“รมว.ธรรมนัส” Kick Off ลั่นระฆัง “ปล่อยบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์” ส่งสินค้าเกษตรไป “จีน-รัสเซีย- ยุโรป” หวังเพิ่มรายได้เกษตรกรไทย เผย เตรียม “ลงนามพิธีสาร” ส่งสินค้าเกษตรไปจีนอีกหลายประเภทกลางเดือนหน้า
วันที่ 10 ธ.ค. 2566 เวลา 11.30 น. ที่สถานีรถไฟมาบตาพุด จ.ระยอง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้แทนการค้าไทย นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางวรรณภรณ์ เกตุทัต ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายปณิธาน มีไชยโย ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และ Mr. Phillip Zhu ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพน-เอเชีย ซิลด์ โรด จำกัด
ร่วมพิธีเดินขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เพื่อส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรของไทยไปยังนครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธรัฐรัสเซีย และสหภาพยุโรป ด้วยระบบรถไฟเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า “รถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เพื่อส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรของไทย” เที่ยวนี้ถือเป็นขบวนประวัติศาสตร์ในการนำร่องสินค้าเพื่อการเกษตร สู่ นครเฉิงตูของประเทศจีน ก่อนที่จะนำไปสู่กลุ่มประเทศยุโรปต่อไป “ซึ่งถือเป็นเรื่องดี ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการที่จะหาตลาดเพื่อการเกษตรตามนโยบา “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ให้พี่น้องเกษตรกร” ถือเป็นการ Kick Off นำร่อง การส่งสินค้าทางราง เป็นขบวนแรก
โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นข้าวและยางพารา ซึ่งต่อไปสินค้าภาคการเกษตรประเภทต่างๆ จะทำการขยายตลาดมากกว่านี้ ทั้งนี้ ในช่วงกลางเดือนมกราคม ผู้แทนการค้าไทย ตลอดจนผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเดินทางไปประเทศจีนเพื่อ “ลงนามพิธีสารในการส่งสินค้าเพื่อการเกษตร” อีกหลายประเภท
นอกจากนี้ นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ในการหาตลาดจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยในภาคการผลิตได้มอบหมายให้ ผอ. อ.ต.ก. หาตลาดกระจายสินค้าเพื่อการเกษตรให้มากกว่านี้ และรวบรวมสินค้าเพื่อการเกษตร ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านระบบราง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาสั้นในการขนส่งสินค้า “อย่างเช่นวันนี้ สินค้าที่ส่งไปจะใช้เวลาในการเดินทางไปถึง จ.หนองคาย ประมาณครึ่งวัน ต่อจากนั้นจะเดินทางต่อไปยังเฉินตู โดยใช้เวลาประมาณ 4 วัน ซึ่งถือว่าสั้นกว่าการขนส่งทางเรือ” เป็นการลดต้นทุนในระบบโลจิสติกส์ ดังนั้นก็จะเป็นโอกาสในการลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ และเอาเงินส่วนนี้ไปเพิ่มกับให้พี่น้องเกษตรกร