ศิลปกรรมฯ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ จับมือ บูติคนิวซิตี้ ติดอาวุธข้อมูลหลังบ้านแอปฯ Tiktok ปั้นคอนเทนต์โดนใจคน ก้าวขึ้นสู่นักออกแบบที่ครบเครื่อง
หลักสูตรการออกแบบและแฟชั่นธุรกิจ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จับมือ บูติคนิวซิตี้ จำกัด สร้างสรรค์งานร่วมกับนักศึกษา เรียนรู้ระบบหลังบ้านแอปพลิเคชัน Tiktok เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์โดนใจลูกค้า และนักออกแบบที่เจนจบครบทั้งความงามและมูลค่า
ผศ.จักรพันธ์ สุระประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตรการออกแบบและแฟชั่นธุรกิจ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เผยว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการตลาดออนไลน์ที่มีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจ การที่นักศึกษาไม่มีความรู้ความเข้าใจในระบบหลังบ้านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ จะทำให้เสียเปรียบและอาจจะพลาดโอกาสดีๆ ในการต่อเติมไอเดียของตนเอง ทางคณะฯ เข้าใจถึงความสำคัญนี้จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงข้อมูลและเครื่องมือ ซึ่งจะช่วยสร้างสรรค์เนื้อหาคอนเทนต์ที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย และอยู่ในกระแสและมีประสิทธิภาพ พร้อมกับพัฒนาทักษะการทำงานที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการได้งานและการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จง่ายขึ้น
“กิจกรรมนี้สอดคล้องกับแนวคิดของ DPU และสิ่งที่คณะฯ เน้นย้ำ คือ การผสานองค์ความรู้เข้ากับการทำงานจริงร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภายนอก เพื่อเพิ่มประสบการณ์นักศึกษาผ่านการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการตลาดรูปแบบใหม่ การที่นักศึกษาได้มีโอกาสได้ทำงานจริงตั้งแต่กระบวนการรับโจทย์จากลูกค้า บรีฟงาน และสร้างสรรค์คอนเทนต์บน Tiktok ทำให้นักศึกษาเกิดความเข้าใจ และความรู้ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องของการออกแบบเพียงเท่านั้น”
ผศ.จักรพันธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กิจกรรมยังช่วยพัฒนาไอเดียให้แข็งแกร่งขึ้น และอยู่ในกรอบขอบเขตที่เหมาะสมพร้อมกับสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันล้ำค่าที่นักศึกษารุ่นใหม่ที่เติบโตมากับเทคโนโลยี หรือ ‘Digital Native – ดิจิทัลเนทีฟ’ จะได้เรียนรู้และเข้าใจก่อนเข้าสู่โลกของการทำงานและไปลองผิดหรือถูกด้วยตัวเอง
