พลังไอเดียเปลี่ยนชีวิต “ลูกจันทร์-ศรัจจันทร์ พลอยบุศต์” ผู้ชนะงาน “DPU Hackathon” สู่เส้นทาง CEO ดาวรุ่ง และอาจารย์ IC ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
เรื่องราวขบวนพาเหรดแห่ง “โอกาส ทักษะ และพลังไอเดีย” ที่ได้จากงาน Hackathon มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ที่ขีดเขียนสะกดคำว่า “สำเร็จ” ให้กับ “ลูกจันทร์-ศรัจจันทร์ พลอยบุศต์” อาจารย์ International College (IC) ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และนักธุรกิจรุ่นใหม่วัย 20 นิดๆ ที่ก้าวขึ้นสู่การเป็น CEO และ Co-Founder ของธุรกิจและต่อยอดไปถึงการเป็น Influencer ไปจนถึงงานพิธีกร นักแสดงซีรีส์ ถ่ายโฆษณา ดารานางเอกเอ็มวีเพลง
ในบรรยากาศในงาน Hackathon DPU ครั้งที่ 4 ณ ห้องประชุมสนม สุทธิพิทักษ์ ในปี 2567 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26-27 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา เพื่อให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง พร้อมกับเสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อาทิ ทักษะการแก้ปัญหา การคิดเชิงวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม การนำเสนอ การคิดเชิงสร้างสรรค์ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้นักศึกษาทุกคนมีศักยภาพพร้อมสำหรับก้าวไปกับโลกยุคใหม่
เราจึงเดินทางไปพบกับ “ลูกจันทร์-ศรัจจันทร์ พลอยบุศต์” ซึ่งเคยเป็นผู้เข้าร่วมแข่งขันใน Hackathon รุ่นก่อนหน้าเพื่อพูดคุยและแชร์ประสบการณ์ โดยเธอเริ่มต้นกล่าวก่อนจะอธิบาย “ข้อดี” และ พลังบวกที่ได้รับในระหว่าง 36 ชม. ของการแข่งขันว่า “งาน Hackathon เป็นเหมือนเวทีที่เปิดโอกาสให้ได้ฝึกฝนทักษะต่างๆ ประสบการณ์ผ่านวิทยากร และนำเอาความรู้หรือไอเดียที่ได้ไปต่อยอดสร้างให้เกิดขึ้นและจับต้องได้จริง ไม่ใช่อยู่แค่ในความคิด และไม่ใช่คำโฆษณาเกินจริงเพราะเรื่องธุรกิจมันสามารถนำไปใช้ได้กับทุกอย่างในชีวิต ตรงกับสโลแกน DPU ที่กล่าว่า “นักธุรกิจคือผู้สร้างชาติ” ทำให้สามารถเปลี่ยนให้เด็กคนหนึ่งให้กลายเป็นนักธุรกิจในอนาคตได้”
“ลูกจันทร์-ศรัจจันทร์” ขยายความพิเศษของงาน Hackathon ว่าคือ เวทีแห่งการได้ฝึกฝนทักษะทางด้านธุรกิจ การสื่อสาร ความเป็นผู้นำที่ครบครัน และล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกของความเป็นจริง เราจะได้ความรู้มากมายแบบอัตโนมัติตลอดการร่วมงาน โดยภายใต้กฎเกณฑ์และกติกาต่างๆ ที่กำหนดขึ้น จะมีลักษณะองค์ประกอบคร่าวๆ คือ 1.การแบ่งผู้เข้าร่วมทั้งหมดออกเป็นทีม โดยแต่ละทีมจะประกอบด้วยสมาชิกที่มีไม่รู้จักกัน และมีความต่างกันทางด้านทักษะกับประสบการณ์ เช่น กฎหมาย วิศวกรรม การตลาด ฯลฯ จุดนี้จะช่วยฝึกในเรื่องของ “การทำงานเป็นทีม” และ “การสื่อสาร” รวมไปถึง “การเคารพในความคิดเห็นของผู้อื่น” พร้อมกับ “เชื่อมโยงองค์ความรู้” และ “เทคโนโลยีแต่ละด้าน” เข้าไว้ด้วยกัน
