“รมช.อัครา” ติดตามความก้าวหน้า แผนการการดำเนินงานปี 2568 และแนวทางจัดทำงบประมาณปี 2569 ของกรมพัฒนาที่ดิน
นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมติดตามแผนการการดำเนินงานประจำปี พ.ศ. 2568 และแผนงบประมาณปี พ.ศ. 2569 ของกรมพัฒนาที่ดิน โดยมี นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะผู้บริหารกรมพัฒนาที่ดิน ผู้อำนวยการ กองสำนักกรมพัฒนาที่ดิน เข้าร่วม ณ ห้องประชุม 1214 กรมพัฒนาที่ดิน
โอกาสนี้ รมช.อัครา ได้เน้นย้ำแนวทางการทำงานให้กับผู้บริหารกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อกำหนดทิศทางการจัดทำโครงการต่างๆ ให้มีความชัดเจน ว่าขอให้บูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งสร้างภาคีเครือข่าย เพื่อการมีส่วนร่วมในการยกระดับการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่
อีกทั้งเชื่อมโยงงานด้านชลประทาน ตามแนวคิดที่ได้มอบไว้ คือ “ดินนำ น้ำตาม” ตลอดจนเพิ่มแหล่งน้ำนอกชลประทาน เตรียมความพร้อมป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน นอกจากนี้ ได้ผลักดันโครงการ “หมู่บ้านอนุรักษ์ดินและน้ำ” เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรดิน ในเชิงพื้นที่ลุ่มน้ำ พัฒนาจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อใช้ประโยชน์ที่ดินได้ตามศักยภาพอีกด้วย
สำหรับแผนงานประจำปี พ.ศ. 2568 และแผนงบประมาณปี พ.ศ. 2569 ของกรมพัฒนาที่ดิน มีจุดมุ่งเน้น 6 ประเด็น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการยกระดับภาคเกษตรให้เป็นเกษตรทันสมัย ตามแนวทาง
“ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ประกอบด้วย
1. การพัฒนาสู่เกษตรทันสมัยด้วยเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri Tech) อาทิ พัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลทรัพยากรที่ดิน ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร (วิเคราะห์ดิน) ปรับเปลี่ยนการผลิตพืชด้วย Agri-map บริหารจัดการทรัพยากรดินระดับตำบล การใช้ข้อมูลดาวเทียมพยากรณ์ผลผลิตสินค้า
2. ยกระดับการบริหารจัดการน้ำ อาทิ แหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำสำหรับเกษตรรายแปลง เพิ่มศักยภาพสระเก็บน้ำด้วยระบบส่งกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
3. การฟื้นฟูทรัพยากรดินและรักษาสมดุลของระบบนิเวศ อาทิ ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกร (หมอดิน / ศูนย์ถ่ายทอดฯ) พัฒนาทรัพยากรที่ดินและน้ำ หมู่บ้านอนุรักษ์ดินและน้ำ พัฒนาพื้นที่เพิ่มมูลค่าที่ดินเพื่อการเกษตร (พะเยาโมเดล / ตากใบโบเดล)
4. ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) อาทิ พัฒนาเกษตรกรรมยังยืน (เกษตรอินทรีย์ PGS) สร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก
5. รับมือกับภัยธรรมชาติ อาทิ พัฒนาและปรับปรุงฐานข้อมูลทรัพยากรที่ดิน พัฒนาทรัพยากรที่ดินและน้ำ ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินแบบบูรณาการ และ
6. ระบบราชการดิจิทัล (Digital Government) เชื่อมโยงข้อมูลทุกภาคส่วน แลกเปลี่ยนข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