“สว.เลิศรัตน์” เผย “ตั้ง กมธ.พิจารณา พ.ร.บ.งบฯ 67 ควบคู่สภาฯ” ย้ำถาม “รัฐบาล” มั่นใจเดินหน้านโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” ใช่หรือไม่
วันที่ 8 ม.ค.2567 ที่อาคารรัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงประเด็นที่ สว. เตรียมตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) คู่ขนานกับการ พิจารณางบฯสภาฯใช่หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า “ครับ” เนื่องจากงบประมาณปี 2567 ซึ่งถือว่าเข้ามาช้ามาก ฉะนั้น เรามีเวลาทำงานน้อย โดยตามกำหนดการเมื่อถึงต้นเดือนเมษายนจะผ่านสภาผู้แทนราษฎรในช่วงต้นสัปดาห์ และส่งให้ สว. พิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 9-10 เมษายน เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าประมาณ วันที่ 17 เมษายน ฉะนั้น จะเห็นว่ากรอบเวลาที่ สว. จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับนี้มีแค่ 6-7 วันเท่านั้น
โดยเมื่อเข้าอภิปรายในวาระ 2-3 อาจจะมีแก้ไขหลายๆเรื่อง และงบฯในญัตติเพิ่มเติมจะเข้ามาในช่วงนั้น ซึ่งทางประธานวุฒิสภามีดำริที่จะให้ตั้ง กมธ.พิจารณา พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 ในส่วนของ สว. จะตั้งพรุ่งนี้เช้า (9 ม.ค.2567) ซึ่งจะมีประมาณ 40 – 41 คน จาก กมธ.ต่างๆ จากวิป และมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกอีก 5 คน ซึ่งจะมีการประชุมร่วมกันทุกวัน เริ่มตั้งแต่วันจันทร์ ที่ 15 ม.ค. นี้ ควบคู่ขนานไปกับทางสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การทำงานในส่วนราชการเป็นไปได้สะดวก
ทั้งนี้ เมื่อรัฐบาลมาชี้แจงกับสภาผู้แทนราษฎรแล้วเสร็จ อีก 1-2 วัน ก็จะมาชี้แจงกับ สว. ซึ่งจะเดินคู่กันไปเช่นนี้ และคาดว่า วันที่ 20 กว่าๆของเดือนมีนาคม น่าจะจบพร้อมกับ สว. จากนั้นรอดูการแปรญัตติ และสามารถส่งรายละเอียดต่างๆให้สมาชิกวุฒิสภาพิจารณา เพื่อเตรียมอภิปรายงบในวันที่ 9 เมษายนได้ ฉะนั้น ในฟอร์แมตต่างก็ได้เตรียมการไว้แบบนี้ เพื่อให้การพิจารณาร่างงบประมาณของ สว. ได้เห็นข้อชัดเจนและดูรายละเอียดเพียงพอ พร้อมทั้งได้ให้เอกสารไปเรียบร้อยแล้ว 2 วัน
ซึ่งเท่าที่มองภาพรวมของงบประมาณ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า แน่นอนว่ามีความจำกัดในการตั้งงบ แต่รัฐบาลดันไปถึง 3.48 ล้านล้าน จึงทำให้งบกู้เพิ่มมากขึ้น สิ่งที่เรามองขณะนี้ มี 2-3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.งบลงทุน ที่ร้อยละ 20 ยังถือว่าไม่มากเพียงพอที่จะผลักดันให้หลุดพ้นจากความเป็นประเทศที่มีปัญหามาตลอด 3-4 ปีจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังมีเรื่องการผลักดัน GDP ให้สูงขึ้น 3-4 เปอร์เซ็นต์ หรือ 5 เปอร์เซ็นต์ ตามที่รัฐบาลมุ่งหวัง ด้วยงบที่จะทำขึ้น และมีงบลงทุนร้อยละ 20 ตนคิดว่ายังน้อยไป
2.สิ่งที่เรามองเห็น ดูจากการอภิปรายของ สส. จะเห็นว่าในส่วนของนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ มันไม่สะท้อนอยู่ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้เท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และงบฯทั้งหมดเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปีที่แล้ว อย่างงบฯท้องถิ่นก็เพิ่มร้อยละ 9 เหมือนเป็นการกระจายออกไปทั่ว ฉะนั้น การจะมุ่งไปสู่นโยบาย Soft Power นโยบายส่งเสริมศักยภาพของประเทศในการแข่งขัน หรืองบดิจิทะลวอลเล็ต ก็ยังต้องรอความหวังจากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. เงินกู้อีก 1 ฉบับ ซึ่งตรงนี้มองเห็นว่ามันน่าจะจัด พ.ร.บ. งบประมาณปีนี้ให้ดีขึ้น
ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่า มีข้อจำกัดเพราะรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาอยู่เพียง 2-3 เดือน ดังนั้น ต้องหวังว่า พ.ร.บ. งบประมาณปี 2568 ที่จะตามมาอีกไม่นานจะมีอะไรที่มีความชัดเจนและส่งเสริมการพัฒนาประเทศ รวมถึงการยกระดับ GDP ให้สูงขึ้นอย่างที่รัฐบาลคาดหวัง พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
ส่วนเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ดูแนวโน้มแล้วว่ารัฐบาลจะต้องกู้ ในส่วนของ สว.คิดเห็นอย่างไร เพราะไม่มีในงบประมาณปี 67 พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ใช่ เพราะดิจิทัลวอลเล็ต คงต้องรอนายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้ (7 ม.ค.2567) ว่า อีกไม่เกิน 2 วัน หรือวันพรุ่งนี้ (9 ม.ค.2567) จะออกมาชี้แจงว่า กฤษฎีกามีความเห็นอย่างไร และนายกฯ จะเดินต่ออย่างไร ซึ่งตอนนี้ยังคงคาดเดาอะไรไม่ได้ เพราะกฤษฎีกาพิจารณาเรื่องนี้แล้ว ขณะเดียวกัน มีหลายฝ่ายยังไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะการคิดนโยบายดังกล่าว อาจเป็นช่วงที่มีวิกฤตทางเศรษฐกิจ ตนมองว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินให้ไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งหลายประเทศในโลกก็ทำกัน สิงคโปร์ และ จีน ก็ทำ แต่วันนี้วิกฤตของเศรษฐกิจยังไม่เลวร้ายนัก และเงินเฟ้อต่างๆไม่ได้เป็นไปอย่างที่นักเศรษฐศาสตร์โลกได้ประมาณการไว้ ฉะนั้นการนำเงิน 5 แสนล้านไปแจกประชาชน และหากเกิดวิกฤตขึ้นมาในปีหน้า (2568-2569) เราจะมีปัญหามาก “จึงอยากให้รัฐบาลคิดอีกครั้ง ว่าจะเดินหน้านโยบายนี้ต่อไปหรือไม่” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้ เรื่องการอภิปรายโดยไม่ลงมติ ซึ่งเป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้อำนาจแก่ สว.ไว้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง และมีออกมาให้ข่าว 2 คน ซึ่งตนยังไม่ได้ดูรายละเอียดจึงยังไม่สามารถตอบได้ ว่า สว.ส่วนไหนติดใจเรื่องอะไร คงต้องรอความชัดเจนก่อน เนื่องจาก สว.จะต้องใช้เสียง 1 ใน 3 ของ สว.ลงนาม ประมาณ 80 กว่าคน ซึ่งไม่น้อย และตนได้พูดคุยกับ สว.บางคนว่า รัฐบาลที่แล้วทำงานมา 4 ปี ทำไม สว.ไม่เปิดอภิปราย แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันทำงาน 3 เดือนกว่า แต่อภิปรายแล้ว ฉะนั้น จึงต้องดูประเด็นว่ามีประเด็นที่ชัดเจนว่าจะต้องใช้มาตรานี้หรือไม่
ส่วนจะให้เวลารัฐบาลในการทำงานนานแค่ไหน พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า อย่างน้อยให้ใช้งบประมาณผ่านสิ้นปี 67 นี้ไปก่อน แต่พวกตนก็จะไปก่อนเหมือนกัน ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวถามทิ้งท้ายว่า จะทิ้งทวนเวทีก่อนจะลาไปใช่หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า “เผอิญ ตนไม่มีทวนอะไรจะทิ้งแล้วละ (หัวเราะ)”
/////