กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งเสริมการตลาดเชิงรุก นำสุดยอดกาแฟ 17 จังหวัดภาคเหนือออกจัดแสดงศักยภาพในงาน “NORTHERN THAI COFFEE PARADISE 2024” ชูกาแฟอะราบิกาดีที่สุดของไทย และกาแฟ GI ภาคเหนือ เป็นจุดขาย ขยายสู่ตลาดสากล
วันที่ 5 มี.ค. 2567 ที่ห้องจูปิเตอร์ 4-5 อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนนโยบาย “ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” เน้นการรดน้ำที่รากดูแลคนตัวเล็ก ว่าเป็นการทำงานเชิงรุกและบูรณาการการทำงานร่วมกันของกระทรวงพาณิชย์ จังหวัด และกลุ่มภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งเป้าไปที่กาแฟ ซึ่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือ และเกี่ยวข้องกับคนตัวเล็กมากที่สุด กระทรวงพาณิชย์จึงได้มีการส่งเสริมให้จัดงาน “ภาคเหนือ สวรรค์ของเมืองกาแฟ” หรือ NORTHERN THAI COFFEE PARADISE 2024 ขึ้น ระหว่างวันที่ 14 – 18 มีนาคม 2567 ณ ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เพื่อสืบสาน พัฒนาต่อยอดแนวพระราชดำริฯ และสร้างเครือข่ายนำกาแฟภาคเหนือของไทยก้าวสู่การค้าในระดับสากล
“ภาคเหนือนับเป็นพื้นที่ผลิตกาแฟอราบิกาที่ดีที่สุดในเมืองไทย เกิดขึ้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีพระราชวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีพระราชดำริให้นำเมล็ดกาแฟไปส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงในภาคเหนือนำไปปลูก เพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น แก้ปัญหายาเสพติด การตัดไม้ทำลายป่า และความยากจน โดยปัจจุบันจังหวัดเชียงรายถือเป็นพื้นที่ปลูกกาแฟอราบิกาแหล่งใหญ่ที่สุดและดีที่สุดของประเทศไทย และยังมีกาแฟในอีกหลายพื้นที่ในภาคเหนือที่ได้รับการส่งเสริมและขึ้นทะเบียน GI แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกาแฟอราบิกาที่ปลูกในประเทศไทย ที่ผ่านมาจังหวัดในภาคเหนือร่วมสานต่อแนวพระราชดำริฯ ได้มีนโยบายและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาส่งเสริมการปลูกกาแฟในภาคเหนืออย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริม พัฒนาต่อยอดเพิ่มโอกาส ช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกาแฟในภาคเหนืออย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการจัดงาน “ภาคเหนือ สวรรค์ของคนรักกาแฟ” หรือ Northern Thai Coffee Paradise 2024 ขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นการรับรู้กาแฟภาคเหนือผ่านการทำตลาดเชิงรุกที่มีความสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ด้วย” หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
ด้านนางสาวปาริชาติ พงค์พันเทา พาณิชย์จังหวัดตาก กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ ว่าจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การผลิตอย่างยั่งยืน (sustainable coffee production) และความหลากหลายทางชีวภาพ” โดยมีการนำผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟ ผลิตภัณฑ์ที่ต่อเนื่องกาแฟ ของภาคเหนือ 17 จังหวัด มาจัดแสดงและจัดจำหน่ายให้กับประชาชน และผู้ที่รักการดื่มกาแฟ โดยในงานยังมีการจัดกิจกรรมแข่งขันกาแฟ Thailand Cup Taster Championship 2024 และการแข่งขัน Thailand Brewers Cup 2024 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พร้อมกิจกรรมมากมายที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกาแฟภาคเหนือที่มีมาตรฐานระดับสากล รวมถึงกาแฟ specialty coffee ของภาคเหนือ ที่มีเอกลักษณ์ของรสชาติโดดเด่นจนเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางอีกด้วย
“การจัดงานครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด เกษตรกร และผู้ประกอบการกาแฟ โดยมีการคัดสุดยอดกาแฟของแต่ละจังหวัดรวมกว่า 100 ราย มาจัดแสดงศักยภาพและเปิดโอกาสให้เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์กาแฟและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ได้ต่อยอดขยายช่องทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น และยังช่วยให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้สามารถแข่งขันในตลาดเป้าหมายด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมากาแฟอราบิกาที่ดีที่สุดของไทยก็คว้ารางวัลจากการประกวดสุดยอดกาแฟ ทั้งระดับประเทศและนานาชาติมามากมาย อาทิ กาแฟเกอิชา กาแฟชั้นเลิศของโลกจากจังหวัดน่าน กาแฟจากแหล่งปลูกกาแฟต้นน้ำของจังหวัดเชียงราย กาแฟดอยผักกูด จังหวัดแม่ฮ่องสอน และกาแฟจากพื้นที่ปลูกที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร และพระราชทานพระราชดำริให้ส่งเสริมปลูกกาแฟอราบิกาทดแทนการปลูกฝิ่น เช่น กาแฟดอยมูเซอ ต.ด่านแม่ละเมา อ.แม่สอด จ.ตาก กาแฟบ้านหนองหล่ม ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ และกาแฟไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ในระดับสากลจากสหภาพยุโรปอย่างกาแฟดอยตุง และกาแฟดอยช้าง เป็นต้น” พาณิชย์จังหวัดตาก กล่าว
ด้านนางสุเกวรินทร์ เหล็กนาพญา พาณิชย์จังหวัดน่าน กล่าวเสริมถึงการจัดงาน “ภาคเหนือ สวรรค์ของเมืองกาแฟ” NORTHERN THAI COFFEE PARADISE 2024 ว่าเป็นการรวบรวมสุดยอดกาแฟของ 17จังหวัดภาคเหนือที่ยิ่งใหญ่และนับเป็นครั้งแรก โดยนอกจากจะเป็นการแสดงศักยภาพของกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของแต่ละจังหวัดแล้ว ยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของพืชกาแฟที่มีส่วนช่วยดูแลป่ารักษาต้นน้ำด้วย โดยในงานนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ 10 สุดยอดกาแฟภาคเหนือ กาแฟไทย กาแฟจีไอ และการเจรจาการค้า เวทีแลกเปลี่ยนพบปะเรียนรู้ระหว่างเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และภาคธุรกิจด้วย ซึ่งในส่วนของจังหวัดน่านก็ได้มีการนำกาแฟที่ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI จากสหภาพยุโรปมาโชว์ศักยภาพในงานด้วย นั่นคือ กาแฟ “เกชา” หรือ “เกอิชา” (Gesha/Geisha) ซึ่งเป็นกาแฟอราบิกาชั้นเลิศของโลก สายพันธุ์จากประเทศเอธิโอเปีย ที่นำมาปลูกพื้นที่มณีพฤกษ์จังหวัดน่าน เป็นกาแฟที่ให้รสอ่อนไม่ขม รสชาติจะออกหวานคล้ายส้ม และให้กลิ่นอ่อนของผลไม้ และได้รับรางวัลชนะเลิศสุดยอดกาแฟไทยมาหลายเวที
