“ประดิษฐ์ นันท์ตา“ ต้นแบบวนเกษตร เขตปฎิรูปที่ดิน ส.ป.ก. จังหวัดลำปาง พลิกฟื้นป่าเสื่อมโทรม “ปลูกมะขามเปรี้ยวยักษ์ และไผ่ซางหม่น ราชินีไผ่” ต่อยอดองค์ความรู้สืบทอดสู่ทายาท
นายประดิษฐ์ นันท์ตา ประธานเครือข่ายไผ่แปลงใหญ่ บ้านแม่พร้าว ตำบลบ้านหวดอำเภองาว จังหวัดลำปาง ได้ชื่อว่า เป็นต้นแบบวนเกษตร เขตปฎิรูปที่ดิน ส.ป.ก. จังหวัดลำปาง และปราชญ์เกษตรและหมอดินอาสา อีกด้วย เนื่องจากถือเป็นเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจพลิกฟื้นที่ดินเดิมที่มีสภาพแห้งแล้งจนอุดมสมบูรณ์ทั้งดินและน้ำ ซึ่งจากการได้รับจัดสรรที่ดินทำกินในเขตปฎิรูปที่ดิน จังหวัดลำปาง จำนวน 30ไร่ ก็ได้นำความรู้จากการอบรมเกี่ยวกับการเกษตร โดยเฉพาะโครงการตามแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นแรงบันดาลใจ ให้ตนเองยึดมั่นในการวางแผนการทำสวนเกษตรแบบผสมผสานโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
โดยนำองค์ความรู้ ต่างๆ มาเสริมสร้างอาชีพ ทั้งการปลูกไผ่ และชำกิ่งพันธุ์ไผ่ซางหม่น ปลูกไม้ผลคือ มะขามเปรี้ยวยักษ์ และการปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่องนอกจากนี้ ยังปลูกไม้อื่นด้วย โดยปลูกสลับเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบง่ายต่อการดูแลรักษา ในรูปแบบผสมผสาน ทั้งกล้วย สัปปะรด ด้วย รวมทั้งได้เพิ่มพื้นที่ขุดสระสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงแล้งอีกด้วย ทำให้มีรายได้จากการขายผลิตผลหมุนเวียน ทั้งปี
“ทุกวันนี้ ผมมีลูกชายมาช่วยสานต่อยอดอาชีพของครอบครัว เรื่องการชำกิ่งไผ่ขาย ทำให้เป็นที่รู้จักและมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่พื้นที่ทำกินก็อุดมสมบูรณ์ และมีรายได้จากผลผลิตที่ยั่งยืน ขณะเดียวกัน ผมยังได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน และไปช่วยถ่ายทอดความรู้ อย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ การปลูก การขยายพันธุ์ที่สวนไผ่ของผม ก็พร้อมและยินดีในการถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ ครับ” นายประดิษฐ์ กล่าว
ด้าน ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และการปฎิรูปที่ดิน ส.ป.ก.ลำปาง “รัชฎา ปวงคำ” กล่าวว่า ส.ป.ก. ทำงานกับเกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากการจัดสรรพี้นที่ให้เกษตรกรแล้ว เราต้องดูแลบริหารจัดการพื้นที่ให้ด้วย เพราะเป็นพื้นที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ เราต้องเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชหลากหลายในพื้นที่ ในการพัฒนาพื้นที่เราใช้หลักคือยึดตามศาสตร์พระราชา และสนับสนุนโครงการวนเกษตรให้ด้วย ซึ่งโครงการวนเกษตร ในเขตปฎิรูปที่ดินนั้น หนึ่งเราเน้นพัฒนาพื้นที่ส่งเสริมการบริหารจัดการในที่ดิน สองคือต่อยอดเรื่องการขยายพันธุ์พืชให้ต่อยอดตอนกิ่งขายให้เครือข่าย และสาม คือการสร้างผู้นำ เพราะในพื้นที่จังหวัดลำปางมีการจัดสรรที่ดินให้เกษตรกรกว่า 2 แสนไร่ แต่เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. มีจำกัด
ดังนั้น การสร้างผู้แทนหรือผู้นำเกษตรกร จึงเป็นกำลังสำคัญให้เรามากเพื่อจะช่วยเรื่องการต่อยอดพัฒนาต่างๆ ซึ่งเราก็มีเครือข่ายเช่น อาสาสมัครการปฎิรูปเพื่อเกษตรกรรม และต้นแบบวนเกษตร คือนายประดิษฐ์ นันท์ตา เพื่อเป็นตัวอย่างในพื้นที่ ที่ประสบความสำเร็จ และสามารถเชื่อมโยงความรู้ให้เกษตรกรคนอื่นๆ ด้วย