอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) นำโดย ผศ.กมลศิริ วงศ์หมึก คณบดี และอาจารย์ปรัชญา พิระตระกูล หัวหน้าวิชาเอกการออกแบบและธุรกิจแฟชั่น ได้เชิญ ดร.สุพจน์ เมธิยะพันธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท Pet Specialist จำกัด ผู้นำทางด้านสินค้าในธุรกิจสัตว์เลี้ยง ตรวจผลงานไฟนอลโปรเจกต์วิชาการออกแบบสินค้าไลฟ์สไตล์ พร้อมกับบรรยายพิเศษในประสบการณ์ และเจาะทิศทางเทรนด์ตลาดสัตว์เลี้ยงในอนาคต ฝึกให้นักศึกษาแสวงหาโอกาสควบคู่การพัฒนาศักยภาพทักษะ
จากการที่สถานการณ์ตัวเลขด้านประชากรศาสตร์ทั่วโลกแสดงถึงการกำลังเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุครองเมือง อีกทั้งไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่นิยมสร้างครอบครัวขนาดเล็ก ส่งผลให้การมีสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขและแมว เป็นทั้งเพื่อนคู่ใจและเป็นเสมือนสมาชิกครอบครัว (Pet Humanization) เป็นที่นิยมและเติบโตต่อเนื่องทั่วโลก เมื่อย้อนดูข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดการดูแลสัตว์เลี้ยงทั่วโลก อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์เลี้ยงและบริการ มีมูลค่ากว่า 280,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังคาดว่าระหว่างปี 2566-2575 จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 7 หรือจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 550,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2575 เลยทีเดียว
“ธุรกิจทางด้านสัตว์เลี้ยงมีการเติบโตอย่างมาก เพราะผู้คนมองว่าสัตว์เลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวและต้องการดูแลเป็นพิเศษ สินค้าและบริการสำหรับสัตว์เลี้ยงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่รักและดูแลสัตว์เลี้ยงของตนเหมือนสมาชิกในครอบครัว การที่ดีไซน์เนอร์มีความสามารถและเข้าใจความต้องการของสัตว์เลี้ยงและเจ้าของสัตว์เลี้ยง จึงมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง ครั้งนี้เราจึงนำโจทย์จากผู้ประกอบการจริงมาให้นักศึกษาในรายวิชาสินค้าไลฟ์สไตล์ได้แสดงฝีมือ เนื่องจากสินค้าไลฟ์สไตล์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการ และรสนิยมของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มโดยไม่ได้จำกัดเพศหรืออายุ และมีความสำคัญในตลาด”
“เพราะไม่เพียงแต่มีฟังก์ชันการใช้งานที่ดี แต่ยังสื่อถึงตัวตนและวิถีชีวิตของผู้ใช้ด้วย ตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์มีมูลค่าสูง และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตที่สะท้อนถึงความเป็นตัวของตัวเอง สินค้าของทั้งเจ้าของและสัตว์เลี้ยงจะถูกออกแบบขึ้นจากกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดจากไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยวิชานี้เป็นการรวมตัวของนักศึกษาวิชาเอกกราฟิก แฟชั่น และอินทีเรีย ซึ่งแทบจะครอบคลุมทุกศาสตร์ของการออกแบบที่จะสามารถนำเสนอความเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ของเจ้าของและสัตว์เลี้ยงได้ในหลากหลายมิติ”