2.การเฉลยประกาศโจทย์ ณ พิธีเปิดเริ่มงาน และหัวข้อที่แตกต่างกันในแต่ละปีที่ต้องทำให้สำเร็จใน 36 ชั่วโมง ฝึกในเรื่องของ “การปรับตัว” และ “ความอดทน” เพื่อให้สามารถรับมือโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยผู้เข้าร่วมจะต้องคิดหาวิธีแก้ปัญหาใหม่ๆ ต้องใช้ทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่น ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ พร้อมรับมือกับปัญหาที่ไม่คาดคิด การปรับเปลี่ยนแผน Business Plan ที่วางไว้ และหาวิธีแก้ไขที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
“สมมุติ ทีมทำแอปพลิเคชันออกมาช่วยแก้ปัญหาในธุรกิจหนึ่งอย่าง เราต้องทำ Validation หรือ การทวนสอบ โดยโทรไปถามลูกค้าบอกว่ามีเซอร์วิสมานำเสนอ เพื่อดูมีต้องการหรือมีคนใช้บริการของเราหรือไม่ หลังจากนั้นก็พัฒนาเป็น Mock up เป็น Demo จริงๆ เพื่อไปนำเสนอ” ลูกจันทร์-ศรัจจันทร์ กล่าว
นอกจากนี้ อุปสรรคระหว่างทางที่ทำกิจกรรมในแต่ละขั้นตอนไม่ว่าจะช่วงที่พัฒนาและบริหารยังเสริมวิธีคิดแบบ “การมีเป้าหมายที่ชัดเจน” และความใจต่อปัญหา “การไม่ย่อท้อ” ให้แข็งแกร่งขึ้น ไม่ว่าจะเจออะไรระหว่างทางที่ทำให้ล้มลงก็พร้อมที่จะลุกขึ้นมาเรียนรู้ใหม่และก้าวต่อไป ซึ่งเป็นทักษะที่ตรงกับข้อมูลของคนประสบความสำเร็จระดับโลก เน้นย้ำสิ่งที่ผู้นำ หรือ มืออาชีพในองค์กรพึงมีในปี 2024 และอนาคต
“ทำธุรกิจไม่ใช่ทำแล้วจะรวยเลย บางคนเข้ามาแรกๆ มีไฟ พอทำไปเหนื่อยก็หยุด ซึ่งจริงๆแล้ว เรื่อง Lifelong Learning การไม่หยุดที่จะเรียนรู้นี้สำคัญมากที่สุด หรือ ทักษะ Management บริหารจัดการคน และ เวลาให้ดี ก็สำคัญมาก เพราะต่อให้ไม่ได้ทำงานเป็นทีมแต่เวลาเราทำงานจริงต้องทำงานร่วมกับคนอยู่ดี ดังนั้นบางเรื่องถ้าวางแผนไม่ดี หรือ มีอะไรตกหล่น ก็อาจจะกระทบงาน และ ผู้อื่นได้ การเข้าร่วมตรงนี้สร้างสกิลเยอะมาก เรียกได้ว่าครบ DPU Core (Core Curriculum) หรือการพัฒนาทักษะ 6 ประการที่เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงแต่น้ำหนักในสกิลทั้งหมดจะมากน้อยต่างกันไปที่ได้ในแต่ละคน”
ลูกจันทร์-ศรัจจันทร์ เล่าต่อว่า อีกประการที่เป็นประโยชน์สำคัญของงาน Hackathon คือ การได้มี ‘โอกาสรับฟังประสบการณ์ตรง’ จากผู้ประสบความสำเร็จ ซึ่งช่วยทั้งการเปิดมุมมองโลกทัศน์และแรงบันดาลใจให้กว้างขึ้นไปพร้อมกัน “เราเป็นเด็กตัวเล็กๆ ไม่คิดว่าจะเข้าถึง CEO ระดับร้อยล้าน พันล้าน แต่เรามาร่วมงานวันนี้เราได้ยืนข้าง และเขาแชร์ประสบการณ์ให้เราฟัง เรารู้สึกว่าเราก็เหมือนพี่ๆ แบบนี้ได้”
