ลับสมอง “คนข่าว” สำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 จันทบุรี จัด workshop ใช้ AI ประยุกต์ใช้ใน “งานข่าว” พร้อมรับมือการแข่งขันยุคดิจิทัล

ลับสมอง “คนข่าว” สำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 จันทบุรี จัด workshop ใช้ AI ประยุกต์ใช้ใน “งานข่าว” พร้อมรับมือการแข่งขันยุคดิจิทัล

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2567 ณ โรงแรมเคพีแกรนด์ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี กรมประชาสัมพันธ์ โดยสำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 จันทบุรี จัดกิจกรรม “สโมสรคนสื่อ” ภายใต้โครงการสำรวจความต้องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายสื่อและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตสื่ออย่างรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ นำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชน เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย สื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ สื่อออนไลน์ สื่อบุคคล จำนวนกว่า 100 คนที่อยู่ในพื้นที่สำนักประชาสัมพันธ์เขต 7 ทั้ง 10 จังหวัด ประกอบด้วย จันทบุรี ระยอง ตราด ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ปราจีนบุรี สมุทรปราการ นครนายก และกรุงเทพมหานคร โดยใช้ระยะเวลาในการจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 2 วันตั้งแต่วันที่ 19-20 มิถุนายน 2567

นายจรัล บรรยงคเสนา ประธานชมรมสื่อออนไลน์ จ.จันทบุรี กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่เป็นการรวมพี่น้องสู่มวลชนในพื้นที่ภาคตะวันออกมาร่วมเพื่อเสริมความรู้ สื่อยุคใหม่ โดยใช้ AI ในการพัฒนาต่อยอดจากสื่อเดิมที่มีการเรียนรู้กันมา โดยการพัฒนาเทคโนโลยีจะต้องมีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนบทบาทเข้าไปสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งการที่จะเรียนรู้เรื่องเก่าๆบางครั้งต้องใช้ข้อมูลเดิมๆ การใช้ AI เข้ามาจะทำให้เกิดฐานข้อมูลใหม่ๆ ที่สามารถนำมาปรับปรุงพัฒนาต่อยอดเพื่อให้พี่น้องประชาชนรับข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและถูกต้องมากยิ่งขึ้น โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถ ซึ่งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้ที่เข้ารับการอบรมได้อย่างครอบคลุมรอบด้านและสามารถสื่อความหมายให้ความเข้าใจให้กับสื่อมวลชนทุกช่วงอายุวัยได้เป็นอย่างดี เพื่อนำข้อมูลไปปรับใช้ให้สื่อของแต่ละคนมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

ด้านนายวสันต์ เวียนรุ่งเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมฯ กล่าวว่า ณ วันนี้ AI นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาการทำงานโดยเฉพาะในวงการสื่อ ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญ ซึ่งสื่อระดับโลกหลายที่ได้มีการเริ่มนำ AI มาใช้ในการทำงานตั้งแต่การจับประเด็น การวิเคราะห์ข้อมูล การสร้างโครงร่างของบทที่จะนำเสนอ รวมถึง Production เนื่องจากทุกวันนี้เกิดการแข่งขันในด้านการนำเสนอข่าว เมื่อมี Social Media ทุกอย่างต้องรวดเร็ว และด้วยข้อมูลที่มีความหลากหลาย AI จะเข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลและเกิดความถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น

“คนข่าวยังมีความจำเป็น แต่ AI จะเข้ามาช่วยในการสรุปข้อมูลที่มีความหลากหลายให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่ท้ายที่สุดแล้วผู้ที่จะเข้ามาตรวจสอบในเรื่องของความถูกต้องของลิขสิทธิ์ และความทันสมัยต่อเหตุการณ์ ยังคงต้องเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ” นายวสันต์ กล่าว

สำหรับกิจกรรมทั้ง 2 วัน ประกอบด้วยการบรรยายในหัวข้อ “การผลิตสื่อออนไลน์เพื่อการประชาสัมพันธ์” และ “เทคนิคและวิธีการผลิตสื่อออนไลน์เพื่อการประชาสัมพันธ์ Soft Power” พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการประกวดคลิปวิดีโอขนาดสั้นประชาสัมพันธ์ Soft Power ทั้งนี้ กิจกรรม “สโมสรคนสื่อ” ได้จัดขึ้นโดยสำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 ถึงเขต 8 ซึ่งกรุงเทพมหานคร ถูกจัดให้เข้าร่วมกิจกรรมในเขต 7 โดยรูปแบบการจัดในแต่ละเขตจะมีความคล้ายกัน คือ ให้ความรู้ workshop ผลิตคลิปข่าวสั้นความยาวไม่เกิน 3 นาที เรื่องการประชาสัมพันธ์ Soft Power และส่งผลงานเข้าประกวดเพื่อชิงรางวัลจากกรมประชาสัมพันธ์  

โดยคลิปวีดีโอที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ จาก 10 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด เป็นผลงานจากสำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพฯ (ส่วนกลาง) ผลิตโดย “สำนักข่าว Mission Thailand News” เป็นการนำเสนอการประชาสัมพันธ์ Soft Power ด้านอาหารไทย เพื่อสร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ด้วยอุตสาหกรรมและวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

PTG ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 58 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการจัดลำดับ Fortune 500 สะท้อนถึงการบริหารอย่างดีเยี่ยม-มีความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ เพื่อตอบโจทย์วิสัยทัศน์อยู่ดี มีสุข

PTG ใหญ่ที่สุดอันดับที่ 58 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต […]

You May Like

Subscribe US Now