เด็กศิลปกรรมฯ DPU คว้าที่ 1 งาน CHRISTMAS TREE DESIGN CONTEST “Andaman Pearl” เสียงคลื่นสะท้อนทุกคนสามารถร่วมมือกัน “ฟื้นฟูโลกได้”

DPU สู่ “Andaman Pearl” เสียงคลื่นสะท้อนทุกคนสามารถร่วมมือกัน “ฟื้นฟูโลกได้” ผลงานสุดครีเอท เด็กศิลปกรรมฯ DPU คว้าที่ 1 งาน CHRISTMAS TREE DESIGN CONTEST 

3 นักศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) คว้ารางวัลชนะเลิศ การประกวดออกแบบและตกแต่งต้นคริสต์มาส จากวัสดุรีไซเคิล ในงาน CHRISTMAS TREE DESIGN CONTEST ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา

ท่ามกลางทีมผู้เข้าแข่งขันร่วมชิงชัยกว่า 25 ทีม ที่กำหนดโจทย์ให้แต่ละทีมต้องตกแต่งต้นคริสต์มาส ที่มีความสูง 1.5 เมตร จากวัสดุเหลือใช้ออกมาให้สวยงามให้แล้วเสร็จภายใน 3 ชั่วโมง 30 นาที พร้อมกับพรีเซนต์นำเสนอแนวความคิดและที่มาของไอเดีย โดยผลงานจากทีม “คริสต้องได้เป็นแอร์” ของ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้แก่ 1.นางสาวศิรินันทา ธรรมปุรา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิชาเอกการออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน 2.นางสาวสุนันทา อิสุวรี นักศึกษาชั้นปีที่2 วิชาเอกการออกแบบกราฟิก 3.นายธีรนัย นนทราช บัณฑิตจากวิชาเอกการออกแบบกราฟิก สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขัน CHRISTMAS TREE DESIGN CONTEST พร้อมกับรับถ้วยรางวัลและเงินรางวัลสนับสนุนการศึกษา จำนวน 15,000 บาท 

ผลงานการตกแต่งต้นคริสต์มาสนี้ ได้นำวัสดุเหลือใช้จากกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ที่มีการรณรงค์ให้คัดแยก อาทิ เศษขวดพลาสติก กระดาษลัง ฝาโดม กล่องขนมปัง ฯลฯ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานชุด “Andaman Perl” หรือ ไข่มุกแห่งอันดามัน ซึ่ง นำหลักของ SDGs ข้อที่ 14 ที่ว่าด้วยเรื่อง การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร เป็นแกนหลักเล่าเรื่องราวและฉายภาพชีวิตของบรรดาสัตว์ทะเล โดยให้ ‘เต่าทะเล’ และ ‘แมงกะพรุน’ เป็นตัวแทนของภาพที่สะท้อนความสวยงามในทะเลอาจไม่ใช่สิ่งที่ตาเห็นอย่างแท้จริง เสมือนกับเต่าที่กำลังหิวโหย และสับสนระหว่างแมงกะพรุนกับ ‘ถุงพลาสติก’ ที่ลอยอยู่ในทะเล

“วัสดุที่เอามาทำเราใช้ พวกหนูก็ไปรื้อจากห้องเก็บของทั้งหมด เพราะทางคณะศิลปกรรมฯ เองก็มีกิจกรรมเยอะในแต่ละเดือน ซึ่งพอมีกิจกรรมก็จะมีการเลี้ยงข้าวและน้ำกับนักศึกษาเป็นประจำ เราก็จะมีขวดน้ำ กล่องข้าว กล่องขนมปัง ผ้าสีและสีสเปรย์ ที่สะสมช่วยกันเก็บ ก่อนจะนำมาคัดแยกเพื่อทิ้งในตู้คัดแยกขยะที่ทางมหาวิทยาลัยได้ติดตั้งไว้ให้นักศึกษาใส่ใจและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม”  

“ทีนี้พอได้คอนเซ็ปต์และวัสดุ พวกหนูก็นำเศษกระดาษลังนำมาเป็นโครงสร้างของกระดองเต่า จากนั้นในส่วนของบอดี้ของเต่า เราหยิบเอาแฟ้มปกใสที่ไม่ได้ใช้แล้วมาทำ เพื่อให้เห็นว่าน้องเต่าได้กินขยะเข้าไปและติดค้างอยู่ภายในร่างกาย ทางด้านแมงกะพรุนใช้เศษถุงพลาสติกสื่อแทนความสบสนของน้องเต่าที่กำลังหิวและกินมันเข้าไป ส่วนพวกลูกบอลต่างๆ แทนขยะหลากหลายชนิดโดยทำจากก้นขวดพลาสติกและฝาโดมกล่องเบเกอรี่ประกบกัน” 