นางวิไลวรรณ ทวิชศรี นักวิชาการเกษตรชำนาญพิเศษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงภารกิจการส่งเสริมพัฒนากาแฟภาคเหนือ กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมกับร่วมกับหน่วยงาน ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องและได้ส่งเสริมการพัฒนากาแฟการบวนตั้งแต่การพัฒนาสายพันธุ์ เพิ่มองค์ความรู้เสริมทักษะเพิ่มขีดความสามารถให้กับเกษตรกรต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งกระบวนการผลิต การสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการแปรรูปให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรและสนองตอบเทรนด์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ซึ่งการส่งเสริมพัฒนากาแฟของภาคเหนือยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ องค์การสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดงานการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ชนะเลิศรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และกาแฟของเกษตรกรในภาคเหนือ สามารถคว้ารางวัลมากที่สุด สำหรับการจัดงาน “ภาคเหนือ สวรรค์ของเมืองกาแฟ ” หรือ NORTHERN THAI COFFEE PARADISE 2024 นับเป็นโอกาสที่ดีที่การต่อยอดเชื่อมโยงทางการตลาดกาแฟ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกาแฟภาคเหนืออย่างยั่งยืนต่อไป
ดร.ธีรวัฒน์ วงศ์วรทัต นายกมาคมกาแฟและชาไทย กล่าวถึงความร่วมมือสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ ว่าสมาคมฯ เล็งเห็นถึงโอกาส และบทบาทความสำคัญของการกระทรวงพาณิชย์ที่มีต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง จึงเข้ามาช่วยประสานและร่วมจัดกิจกรรมในครั้งนี้ อาทิ กิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านกาแฟที่เตรียมมาให้ผู้สนใจด้านกาแฟได้ร่วมเรียนรู้ การคัดสุดยอดกาแฟที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ ทั้งกาแฟอราบิกา โรบัสตา และ 10 สุดยอดกาแฟไทย TCE 2566 ที่ชนะเลิศรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะนำมาคั่วโดยแชมป์คั่วกาแฟอันดับ 1 ของประเทศไทย รวมถึงการจัดแสดงกาแฟที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI กาแฟที่อยู่ระหว่างการรับรองขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI กาแฟได้รับตรามาตรฐาน Rainforest Alliance Certified (รับรองโดย Rainforest Alliance องค์กรนานาชาติ) ว่าเป็นกาแฟจากแหล่งปลูกที่ช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสนับสนุนการจัดกิจกรรมการแข่งขันอีกหลายรายการตลอดระยะเวลาการจัดงานในครั้งนี้
งาน “ภาคเหนือ สวรรค์ของคนรักกาแฟ” ( Northern Thai Coffee Paradise 2024 ) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม 2567 ณ Alive Park Hall ชั้น G ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การสาธิตเทคนิคการทำกาแฟ การเสวนาแนวโน้มการพัฒนาและการเติบโตของกาแฟภาคเหนือ กิจกรรมส่งเสริมการขายจำหน่ายสินค้าภายในงานราคาพิเศษ กิจกรรมสันทนาการดนตรีสด และมินิคอนเสิร์ตของศิลปินชื่อดังทุกวัน กิจกรรมพบคู่ค้าและจับคู่เจรจาธุรกิจ กิจกรรมโซน Coffee for rest และรับแจกต้นกาแฟกว่า 2,000 ต้น ฟรี ทุกวัน
1. การสาธิตดริป ชิมทดสอบรสชาติสุดยอดกาแฟไทย ประจำปี 2566 รางวัลถ้วยพระราชทานฯ จำนวน 5 ตัวอย่าง
กาแฟที่ชนะรางวัลประกวดสุดยอดกาแฟไทย ประจำปี 2566 จำนวน 5 รายการ มีดังนี้
ประเภทที่ 1 กาแฟอาราบิก้า กระบวนการแปรรูปโดยวิธีแห้ง (Dry Process) นายวิชัย กำเนิดมงคล จาก จ.น่าน
