รมช.เกษตรฯ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาการเกษตรแบบครบวงจรในพื้นที่อำเภอตากใบ “ตากใบโมเดล” เพื่อพัฒนาให้เป็นพื้นที่ตัวอย่างพร้อมเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นต่อไป
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงาน โครงการพัฒนาการเกษตรแบบครบวงจรในพื้นที่อำเภอตากใบ “ตากใบโมเดล” ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นว่า อำเภอตากใบ เป็นพื้นที่ ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาทางด้านการเกษตร มีพื้นที่ชลประทาน และทรัพยากรดินที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก ทางด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน พบว่า มีการปลูกยางพารา ร้อยละ 13.43 ปาล์มน้ำมัน ร้อยละ 11.44 ไม้ผลผสม ร้อยละ 5.56 มะพร้าว ร้อยละ 5.85 และนาข้าว ร้อยละ 17.07
นอกจากนี้ อำเภอตากใบ ยังเป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิกระดังงา ที่ตำบลเกาะสะท้อน ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของอำเภอตากใบ อีกทั้งยังมีสินค้าทางการประมงที่ขึ้นชื่อ คือ ปลากุเลาเค็ม มีการผลิตด้านปศุสัตว์ที่มีคุณภาพ และยังเป็นอำเภอที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศมาเลเซีย สามารถรวบรวมขายส่งสินค้าทางการเกษตรในพื้นที่ในอำเภอตากใบและรอบนอก เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างดี
“เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่อำเภอตากใบอย่างครบวงจร ตั้งแต่ระดับครัวเรือนไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นระบบ โดยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการเกษตร เช่น ทรัพยากรดิน/น้ำ พัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพสินค้า ส่งเสริมการผลิตสินค้าทางการเกษตร เพื่อมุ่งหวังให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพัฒนาอำเภอตากใบให้เป็นพื้นที่ตัวอย่าง ในการพัฒนาพื้นที่ขยายผลโครงการพระราชดำริ อย่างเป็นรูปธรรมและสามารถเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
สำหรับ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีเนื้อที่ 174,797 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 89,627 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 72 ของพื้นที่ แยกเป็นด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และด้านการประมง มีแม่น้ำสำคัญ คือ แม่น้ำนรา ซึ่งอำเภอตากใบนั้น มีการพัฒนาด้านการเกษตรจนถึงด้านการตลาดแบบครบวงจร และที่สำคัญยังเป็นที่ตั้งของโครงการพระราชดำริที่สำคัญ เช่น พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แก่ โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์ – เกษตรมูโนะ โครงการพัฒนาพื้นที่บ้านโคกอิฐ – โคกใน ยูโย โคกงู โคกกระท่อม และพื้นที่ขยายผลอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบของโครงการพระราชดำริ สามารถนำผลสำเร็จของโครงการมาเป็นแบบอย่าง และขยายผลในการพัฒนาพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