รมว. ธรรมนัส ควง รมช.อนุชา ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางบริหารจัดการน้ำลุ่มเจ้าพระยา
วันที่ 25 ก.ย. 2566 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในลุ่มเจ้าพระยา เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฝนที่ตกหนัก และปรากฎการณ์เอลนีโญ
ในการนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำ ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และสื่อมวลชน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร บินตรวจสภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากศูนย์ศิลปาชีพบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ก่อนจะแวะลงจอดที่บริเวณเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา จากนั้นได้ร่วมกับนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ไปรอทำข่าว ถึงแนวทางในการบริหารจัดการน้ำในช่วงที่ฝนตกหนัก ควบคู่ไปกับการรับมือปรากฎการณ์เอลนีโญ
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับขณะนี้เข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝนของพื้นที่ตอนบนแล้ว ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สั่งการให้กรมชลประทาน เร่งเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ที่มีปริมาณการใช้น้ำสูง
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ล่าสุด(25 ก.ย. 66)ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,166 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ระดับ 16.80 เมตร(รทก.) สูงกว่าระดับปกติประมาณ 0.30 เมตร เพื่อยกระดับน้ำเข้าสู่คลองต่างๆ ที่อยู่ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ริมคลอง และสามารถรองรับฝนที่อาจตกลงมาในพื้นที่ได้อีกด้วย พร้อมกันนี้ ยังได้ผันน้ำเข้าระบบชลประทาน ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่คลองชัยนาท-ป่าสัก และคลองชัยนาท-อยุธยา และผันน้ำบางส่วนไปลงคลองพระองค์เจ้าไชยยานุชิต เพื่อสูบผันน้ำไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ส่วนทางด้านฝั่งตะวันตก จะผันเข้าทางแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย และคลองมะขามเฒ่า-อู่ทองไปกักเก็บไว้ในแหล่งน้ำต่างๆ รวมไปถึงคลองส่งน้ำในพื้นที่ชลประทาน เพื่อสำรองไว้ใช้อุปโภคบริโภค ในช่วงฤดูแล้ง การเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อย ตลอดจนไม้ยืนต้น และรักษาระบบนิเวศน์ เป็นหลัก
สำหรับปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ที่คงเหลือจากการส่งน้ำเข้าระบบชลประทานเพื่อสำรองไว้ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ในช่วงฤดูแล้ง นั้น ได้วางแผนการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อรักษาสมดุลของปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา และเพื่อความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยจะควบคุมการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 1,000 ลบ.ม./วินาที ปัจจุบัน(25 ก.ย. 66) มีการระบายน้ำสูงสุดอยู่ที่ 802 ลบ.ม./วินาที มีแนวโน้มลดลง โดยปริมาณน้ำที่ระบายท้ายเขื่อนนี้ บางส่วนจะถูกนำไปเก็บกักไว้ในแหล่งน้ำและพื้นที่แก้มลิง ในเขต จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี รวมทั้ง สนับสนุนการผลิตประปาของการประปานครหลวง และการรักษาคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา จัดหาแหล่งน้ำสำรองและกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับปรากฎการณ์เอลนีโญ และการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด
https://www.blockdit.com/posts/65118bf64bb9375e08987f19