“ผลงานครั้งนี้มันไม่ใช่อยู่แค่ในชั้นเรียน และคอมเมนต์งานกันแค่อาจารย์หรือเพื่อนๆ การได้ลงสู่แพลตฟอร์มจริงๆ นั้นหมายถึงการรับฟีดแบคจากทีมคนที่ทำงานจริงๆ ซึ่งหาได้ยากในสมัยก่อน เพราะเดิมกว่าเราจะได้โอกาสในการปฏิบัติต้องไปขวนขวายหาเอาเองกันข้างนอก แต่อันนี้ทางบูติคนิวซิตี้เล็งเห็นความสำคัญและมาทำให้ถึงมหาวิทยาลัย นับเป็นโอกาสที่ดีมากที่จะทำให้นักศึกษานั้นสามารถพัฒนาได้ตั้งแต่ในวันนี้”
ทางด้านวิทยากรของ บูติคนิวซิตี้ จำกัด กล่าวชื่นชมผลงานนักศึกษาในครั้งแรกนั้นดีเกินคาด แม้จะไม่เคยเรียนรู้เครื่องมือระบบหลังบ้านมาก่อน แต่สามารถทำผลงานได้ถึง 58% เกือบถึงเป้าหมาย 60% ที่ตั้งไว้ โดยอาศัยเพียงการติดตามเทรนด์กระแส คำศัพท์ ประโยคต่างๆ ที่กำลังได้รับความนิยม (Hashtag) รูปแบบการนำเสนอ หรือ ปฏิทินเทศกาลที่จะเกิดขึ้น (Calendar) ซึ่งจะช่วยให้การสื่อสารกับลูกค้าในแง่มุมของแบรนด์และการซื้อสินค้าเกิดขึ้น ที่ไม่ใช่เพียงทำแล้วคลิปได้รับความสนใจแต่ไม่เกิดการซื้อสินค้า
“นักศึกษามีไอเดียสร้างสรรค์ที่ดีมากอยู่แล้ว เหลือเพียงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องเติมคุณค่า ให้กับนักศึกษา โดยตัวอย่างเทคนิคง่ายๆ สร้างความสนใจกลุ่มลูกค้า เช่น การกำหนดพื้นที่เฟรมภาพนิ่งและวิดีโอ โดยการเปิดเส้นไกด์ไลน์ 9 ช่องในกล้องโทรศัพท์สมาร์ตโฟน ช่องที่ 1-3 ด้านบน ให้ใส่ Text ให้พอดีเพื่อให้โดดเด่นและเตะตา ส่วนพื้นที่ตรงกลาง 4-6 ต้องถ่ายให้เห็นผู้สื่อสารอย่างชัดเจน ระวังขอบมุมปุ่มถูกใจ ช่องข้อความ ขณะที่ในส่วนท้ายหมายเลข 6-9 ควรเหลือพื้นที่ไว้เพื่อใส่ Caption ด้วย”
วิทยากรของ บูติคนิวซิตี้ จำกัด อธิบายอีกว่า กิจกรรมเวิร์กชอปกำหนดให้ทำร่วมกัน 2 ครั้ง เพื่อให้เห็นจุดที่มองข้ามสำหรับนักศึกษาที่ไม่ใช่คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการมีข้อมูลหลังบ้านมาประกอบ กับการคาดเดา โดยนักศึกษาสามารถเข้าใจการสื่อสารกับลูกค้าในแง่มุมของแบรนด์และการซื้อสินค้าเกิดขึ้น ที่ไม่ใช่เพียงทำแล้วคลิปได้รับความสนใจแต่ไม่เกิดการซื้อสินค้า
“การตลาดออนไลน์ทำงานภายใต้ความรู้สึก ไม่มีกฎตายตัว การสร้างคอนเทนต์ต้องอาศัยวิธีที่หลากหลายรูปแบบ บางทีการใส่ข้อความก็ไม่เหมาะสมเท่ากับการใส่เสียงพากย์ในคลิป ที่เรามาเพื่อสอนให้รู้ถึงวิธีการอ่านข้อมูลพื้นฐานของลูกค้าในระบบหลังบ้าน สมมุติว่ากลุ่มลูกค้าอายุ 25-45 ปี จะเล่าด้วยกลวิธีใดเพื่อมัดใจ ระบบหลังบ้านทำให้เราไม่ต้องคาดเดา โดยนอกจากนี้ทั้งหมดมันจะเป็นโอกาสให้กับการทำงานในอนาคต หรือสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียนได้ตอนนี้เลย”
