“น.ส.ตรีนุช” เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่นครปฐม ตรวจการเบิกจ่ายเงินเยียวยา 2,000.-บาท ย้ำต้องถึงมือผู้ปกครองครบ ห้ามโรงเรียนหักค่าใช้จ่าย
(วันที่ 6 กันยายน 64) ที่ จ.นครปฐม น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เผยว่า ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพื่อตรวจสอบการจ่ายเงินเยียวยานักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครอง จำนวน 2,000 บาท เนื่องจากได้รับรายงานพบว่า ภาพรวมนักเรียน นักศึกษา ในทุกสังกัดได้รับเงินไปแล้ว 40% ตนและผู้บริหารจึงได้มาตรวจเยี่ยมการจ่ายเงิน หลังจากที่รัฐบาลได้อนุมัติจ่ายเงินกว่า 22,000 ล้านบาท เพื่อมาเยียวยานักเรียน ผู้ปกครองท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 นั้น ลงถึงมือผู้ปกครองเรียบร้อยหรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง ศธ.ได้ติดตามข้อมูลตลอดเวลา เพราะต้องการเร่งรัด ต้องมีความโปร่งใส และการจ่ายเงินต้องยืดหยุ่นที่สุด โดยผู้ปกครองสามารถเลือกได้ว่าจะรับเงินสด หรือต้องการรับโอนเงิน ทั้งนี้จากข้อมูลของ จ.นครปฐม พบว่านักเรียน นักศึกษา มีสิทธิได้รับการจัดสรรเงินทั้งสิ้น 145,940 คน รวมเป็นเงิน 291,880,000 บาท
“การจ่ายเงินเยียวยาในสถานการณ์โควิด-19 โรงเรียนต้องมีมาตรการเข้มงวดจัดสรรเวลาให้นักเรียน ผู้ปกครองมารับเงิน เพื่อไม่ให้เกิดการแออัดมากเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาจะพบอุปสรรคในการจ่ายเงินจนล่าช้าบ้าง เช่น ผู้ปกครองได้ทำการย้ายนักเรียนไปเรียนโรงเรียนอื่นในระหว่างที่รัฐบาลอนุมัติโครงการนี้ ทำให้ชื่อนักเรียนอาจจะไม่ได้อัพเดตตามการย้ายโรงเรียนของนักเรียน หากพบปัญหานี้ โรงเรียนจะต้องประสานงานระหว่างกัน เพื่อที่จะให้เงินไปถึงผู้ปกครองโดยเร็ว เป็นต้น ส่วนกระบวนการตรวจสอบว่าเงินส่งถึงผู้ปกครองจริงหรือไม่นั้น ศธ.ต้องดำเนินการตามระเบียบที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งศธ.ต้องทำให้เรียบร้อย และโปร่งใสที่สุด โดยมีกระบวนการตรวจสอบตัวตน เอกสารในการรับเงิน ซึ่งศธ.ตั้งเป้าว่าเงินจะถึงมือผู้ปกครองภายในวันที่ 7 กันยายนนี้ ขณะเดียวกันหากมีการตกหล่น มีนักเรียนไม่ได้รับเงินเยียวยาโรงเรียนต้องติดตามผู้ปกครองให้มารับเงินด้วย” น.ส.ตรีนุชฯ กล่าว
น.ส.ตรีนุชฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามได้เน้นย้ำกับนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหารทุกหน่วยงานว่า เงินจำนวนนี้เป็นเงินที่รัฐบาล และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตั้งใจให้เงินจำนวนนี้ส่งถึงผู้ปกครองและนักเรียนทุกสังกัด 11 ล้านคน เพื่อที่จะลดความเดือนร้อนและเยียวยาในสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้น สถานศึกษาเอกชนไม่สามารถหักเงินนักเรียน แม้ผู้ปกครองจะค้างจ่ายค่าเทอมก็ตาม เพราะรัฐบาลต้องการส่งเงินจำนวนนี้ไปให้ผู้ปกครองทุกคน หากการโอนเงินพบปัญหาต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนต่างธนาคาร ผู้ปกครองสามารถติดต่อโรงเรียนเพื่อขอรับเงินสดได้
ปัจจุบัน สพฐ. มีจำนวนโรงเรียน 28,987 แห่ง มีนักเรียน 6,225,658 คน ได้รับเงิน 12,451.316 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ สพฐ.ได้ส่งเงินให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั้ง 245 แห่งเรียบร้องแล้ว จากข้อมูลเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา สทพ.ได้โอเงินให้โรงเรียน 90 เขต และยังไม่รายงานข้อมูล 155 เขต โดยโรงเรียนได้กระจายให้ผู้ปกครองแล้ว 2,313,784 คน เป็นเงินจำนวน 4,627.57 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 37
สำหรับการจ่ายเงินให้กับผู้ปกครองหรือนักเรียน ในอัตรา 2,000 บาท ต่อนักเรียน 1 คน ให้จ่ายตามจำนวนนักเรียนที่มีตัวตนอยู่จริง ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 และต้องเรียนอยู่ในโรงเรียน ณ วันที่จ่ายเงิน โดยการเบิกจ่ายสามารถดำเนินการได้ 2 วิธี คือ โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารผู้ปกครองหรือนักเรียน หรือจ่ายเป็นเงินสดให้กับผู้ปกครองหรือนักเรียน โดยโรงเรียนจ่ายเงินให้เต็มจำนวนไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้ ในส่วนที่มีผู้กล่าวว่ามีการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมโอนเงิน 50 บาทด้วยนั้น ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจาก สพฐ. ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ตามหนังสือที่ ศธ 04006/ว2730 ให้สถานศึกษาในสังกัดจ่ายเงินให้กับผู้ปกครองหรือนักเรียนเต็มจำนวน ไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
“ส่วนกรณีที่มีรายชื่อนักเรียนตกหล่น ทำให้ไม่ได้รับเงินเยียวยา ทั้งในกรณีนักเรียนย้ายเข้ามาจากสังกัดอื่น เช่น สช. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) เป็นต้น รวมทั้งนักเรียนที่มีตัวตนอยู่ในโรงเรียน ณ วันที่จ่ายเงิน แต่ไม่มีข้อมูลนักเรียนในระบบ DMC ณ วันที่ 25 มิถุนายน 2564 ให้โรงเรียนรายงานข้อมูลเพื่อขอสนับสนุนเพิ่มเติม ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และ สพฐ. เพื่อพิจารณาข้อมูลประกอบการจัดสรรเพิ่มเติมต่อไป และเพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ได้เน้นย้ำให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต กำกับ ติดตาม ให้สถานศึกษาถือปฏิบัติตามแนวทางการจ่ายเงินเยียวยาอย่างเคร่งครัด”