นางสาวศิรินันทา ต้นหนของทีมกล่าวเสริมอีกว่า เนื่องด้วยการเฉลิมฉลองนี้ พอพ้นวันก็จบลง แต่สิ่งที่หลงเหลือจากการเฉลิมฉลองนี้ ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะย่อยสลายและหายไป ซึ่งหลังจากให้ของขวัญกับเพื่อนมนุษย์แล้วทางทีมไม่อยากที่จะลืมให้ของขวัญกับเพื่อนสิ่งมีชีวิตร่วมโลก เพื่อให้ทุกๆ คนได้ตระหนักและส่งเสริมการกำจัดขยะให้ถูกวิธี สำหรับการช่วยเหลือเหล่าน้องๆ สัตว์ทะเลให้ได้มีชีวิตอยู่คู่กับมนุษย์เรา และให้มหาสมุทรสมดุลพร้อมกับสวยงามไปอีกนาน

“ปัญหาขยะทางทะเลเป็นหนึ่งในปัญหาที่เห็นกันอยู่ตลอดเวลา โดยทุกๆ ปีมีการรณรงค์ในเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่หมดหรือลดลงเท่าที่ควร เราและทีมจึงอยากที่จะเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงเพื่อที่จะช่วยพูดแทนคนที่อยู่ติดทะเล แม้เราจะเรียนอยู่กรุงเทพฯ แต่ปัญหาขยะทะเลมันมาจากขยะในแม่น้ำลำคลองด้วย และมันไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะคนในพื้นที่ได้รับ ผลกระทบ แต่เป็นปัญหาลูกโซ่ที่โยงถึงกันหมด คือถ้าขยะล้นทะเลเมื่อไหร่ ใครก็ตามที่ไปท่องเที่ยวทะเลก็จะถ่ายรูปออกมาไม่สวย ขณะที่ทางนักท่องเที่ยวเอง พอไปแล้วมันไม่สวยจริง มีแต่ขยะ เขาก็อาจหนีไปเที่ยวที่อื่นๆ แทน มันก็เชื่อมมาถึงด้านเศรษฐกิจ ด้านรายได้ที่ลดลงของประเทศ”

ตัวแทนนักศึกษา ระบุเพิ่มอีกว่า ตนและทีมรู้สึกภูมิใจสำหรับผลงานที่สร้างขึ้นได้ตอบโจทย์ที่ช่วยเหลือสังคม นอกเหนือจากที่จะเป็นที่ถูกใจของคณะกรรมการจนสามารถคว้ารางวัลที่1 เพราะโดยส่วนตัวนั้นสนใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมและปัญหาเกี่ยวกับสังคม เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมลพิษทางอากาศ ที่มาจากการเผาขยะและเศษวัชพืชในต่างจังหวัด ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยเองก็ได้มีการปลูกฝังในเรื่องของสิ่งแวดล้อม SDGs ซึ่งบรรจุในหลักสูตรที่ต้องเรียนทุกคนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 ซึ่งทำให้เธอและเพื่อนนักศึกษาเข้าใจในวิธีการแก้ไขปัญหา รวมถึงการนำมาต่อยอดเป็นไอเดียสร้างผลงานศิลปะได้อีกด้วย

“อันดับแรกต้องขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพราะที่นี้เรื่องของ SDGs บรรจุเป็นหลักสูตร DPU Core เลย ซึ่งนักศึกษาทุกคนจะต้องเรียน ก็ช่วยให้หนูได้รู้วิธีการแก้ไขและการสื่อสารสร้างความเข้าใจ ตอนนี้การเผามลพิษต่างๆ ที่บ้านต่างจังหวัด รอบพื้นที่บ้านหนูก็ลดลงไปหลังเราไปแนะนำบ้าง และเขาก็บอกต่อกันปากต่อปาก ซึ่งผลงานชิ้นนี้ก็มุ่งหวังให้มีอิทธิพลช่วยให้ผู้คนหันมาสนใจในสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น” 

“อันดับที่สองพวกเราก็ต้องขอบคุณ “อาจารย์กมลศิริ วงศ์หมึก” คณบดี ตลอดจนอาจารย์ทุกท่านในคณะศิลปกรรมฯ ที่คอยแชร์ข่าวกิจกรรมให้เป็นประจำ และก็เน้นย้ำเสมอในการคิดและสร้างสรรค์งานทุกครั้งต้องคำนึงถึงภาคสังคม สิ่งแวดล้อม บุคคลที่ 3-4-5 ในการผลิตผลงาน 1 ชิ้น เพราะนอกจากไม่เพียงจะทำให้พวกเราทำงานเป็น คิดงานเป็นหรือนำเสนองานได้ ยังช่วยเพิ่มคุณค่าและความรู้สึกดีให้กับเราและคนรอบข้างอีกด้วย สุดท้ายนี้พวกเราก็ดีใจกันมากที่ผลงานเราเป็นที่ชื่นชอบของคณะกรรมการทุกคนและก็ยังได้ช่วยรณรงค์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม”  

 

#DPU #คณะศิลปกรรมศาสตร์ #มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ #CHRISTMASTREEDESIGNCONTEST #MissionThailand

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Next Post

"DPU-CIM" แนะ 5 สเตปบำรุง "ผิวหน้าสวยใส" ไม่เปลี่ยนแปลง แม้อากาศจะเปลี่ยนไป  

“DPU-CIM” แนะ 5 สเตปบำรุง “ผิวหน […]

You May Like

Subscribe US Now