“เพราะตอนนี้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ด้านแฟชั่นเป็นความต้องการของตลาด และหลายๆ บริษัทในอุตสาหกรรม จากเดิมที่เรียนแฟชั่นมาแล้วคิดว่าจะเป็นดีไซเนอร์ เป็นสไตลิสต์เท่านั้น การฝึกมาร์เก็ตติ้งไปด้วยก็จะช่วยพัฒนาให้มีภาษีมากกว่าน้องๆ คนอื่นในสายงานเดียวกันหรือ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่อาจจะเรียนนิเทศ ที่อาจจะรู้มุมกล้องที่สวยงามหรือมีการสื่อสารที่ดี แต่อาจจะขาดความเข้าใจในเรื่องของแฟชั่นซึ่งมีความละเอียดอ่อน”
ไม่ต่างไปจากนักศึกษากลุ่ม Powerpuff girl ทั้ง 3 คน นางสาวณัฐสุดา ทวีสินธุ์ นางสาวธมนวรรณ โสภาพล นางสาวอัญญาดา วีลาวัลย์ บอกว่า กิจกรรมช่วยเพิ่มความน่าสนใจของคอนเทนต์มากขึ้น และอุดช่องว่างที่คนดูจะปัดข้ามไปให้วกกลับมาดูคอนเทนต์ เช่น การพาดหัว เป็นชื่อของชุดหรือคอลเลกชั่นทำให้ดูไม่น่าสนใจ ฯลฯ นอกจากนี้ยังช่วยเจาะจงกลุ่มลูกค้า และเสริมทักษะการนำเสนอ การพูด ความกล้าแสดงออก ที่สามารถนำมาปรับให้เข้ากับบุคลิกและปฏิบัติได้เลยทันที
“เราขายเสื้อผ้าออนไลน์อยู่แล้ว พวกหนูก็อาจจะไม่ค่อยอายุเท่าไหร่ แต่เพื่อนบางคนไม่เคยก็จะได้ฝึกในส่วนนี้ไปด้วยมันก็ช่วยให้ไม่เกร็ง ทีนี้พอเราได้ทริคเทคนิคต่างๆ ถ้าเราไม่เขินแล้ว เราจะสามารถพูด แนะนำ เพื่อดึงดูดลูกค้าได้ง่ายขึ้น เพราะรู้วิธีการใช้มุมกล้องให้สมูทถูกใจคนดูให้หยุดมอง รู้วิธีการเจาะจงลูกค้า สมมุติเราจะขายให้คนนี้ เราเข้าไปดูโปรไฟล์ก่อนก็จะรู้ว่าเขาแต่งตัวอย่างไร ถ้าเขาชอบเสื้อผ้าสไตล์สินค้าเรา ก็เน้นแนะนำเสื้อผ้าที่เป็นเป้าหมายขายให้กับลูกค้าได้ดีกว่าเดิมที่ติดแค่แฮชแท็กที่คนจะใช้กันเยอะ เรายังรู้จำนวนของกลุ่มลูกค้า เท่ากับช่วยเราให้สามารถที่เจาะเข้าไปขายและขยายๆ ต่อไปได้เรื่อยๆ และสร้างฐานลูกค้าของเราให้ได้มากยิ่งขึ้น”
ทั้งนี้ ความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กับ บูติคนิวซิตี้ จำกัด ครั้งนี้นับเป็นรุ่นที่ 1 และอาจจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ เนื่องจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นสร้างทักษะและต่างเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทางด้านศิลปะ จึงได้เกิดการพูดคุยทิศทางในอนาคตสำหรับการ MOU เพื่อให้ความร่วมมือนี้ผลักดันเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสลองผิด-ถูก และเป็นบุคลากรที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่กำลังขาดแคลนนักออกแบบผู้สรรค์สร้างได้ตรงทุกความต้องการ
สำหรับผลงานของนักศึกษาทั้ง 8 กลุ่ม สามารถรับชมได้ที่ลิงค์ทางแอปพลิเคชัน Tiktok https://www.tiktok.com/@amaze_fc/
#จักรพันธ์สุระประเสริฐ #หลักสูตรการออกแบบและแฟชั่นธุรกิจ #คณะศิลปกรรมศาสตร์ #มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ #DPU #บูติคนิวซิตี้จำกัด #แอปพลิเคชันTiktok #Tiktok