“กรมศิลปากร”เปิดงานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย เผยโฉมนิทรรศการใหม่

…..ในวันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จ พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อเทิดพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่องานด้านศิลปวัฒนธรรม และทรงเป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ทั้งนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร จึงกำหนดจัดงานสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2564 ระหว่างวันที่ 2-8 เมษายน พ.ศ.2564 ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ตระหนักในความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษามรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ประกอบด้วย การเสวนาทางวิชาการ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ เป็นวิทยากร ระหว่างวันที่ 3 – 8 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ และการแสดงนาฏศิลป์และดนตรี ระหว่างวันที่ 2-8 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 17.30 น. ณ เวทีสังคีตศาลา บริเวณสนามหญ้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครโดยได้นับเกียรติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม”นายอิทธิพลคุณปลื้ม”เป็นประธานในพิธิเปิดร่วมด้วยกับคณะู้บริหารกระทรงวัฒนธรรมและคณะทีมงานกรมศิลปากร
กรมศิลปากรยังได้เปิดห้องจัดแสดงนิทรรศการถาวรภายในอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ ซึ่งดำเนินงานบูรณะพร้อมการจัดแสดงห้องต่างๆ ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 – 2563 ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ จัดแสดงหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่พบบนผืนแผ่นดินไทย หลัง พ.ศ. 1800 เป็นต้นมา อันเป็นช่วงเวลาของการก่อกำเนิดบ้านเมืองขนาดใหญ่ระดับรัฐ หรืออาณาจักรในแต่ละภูมิภาค โดยจัดแสดงโบราณวัตถุรวม 918 รายการ แบ่งเป็น
ห้องล้านนา นำเสนอเรื่องราวอาณาจักรที่ พญามังราย สถาปนาเมื่อ พ.ศ. 1839 โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ โบราณวัตถุสำคัญ เช่น ศิลปโบราณวัตถุประเภทเครื่องพุทธบูชา ที่พบจากวัดร้างในอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และหลวงพ่อนาก พระพุทธรูปซึ่งพระยายุธิษฐิระ เจ้าเมืองพะเยาเป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2019
ห้องสุโขทัย จัดแสดงความรุ่งเรืองของรัฐขนาดใหญ่นามว่า สุโขทัย แห่งราชวงศ์พระร่วง ซึ่งสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 1792 โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่จัดแสดงในห้องนี้คือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยพ่อขุนรามคำแหง
ห้องกรุงศรีอยุธยา นับจากการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 ปรากฏโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่เป็นประจักษ์พยานสำคัญถึงความรุ่งเรืองมั่นคงทางการเมืองการปกครอง ความเจริญทางเศรษฐกิจ และความรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา เป็นรากฐานให้กับศิลปกรรมรัตนโกสินทร์ซึ่งพัฒนาต่อมาเป็นศิลปะประจำชาติไทยในปัจจุบัน โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ เช่น ธรรมาสน์สังเค็ด วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี และตู้พระธรรมวัดเซิงหวาย ซึ่งมีลวดลายรดน้ำปิดทองประณีตงดงาม
ห้องกรุงธนบุรี – รัตนโกสินทร์ตอนต้น โบราณวัตถุชิ้นสำคัญ อาทิ พระแท่นของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระเก้าอี้พับของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งทรงใช้ในยามราชการสงคราม ฉากลับแลลายกำมะลอเรื่องอิเหนา เป็นต้น
ห้องกรุงรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ จึงทรงส่งราชทูตไปยังราชสำนักชาติมหาอำนาจตะวันตก ทรงวางรากฐานในการยอมรับศิลปวิทยาการสมัยใหม่ และนำมาพัฒนาให้สังคมไทยมีความทันสมัยเช่นสากล จากการติดต่อกับต่างชาติตะวันตกโดยเฉพาะยุโรป อเมริกา การสร้างสรรค์งานศิลปกรรมจึงมีอิทธิพลตะวันตกเพิ่มขึ้นโดยลำดับ ทั้งนี้ สถาบันศาสนาและพระมหากษัตริย์ นอกจากเป็นศูนย์รวมจิตใจคนไทย ยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยธำรงรักษาวัฒนธรรมประเพณีของชาติ ที่เป็นเอกลักษณ์ความเป็นไทยไว้ได้จนถึงปัจจุบัน โบราณวัตถุสำคัญที่จัดแสดงในห้องนี้ อาทิ ลูกโลกและรถไฟจำลอง สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2398 พระโธรน พระราชอาสน์สำหรับประทับให้ข้าราชการยืนเข้าเฝ้า ซึ่งสร้างขึ้นเป็นองค์แรกใน พ.ศ. 2416
………ทั้งนี้กรมศิลปากร จึงขอเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมสัปดาห์วันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2564 และชมห้องจัดแสดงนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างวันที่ 2 – 8 เมษายน พ.ศ. 2564 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
……………………….
Story/Photo:Boyนาคราช

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

ททท. จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬากอล์ฟในกลุ่มชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย

วันนี้  (4 เม.ย.64) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ทท […]

You May Like

Subscribe US Now