“เศรษฐา” ไม่รอด ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 : 4 สั่งพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หลุดยกคณะ! ฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ตั้ง “พิชิต” เป็น”รัฐมนตรี”
วันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่ 40 สว.เข้าชื่อร้องต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน (ผู้ถูกร้องที่ 1) และนายพิชิต ชื่นบาน (ผู้ถูกร้องที่ 2) สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องและคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นว่าคดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และจากการไต่สวน นายเศรษฐาและนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กระบวนการเสนอชื่อเพื่อนำความกราบบังคมทูล เพื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีจะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบได้จัดทำแบบแสดงประวัติ เพื่อประกอบพระบรมราชิวินิจฉัย
ผู้ถูกร้องที่ 1 ย่อมทราบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกร้องที่ 2 จากแบบประวัติของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้ชี้แจงว่าผู้ถูกร้องที่สองเคยได้รับโทษจำคุก ฐานละเมิดอำนาจศาล และเคยถูกลบชื่อออกจากสภาทนายความในปี 2552 เป็นการทำให้เสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรี และเกียรติภูมิของทนายความ
ศาลรัฐธรรมนูญพิจาณาแล้วเห็นว่า การแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี เป็นกรณีต้องห้าม โดยมิได้ใช้วิจารณญาณและไม่คำนึงถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยการเสนอคนใดเป็นรัฐมนตรีนั้น ไม่ได้อาศัยเพียงแต่ความไว้วางใจส่วนตน แต่จะต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคณะรัฐมนตรีต้องสร้างความเชื่อถือต่อสาธารณชนด้วย
ดังนั้นการเสนอผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ฝ่าฝืนจริยธรรม ยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ถูกร้องที่ 1 เพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยมิชอบ การกระทำที่เอาประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประเทศชาติ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมคบสมาคมกับผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อาจกระทบกับความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จึงขัดต่อมาตรฐานจริยธรรมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 : 4 วินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐมนูญมาตรา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 160 (4) (5)เมื่อความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงคณะรัฐมนตรีจะต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ
#missionthailand