ประเภทที่ 2 กาแฟอาราบิก้า กระบวนการแปรรูปโดยวิธีเปียก (Wet Process) นางสาวนภาพร กำเนิดมงคล จาก จ.น่าน
ประเภทที่ 3 กาแฟอาราบิก้า กระบวนการแปรรูปโดยวิธีกึ่งแห้ง (Honey Process) นายวิชัย กำเนิดมงคล จาก จ.น่าน
ประเภทที่ 4 กาแฟอาราบิก้า กระบวนการแปรรูปโดยใช้นวัตกรรม (Innovative Process) นายพันธมิตร ดวงตะวันจันทรา จาก จ.เชียงราย
ประเภทที่ 5 กาแฟโรบัสตา (ไม่แยกกระบวนการแปรรูป) นายนพรัตน์ ไชยมงคล จาก จ.เชียง
2. สาธิตชิมกาแฟที่ได้รับรอง Rainforest Alliance Certified มาตรฐานกาแฟสิ่งแวดล้อมระดับโลก ในประเทศไทย จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย
1.กาแฟออแกนิค รักษาป่า Alexta Coffee Roaster เชียงราย,
2.First Valley Coffee Estate | Doi Saket เชียงใหม่ และสาธิต / ชิม กาแฟจากพื้นปลูกต้นน้ำในจังหวัดในภาคเหนือ จำนวน 3 ตัวอย่าง ( จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย) คั่วโดยแชมป์คั่วกาแฟอันดับหนึ่งของประเทศไทย
3. ชิมกาแฟจากพื้นปลูกต้นน้ำในจังหวัดในภาคเหนือ จำนวน 3 ตัวอย่าง ( จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย)คั่วโดยแชมป์คั่วกาแฟ
อันดับหนึ่งของประเทศไทย ปี 2566 ประกอบด้วย
(1.) กาแฟทีลอซู จากป่าตะวันตก “จิบกาแฟอินทรีย์ จูบวิถีเป็นมิตรกับผืนป่า” โดยคุณณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา ชาวไทยเชื้อสายม้ง เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟรักษาป่าต้นน้ำ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก น้ำตกทีลอซูต้นกำเนิดของลำน้ำแม่กลองโมเดลธุรกิจยั่งยืนที่เพิ่มมูลค่าให้ชุมชนและส่งผลประโยชน์ต่อผืนป่า
(2.) ชิม Ethnic Coffee กาแฟจากพื้นปลูกต้นน้ำ บ้านดอยผักกูด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นต้นน้ำของน้ำแม่ลาง ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 1,423 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุด ประมาณ 1,865 เมตร ซึ่งการปลูกกาแฟ เกษตรกรไม่มีการใช้สารเคมีใดๆในพื้นที่ จนกลายเป็นกาแฟออแกนิค ช่วยดึงรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของกาแฟออกมาได้อย่างดี ซึ่งรสชาติที่ได้จะออกไปทาง ผลไม้อบแห้ง (Dried Fruit), Plum, Rum, Sweetness ซึ่งเมล็ดกาแฟตัวนี้จะให้รสชาติ Body ของกาแฟด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเมล็ดกาแฟที่มีเสน่ห์และเอกลักษ์เฉพาะตัว เหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟที่ให้กลิ่นและรสชาติอบอวลอยู่ในปากและลำคอ หลังจากการดื่ม ของคุณถนัด วันมณี ผู้ชื่นชอบและหลงใหลในความงดงามของธรรมชาติรวมถึงโลกของกาแฟ
(3.) ชิมกาแฟจากพื้นปลูกต้นน้ำขุนลาว จังหวัดเชียงราย บ้านขุนลาว ที่ราบสูงระหว่างภูเขา เป็นแนวยาวไปตามทางทิศเหนือ ที่ผ่านมาชาวบ้านช่วยกันรักษาผืนป่าเพื่อต้นน้ำที่สะอาด กาแฟเป็นพืชสำคัญที่จะช่วยผืนป่าไว้ได้ กาแฟขุนลาวมีชื่อเสียงและได้รับรางวัลกาแฟที่ดีที่สุดในประเทศไทย 2 ปีซ้อน ได้ชื่อว่า “ดินแดนบ้าป่า ชา กาแฟเลิศรส ดอยหมดสูงเสียดฟ้า ป่าต้นน้ำขุนลาว ชาวบ้านจิตใจงาม” โดยวิสาหกิจวนเกษตรอินทรีย์เชียงราย
#กระทรวงพาณิชย์ #พณ #สุดยอดกาแฟ17จังหวัดภาคเหนือ #NORTHERNTHAICOFFEEPARA