“สัณหพจน์” ยก “ศาลาดินโมเดล” แก้ปัญหาผักตบชวา สร้างรายได้คนลุ่มน้ำปากพนัง

 

สัณหพจน์” ยก “ศาลาดินโมเดล” แก้ปัญหาผักตบชวา สร้างรายได้คนลุ่มน้ำปากพนัง

 

ส.ส.พปชร.เขต 2 นครศรีฯ จี้หน่วยงานรัฐ เร่งแก้ปัญหา “ผักตบชวา” ลุ่มแม่น้ำปากพนัง แนะใช้ “ศาลาดินโมเดล” สร้างมูลค่าผักตบชวา เป็นทางออก ช่วยลดความเดือดร้อน พร้อมสร้างรายได้ยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่

 

 

ดร.สัณหพจน์ สุขศรีเมือง ส.ส.เขต 2จ.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า จากการที่ตนได้หารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กรณีปัญหาผักตบชวาในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เชียรใหญ่ อ.หัวไทร และอ.ปากพนัง เมื่อวันที่ 10 พ.ย.64

 

ล่าสุด ตนได้รับการร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนอีกครั้ง เนื่องจากผักตบชวาที่เป็นปัญหาดังกล่าว ได้ลุกลามกลายเป็นปัญหาต่อเนื่องกระทบกับพี่น้องประชาชนในบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ทั้งในเรื่องการทำมาหากินและผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่ง

 

 

ทั้งนี้จากการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มอบนโยบายและกำชับ 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมโยธาธิการและผังเมือง,กรมชลประทาน,กรมเจ้าท่า,คณะทำงานฯระดับจังหวัด เร่งรัดกำจัด และแปรรูปเพิ่มมูลค่าของผักตบชวา ในพื้นที่ที่เกิดปัญหา ซึ่งพบว่า ได้ดำเนินการจัดเก็บผักตบชวารวมทั้งสิ้น 4,513,836 ล้านตันแล้วนั้น

 

 

ดังนั้นตนจึงอยากฝากไปยัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.นครศรีธรรมราช ได้เร่งดำเนินการจัดเก็บผักตบชวาในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง 3 อำเภอ ก่อนที่ปัญหาดังกล่าวจะลุกลามกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำลำคลอง รวมทั้งชายฝั่ง ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชนมากกว่าที่เป็นอยู่

 

นอกจากนี้ ตนขอเสนอให้ มีการนำ “ศาลาดินโมเดล” มาใช้ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยการนำผักตบชวา ไปแปรรูปและใช้ประโยชน์สร้างรายได้และอาชีพให้กับประชาชน ซึ่งมีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้วในพื้นที่ ต.ศาลาดิน อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

 

“ศาลาดินโมเดล จ.นครปฐม โดยกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานมหาสวัสดิ์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการแก้ไขปัญหาผักตบชวาในแหล่งน้ำลำคลอง โดยทางกลุ่มได้นำผักตบชวามาแปรรูปเป็น “ดินพร้อมปลูกผสมผักตบชวา” เพื่อส่งขายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน ที่ผ่านมากลุ่มฯ ได้รับซื้อผักตบชวาสับตากแห้งจากชาวบ้านในราคากก.ละ 20 บาท ซึ่งชาวบ้านที่ทำผักตบมาขายให้กับกลุ่มฯ จะมีรายได้ตั้งแต่ 2,000 – 6,000 บ./เดือน ปัจจุบันทราบว่า กลุ่มฯ มียอดขายดินพร้อมปลูกกว่า 5,000 ถุง/เดือน และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด” ดร.สัณหพจน์ กล่าว

 

 

สำหรับตัวอย่างดังกล่าว สามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาผักตบชวาในลุ่มน้ำปากพนังได้ โดยนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียในพื้นที่ ซึ่งกระทบต่อการทำประมงพื้นบ้าน และผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำลำคลองและชายฝั่งแล้ว ยังช่วยให้พี่น้องประชาชนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำมีรายได้ที่ยั่งยืน และเป็นการสร้างแรงจูงใจให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมต่อการอนุรักษ์แหล่งน้ำได้อีกด้วย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

'ส.ส.เกษม ศุภรานนท์'​ ลุยพบปะ มอบถุงยังชีพผู้ป่วยติดเตียง และผู้กักตัวจากโควิด 19 ย้ำพร้อมเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวโคราช

  ‘ส.ส.เกษม ศุภรานนท์’​ ลุยพบปะ ม […]

You May Like

Subscribe US Now