โดยก่อนหน้านี้เธอไม่มีความรู้ทางด้านธุรกิจ เธอมีเพียงแต่ไอเดียและรู้ว่าตัวเองชอบการค้าการขายตามครอบครัวเท่านั้น แต่หลังจากเข้าร่วมงานฝันในการเป็น “นักธุรกิจ” ก็เกิดขึ้นจริงได้ในวัยแค่ 18 ปี “การได้เจอ Mentor ที่มีประสบการณ์จริงๆ ในด้านธุรกิจ เป็นโอกาสล้ำค่าที่จะผลักดันธุรกิจของเราให้เติบโตก้าวหน้าต่อไป เพราะนอกจากจะได้มุมมอง ทัศนคติ ความรู้จากคำแนะนำคอมเมนต์ การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ Business Idea ของเรา ยังอาจสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เรา กรณี Business Idea หรือ Business Plan ของเราน่าสนใจ เมนเทอร์อาจจะแนะนำเราให้รู้จักกับคนที่กำลังสนใจในธุรกิจด้านนี้ หรืออาจจะช่วยแนะนำให้กับนักลงทุน”
และด้วยวัตถุประสงค์ของงาน Hackathon เกิดขึ้นเพื่อระดมความคิดในการแก้ไขปัญหา ทำให้หลายองค์กรทางธุรกิจมากมายได้ประยุกต์ใช้กิจกรรมเพื่อค้นหาไอเดียทางธุรกิจใหม่ๆ จากบุคลากรทั้งภายในและภายนอกองค์กร และยังถูกปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาที่กว้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเทคโนโลยี สังคม หรือกระทั่งการศึกษา “บทเรียน” ของกิจกรรมนี้หากมองให้ลึกจึงไม่เพียงช่วยให้เด็กมีศักยภาพแต่ภายนอกเท่านั้น หากแต่ช่วยในเรื่องของจิตใจและสร้างความภาคภูมิใจแฝงไว้อีกด้วย
“การแข่งขันมีชนะและแพ้ และบางทีเส้นทางสู่ความสำเร็จไม่ได้ถูกกำหนดด้วยชัยชนะเพียงอย่างเดียว หลายๆครั้งไอเดียธุรกิจที่ชนะก็ไม่สามารถนำผลงานไปพัฒนาต่อให้เป็นธุรกิจจริงได้ กลับกันทีมที่ไม่ได้ชนะแต่ทางทีมเอาไปพัฒนาต่อให้เกิดเป็นธุรกิจจริงก็มี ดังนั้นแพ้หรือชนะ ไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่า Business Idea หรือ Business Plan ดีหรือไม่ดี บางทีมันอาจจะดีแต่แค่ไม่ตรงกับจุดประสงค์หลักของงานเท่านั้น อย่าปล่อยให้คำตัดสินเป็นตัวชี้วัดคุณทั้งหมด ถ้าไม่ชนะขอให้สู้ต่อไป ขอบคุณตัวเองที่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้เราเก่งมากแล้ว”
“เพราะบางทีจังหวะชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ที่เหมือนกันคือทุกอย่างดีขึ้นได้ถ้าเราคิด ลงมือทำ และการไม่หยุดพัฒนาความรู้ มุมมอง หรือแม้กระทั่งความรู้สึกในการคิดบวกอยู่เสมอ เพราะการคิดบวกจะเป็นประตูให้เราไปต่อได้ ขอให้เชื่อมั่นในตัวเองว่า เราคนหนึ่งคนสามารถเปลี่ยนโลกใบนี้ได้ โดยที่เริ่มจากสิ่งเล็กๆ เช่น ครอบครัว กลุ่มเพื่อน ชุมชน เพราะหลายธุรกิจถูกสร้างมาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ รอบตัวเช่นกัน”
#ทักษะและพลังไอเดีย #Hackathon #มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ #DPU #ศรัจจันทร์พลอยบุศต์ #InternationalCollege #IC #ข่าวการศึกษา #MissionThailand