ผศ.กมลศิริ ให้สัมภาษณ์ถึงวัตถุประสงค์ในการจัดความร่วมมือพิเศษดังกล่าวนี้ ก่อนที่ ดร.สุพจน์ เมธิยะพันธ์ จะเริ่มแชร์ประสบการณ์ และเผยข้อมูลวงในการตลาดเพื่อสร้างงานออกแบบที่ตรงโดนใจกับตลาดแก่นักศึกษา
ซึ่งดร.สุพจน์ เมธิยะพันธ์ อดีตนายกสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทยที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการทางด้านสัตว์เลี้ยง บริษัท Pet Specialist จำกัด แบรนด์สินค้าสัตว์เลี้ยงเจ้าแรกๆ ของเมืองไทยในนาม “Puppe“ ซึ่งนับตั้งแต่ก่อนปี 2540 กระทั่งปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 30 ปี สำหรับการผลิต นำเข้า และส่งออกสินค้าของใช้สำหรับสัตว์เลี้ยง และปัจจุบันยังเป็นเบอร์หนึ่งของธุรกิจด้านกรูมมิ่ง และอุปกรณ์ตัดแต่งขนสุนัขครบวงจร ได้ให้ข้อคิดว่า “ยิ่งเข้าใจตลาด ยิ่งสร้างโอกาสสำเร็จง่าย”
ดร.สุพจน์ เมธิยะพันธ์ ระบุต่อไปว่า เนื่องด้วยบรรยากาศของตลาดสัตว์เลี้ยงปัจจุบันอยู่ในช่วงขาขึ้น และจะยิ่งมีแนวโน้มคึกคักขึ้นอีกในอนาคต เพราะอิทธิพลของโลกที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ที่นิยมสร้างครอบครัวขนาดเล็ก เลือกการมีลูกเพียงคนเดียวหรือไม่ก็เลือกใช้ชีวิตแบบโสดกันมากขึ้น ส่งผลให้สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ ‘สุนัข’ และ ‘แมว’ ขยับฐานะสู่คนในครอบครัว เพื่อนคู่ชีวิต หรือ ลูก
ดังนั้นสัตว์เลี้ยงในวันนี้จึงมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมกับเจ้าของในการออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน อุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของเจ้าของจึงมีความต้องการมากขึ้น แตกต่างจากอดีตที่สัตว์เลี้ยงมักจะอาศัยอยู่หลังบ้านและกินเศษอาหาร โดยข้อมูลจากงาน PET Expo Thailand 2024 ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในระหว่างวันที่ 9-12 พฤษภาคม ที่ผ่านมามียอดผู้เข้าชมงานกว่า 225,600 คน การจราจรทั่วกรุงเทพถึงกับติดขัดจากจำนวนผู้เข้าชมงานนี้เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์นี้ แม้สะท้อนให้เห็นตลาดของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงมีความต้องการเป็นจำนวนมาก สินค้าสัตว์เลี้ยงที่จำหน่ายส่วนใหญ่และมีมูลค่าทางการตลาดสูงยังคงเป็นจำพวก อาหารและขนมสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงทรายอนามัยสำหรับรองรับการขับถ่ายของแมว ‘ผลิตภัณฑ์’ อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างเช่น เสื้อผ้า ปลอกคอ สายจูง และของใช้อื่นๆ ยังมีสัดส่วนในขนาดของตลาดไม่มากนัก จึงน่าจะเป็นโอกาสของนักศึกษาที่เรียนอยู่ในสายของการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะเข้ามาเรียนรู้
“เวลาเราไปร้านเพ็ทช็อปสังเกตได้ว่าชั้นวางเสื้อ สายจูง และของใช้อื่น ตลาดยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก สินค้าตามโอกาสและเทศกาลต่างๆ เช่น ตอนนี้หน้าฝน ลูกค้าบางส่วนอยากได้เสื้อฝนเพื่อใช้เวลาจูงสุนัขหรือแมวไปข้างนอก เทศกาลสงกรานต์ คริสต์มาส เจ้าของก็มักจะมีความต้องการผลิตภัณฑ์สำหรับโอกาสนั้นๆ ความร่วมมือทำงานกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อช่วยเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาได้เห็นช่องทางต่างๆ ในอุตสาหกรรมการออกแบบที่เป็นเทรนด์ใหม่ๆ และอยากจะผลักดันฝีมือคนไทยที่เก่งเรื่องของงานฝีมือ มีความละเอียดอ่อน ซึ่งจากการตรวจดูผลงานของนักศึกษาในวันนี้ แม้นักศึกษาจะยังอยู่ชั้นปีที่ 2 แต่ทุกคนตั้งใจออกแบบได้ดี สวยงามน่าสนใจ และสร้างสรรค์กันอย่างมาก”
