“โปรเหมียว” ปภังกร ธวัชธนกิจ แชมป์เมเจอร์คนล่าสุดให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าศึกกอล์ฟยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น เมเจอร์เก่าแก่ที่สุดของกอล์ฟหญิงนั้น มีความยากทั้งสนาม และอุปสรรคสภาพกาศ ต้องเล่นแบบช็อตต่อช็อต และยังเผยอีกว่าแม้ว่าตัวเองจะตีไกลแต่ไม่ใช่ข้อได้เปรียบนักกอล์ฟคนอื่น
สมาคมกอล์ฟแห่งสหรัฐอเมริกาหรือยูเอสจีเอ จัดการแข่งขันกอล์ฟยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น ครั้งที่ 76 ที่ดิ โอลิมปิก ชานนครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 3-6 มิถุนายน 2564 เงินรางวัลรวม 5.5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 170.5 ล้านบาท ซึ่ง คิม อา-ริม จากเกาหลีใต้ เป็นแชมป์เมื่อปีที่แล้วลงป้องกันแชมป์ของเธอในปีนี้หลังจากคว้าแชมป์มา 6 เดือนที่แล้ว
ความเคลื่อนไหวล่าสุด “โปรเหมียว” ปภังกร ธวัชธนกิจ มืออันดับ 10 ของโลกแชมป์เมเจอร์คนล่าสุดให้สัมภาษณ์ เมื่อวันอังคารที่ 1 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น ถึงการเตรียมพร้อมก่อนทำศึกกอล์ฟยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น ว่า “แน่นอนค่ะรายการนี้เป็นรายการที่พิเศษเหมือนกับรายการอื่นๆ ที่เหมียวเล่น ในสัปดาห์นี้ก็จะเป็นการเล่นครั้งที่ 5 ในเมเจอร์นี้และครั้งนี้พิเศษตรงที่มาในฐานะแชมป์เมเจอร์ นอกจากนี้รายการของสมาคมกอล์ฟแห่งสหรัฐอเมริกาพวกเขาปฏิบัติต่อนักกีฬาเป็นอย่างดีตั้งแต่ยูเอสเกิร์ล และยูเอส อเมเจอร์แล้ว และเหมียวก็พยายามที่จะให้ได้กลับมาแข่งขันทุกๆปี”
ปภังกร เพิ่งจะคว้าแชมป์อาชีพรายการแรกของตัวเองในแอลพีจีเอ ทัวร์ ในรายการเอเอ็นเอ อินสปิเรชั่น เมเจอร์แรกเมื่อต้นเดือนเมษายน เผยถึงการเล่นเมเจอร์ที่สองของปีรายการนี้ว่า “ต้องยอมรับว่ายูเอส วีเมนส์ โอเพ่น เป็นรายการที่สนามยากมาก และยังมีอุปสรรคเกี่ยวกับสภาพอากาศที่ต้องต่อสู้อีกด้วย จากที่ซ้อมช่วง 9 หลุมหลังอาจต้องใช้ไดรฟ์เวอร์บ้าง และสนามนี้อุปสรรคที่ยากอีกอย่างก็คือรัฟที่ยาว เพราะฉะนั้นหากคุณพลาดแฟร์เวย์จะทำให้แก้ไขยาก และอีกอย่างก็ต้องมีโอกาสต้องตีไปหน้ากรีนเพื่อให้ไหลเข้ากรีน หรือเข้าหาธงเลย”
ส่วนเรื่องการเล่นในหลุม 16 พาร์ 5 ซึ่งเป็นหลุมที่ยาวที่สุดนั้น ปภังกร จะเล่นอย่างไร เธอตอบว่า “หลุมนี้เหมียวก็จะเล่นเหมือนกับหลุมพาร์ 5 ยาวทั่วๆไป ต้องเล่น 3 ช็อต และช็อตสองต้องให้อยู่ในแฟร์เวย์เพื่อมีโอกาสตีเข้าออนกรีนหากช็อตสองไม่อยู่ในแฟร์เวย์ก็จะเจอกับปัญหาอย่างแน่นอน”
ปภังกร ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายในปีนี้ว่า “เป้าหมายของเหมียวก็คือพยายามพัฒนาตัวเอง แต่ก็รู้สึกเป็นเกียรติที่ทุกคนมองเราในฐานะแชมป์เมเจอร์ แม้ว่าเหมียวจะเป็นแชมป์เมเจอร์แต่ชีวิตก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากทุกคนก็ปฏิบัติต่อเหมียวเหมือนเดิมเมื่อกลับบ้าน แม้ว่าอาจได้พิเศษขึ้นมาบ้างสิ่งสำคัญก็คือคนรักเราเพราะเราเป็นใครนั่นคือสิ่งสำคัญในชีวิตเรา”
