“เลขาฯกฤษฎีกา” จี้ “รัฐบาล” ถ้าทำตามคำแนะนำ “ไม่ผิดกฎหมาย” แน่นอน ปัดตอบในเรื่อง “เศรษฐกิจ”เพราะเป็นนักกฎหมาย
วันที่ 9 ม.ค. 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณี ครม. ส่งความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ 500,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ท ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งความเห็นไปให้ ครม.แล้ว แต่จะต้องเข้าคณะกรรมการดิจิทัลชุดใหญ่ก่อน และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด แต่ยังไม่มีคำว่า “ไฟเขียว” เนื่องจาก กฤษฎีกาตอบได้เพียงข้อกฎหมาย ซึ่งต้องดูว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 53 มีอะไรบ้าง โดยเงื่อนไขจะต้องเป็นเรื่องที่แก้ไขอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ย้ำว่า ตนตอบได้เพียงแค่นี้ เพราะเป็นนักกฎหมาย แต่มาตรา 53 สามารถออกเป็นกฏหมายได้ ส่วนจะเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดก็แล้วแต่ เพราะเป็นกฎหมายทั้งคู่
สำหรับข้อเสนอแนะที่ให้ไปมีอะไรบ้างนั้น นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีอะไร เป็นเพียงการอธิบายมาตรา 53 มีข้อมูลเชิงประจักษ์ และต้องคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนเป็นนักกฎหมายไม่สามารถชี้นำได้ ต้องใช้ข้อมูลตัวเลขที่เป็นตามหลักวิทยาศาสตร์
ส่วนความเห็นของกฤษฎีกา สามารถรับประกันได้หรือไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรที่ไม่ผิดกฎหมาย นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่สามารถใช้อ้างอิงได้ เพราะเรายึดตามมาตรา 53 มาตรา 6 7 และ 9 รวมทั้ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ยืนยันว่า ถ้าทำตามเงื่อนไขก็ไม่มีปัญหา “ปลอดภัยแน่นอน” ส่วนการที่รัฐบาลอ้างว่า GDP โตไม่ทันนั้น ตนเป็นนักกฎหมาย ไม่สามารถให้ความเห็นเรื่องเศรษฐกิจได้
ส่วนในสภาวะวิกฤตแต่รัฐบาลตราเป็นพระราชบัญญัติจะย้อนแย้งหรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า ไม่เป็นไร เพราะกฎหมายวินัยการเงินการคลังบอกให้กู้ได้ ซึ่งกฎหมายก็จะมีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด ก็ทำได้ ไม่ใช่เรื่องยากอะไร ส่วนแบบไหนปลอดภัยมากกว่ากันนั้น ก็ปลอดภัยทั้งคู่หากถูกเงื่อนไข
ส่วนการที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาระบุว่า “กฤษฎีกาไฟเขียว” สามารถใช้คำนี้ได้หรือไม่ นายปกรณ์ กล่าวว่า เข้าใจว่าท่านไม่ได้ใช้คำว่าไฟเขียว เพราะตนไม่ใช่ตำรวจจราจร ยืนยันว่า ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะเวลารัฐบาลทำอะไรก็ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ถูกต้อง เชื่อว่าทุกคนยืนอยู่บนข้อเท็จจริงเหมือนกัน
ย้ำว่า “รัฐบาลถามมาเพียงคำถามเดียว คือ จะสามารถออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ได้หรือไม่ แต่ไม่มีถามเพิ่มเติมกรณีมองว่าวิกฤติหรือไม่” นายปกรณ์ กล่าว