เมื่อนักศึกษาเดินทางสู่ความเข้าใจดังกล่าวนี้แล้ว ดร.สุพจน์ เมธิยะพันธ์ พาลงรายละเอียดลึกถึง ปัจจัยสำคัญของงานดีไซน์ที่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วยหลักสำคัญ 4 ได้แก่ สะดวก ปลอดภัย สวยงาม และ Pet Friendly
“วันนี้สัตว์เลี้ยงเหมือนลูก เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เวลาที่เราดีไซน์เรื่องพวกนี้ก็จะเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างเช่น กิจกรรมพาน้องหมาไปเดินเล่นนอกบ้าน พัฒนาการของปลอกคอลากจูง แนวทางการดีไซน์ในปัจจุบันก็พัฒนาเป็นสายรัดอก ซึ่งกระจายการรับน้ำหนักได้ดีกว่า และไม่เป็นการทรมานสัตว์สามารถออกแบบได้หลากหลายมากขึ้นเพิ่มกระเป๋าและช่องต่างๆ เพื่อประโยชน์ใช้สอย มีการสอดสีสะท้อนแสงเพื่อเพิ่มความปลอดภัยเวลากลางคืน ให้ความสำคัญกับข้อต่อต่างๆ เพื่อไม่ให้สุนัขหลุดวิ่งไปเกิดอุบัติเหตุถูกรถชน ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่คนพูดกันเยอะ และพยายามสร้างขึ้นมาเนื่องจากมีตลาดต้องการ”
การที่ตลาดมีความคึกคักขยายตัว ก็เป็นสิ่งดึงดูดใจให้บริษัทที่ไม่เคยอยู่ในธุรกิจนี้เห็นโอกาส เริ่มหันมามองและให้ความสนใจด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น บริษัท RS ซื้อกิจการ Hato group บริษัทของตกแต่งบ้าน ‘บุญถาวร’ นำเสนอกระเบื้องที่ไม่ลื่นสำหรับสัตว์ นอกจากนี้ ส้วมสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะแมว ก็ได้รับการพัฒนาขึ้นมาค่อนข้างมาก เพื่อลดปัญหากลิ่นจากสิ่งขับถ่ายของสัตว์เลี้ยง
“ตัวอย่างของสินค้าไลฟ์สไตล์ เช่น เสื้อชูชีพสำหรับสุนัข เวลาที่เจ้าของเขาไปเที่ยวทะเลและพาสุนัขไปด้วย สิ่งหนึ่งที่น่าจะขาดไม่ได้ คือ ชูชีพ ซึ่งจะทำให้กิจกรรมระหว่างเจ้าของและสัตว์เลี้ยงมีความสนุกและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งก็จะตรงกับวัตถุประสงค์ของรายวิชาสินค้าไลฟ์สไตล์ ที่ชี้ให้เห็นไลฟ์สไตล์ของคนที่จะมีกิจกรรมต่างๆในชีวิต และสินค้าจะถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองกิจกรรมหรือไลฟ์สไตล์นั้นๆ”
ทั้งนี้ในช่วงท้ายอดีตนายสัตวแพทย์ที่ผันตัวมาเป็น CEO ผู้คร่ำหวอดในวงการสัตว์เลี้ยงอย่างยาวนาน ยังได้เสริมข้อมูลเชิงลึกจากประสบการณ์ในเรื่องของ ‘ตลาดผู้ซื้อ’ เพื่อให้นักศึกษาเห็นภาพแบบรอบด้าน และมีมุมมองของทั้งการเป็นนักออกแบบขององค์กร และในฐานะผู้ประกอบการสินค้าส่งออก โดยฉายภาพประเทศอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อใหญ่มากจากจำนวนประชากร แต่ภาพรวมของตลาดต้องการสินค้าที่ราคาไม่แพงมากนัก ในขณะที่ตลาดในประเทศแถบยุโรป เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส มักต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นงานดีไซน์ ตามเทรนด์กระแส คำนึงถึงฤดูกาล ฟังก์ชันการใช้งาน โดยเฉพาะในช่วงของเทศกาลคริสต์มาสจะขายดีที่สุด เพราะฉะนั้นการเรียนรู้เรื่องความต้องการของแต่ละตลาดเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากสำหรับนักออกแบบที่อยากทำธุรกิจต่อไป