สำหรับสถิติการแข่งขันในรายการยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น ของ ปภังกร 4 ครั้งก่อนหน้านี้ เล่นในฐานะนักกอล์ฟสมัครเล่น2 ครั้งแรกไม่ผ่านตัดตัวในปี 2017 ก่อนจะจบลงอันดับ 5 ร่วมเมื่อปี 2018 คว้ารางวัลนักกอล์ฟสมัครเล่นดีที่สุด (Low Amateur) จากนั้นปี 2019 เล่นในฐานะนักกอล์ฟอาชีพจบลงอันดับ 34 ร่วม และปีที่ผ่านมาไม่ผ่านการตัดตัว
ส่วนผลงานในแอลพีจีเอ ทัวร์ ปีนี้ ปภังกร แข่งขันมา 8 รายการคว้าแชมป์ 1 รายการ และจบลงใน 5 อันดับแรกอีก 3 รายการคืออันดับ 5 ร่วมเกนบริดจ์ แอลพีจีเอ และอันดับ 3 ร่วมรายการเอชเอสบีซี วีเมนส์ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ อันดับ 3 ร่วม และอันดับ 3 ร่วมรายการฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ และรายการล่าสุดเข้ารอบ 8 คนสุดท้ายราบการแอลพีจีเอแมทช์ เพลย์ ที่รัฐเนวาด้า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจาก ปภังกร ธวัชธนกิจ แล้วยังมีนักกอล์ฟสาวไทยคนอื่นๆ ร่วมแข่งขันรายการยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น ได้แก่ “โปรโม” โมรียา จุฑานุกาล “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล แชมป์เก่าเมื่อปี 2018 โปรจัสมิน สุวัณณะปุระ “โปรแหวน” พรอนงค์เพชรล้ำ และ “โปรเมียว” ปาจรีย์ อนันต์นฤการ และ วิชาณีย์ มีชัย
ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.usga.org
เครดิตภาพ: Getty Images
เกี่ยวกับสมาคมกอล์ฟสหรัฐอเมริกา(ยูเอสจีเอ)
สมาคมกอล์ฟสหรัฐอเมริกา(ยูเอจีเอ) ดำเนินการจัดการแข่งขันกอล์ฟรายการยูเอส โอเพ่น (เมเจอร์ชาย) ยูเอส วีเมนส์โอเพ่น (เมเจอร์หญิง) ยูเอส ซีเนียร์ โอเพ่น(เมเจอร์ซีเนียร์ชาย) และ ยูเอส ซีเนียร์ วีเมนส์ โอเพ่น (เมเจอร์ซีเนียร์หญิง) แล้วยังมีรายการชิงแชมป์สมัครเล่น และ แม็ตช์ระดับนานาชาติอีก 10 รายการทำให้นักกอล์ฟ และแฟนจาฟทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
ยูเอสจีเอร่วมกับเดอะ รอยัล แอนด์ แอนเชียนท์ หรืออาร์แอนด์เอ เป็นองค์กรผู้ดูแลเกมกอล์ฟทั่วโลกร่วมกันตั้งกฏกอล์ฟ และ กฎข้อบังคับสถานะนักกอล์ฟสมัครเล่น มาตรฐานอุปกรณ์ที่ใช้แข่งขัน และ อันดับคะแนนสะสมโลกของนักกอล์ฟสมัครเล่นพร้อมกับมีอำนาจการทำงานในสหรัฐอเมริกา ดินแดนในความปกครอง และ เม็กซิโก
ยูเอสจีเอ เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีการวิจัย พัฒนา และ สนับสนุนการจัดการสนามกอล์ฟอย่างยั่งยืนมากที่สุด ทำหน้าที่ผู้ดูแลเบื้องต้นเกียวกับประวัติศาสตร์เกมกอล์ฟ และ การพัฒนาด้านการลงทุนเกมกอล์ฟผ่านการบริหาร และทำงานของมูลนิธิสมาคมกอล์ฟสหรัฐอเมริการวมทั้งการจัดเรตติ้งสนามกอล์ฟ และระบบการจัดแฮนดิแคปที่ใช้กันใน 6 ทวีป